‘ภาวะผู้นำ’ ตัวใหม่ Climate Leadership ของ Al Gore ‘อัศวินโลกร้อน’ ผู้มาก่อนกาล

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore ได้ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวเป็นคนแรกๆ ของโลกเมื่อกว่า 40 ปีก่อน

นั่นคือ ประเด็นเกี่ยวกับ “สภาวะโลกร้อน” จะกลายเป็นกระแสที่ผู้คนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกันเป็นอย่างมาก

ไม่ต้องเอ่ยถึงประเทศไหนให้ไกลตัว เอาแค่ในบ้านเรานี่แหละ ที่ปีนี้ สัมผัสได้ถึง “ความร้อน” ที่เกิดขึ้นมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาเป็นเวลานับ 100 ปีเลยทีเดียว!

แน่นอน ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า “สภาวะโลกร้อน” ดังนั้น ทั้งโลก และไทย มันถึงได้ร้อนตับแตกแบบนี้ และไม่ว่าจะ “สภาวะโลกร้อน” หรือ Global Warming

หรือจะ Climate Change หรือจะ Greenhouse Effect หรือจะ Greenhouse Gas ก็ล้วนเป็นคำที่สื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ “หายนะของโลก”

ทั้งหมดนี้ นำมาสู่ศัพท์ใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Carbon Neutrality หรือ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” หรือ Decarbonization (การลดปริมาณคาร์บอน)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1981 ที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore ได้ออกมารณรงค์เรื่องนี้เป็นคนแรกๆ ของโลก

กับบทบาทนักการเมืองแถวหน้า ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหว และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศในฐานะมือวางอันดับ 1

โดยเพิ่งจะไม่นานมานี้ ที่มีการเกิดขึ้นของศัพท์ใหม่ในแวดวงนักบริหาร นั่นคือ Climate Leadership หรือ “ภาวะผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ”

ซึ่งเป็นชื่อตอนของบทความในสัปดาห์นี้ นั่นคือ “ภาวะผู้นำ” ตัวใหม่ Climate Leadership ของ Al Gore “อัศวินโลกร้อน” ผู้มาก่อนกาลครับ

เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore เป็นแนวหน้าในการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก

ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มี “ภาวะผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ” หรือ Climate Leadership เจ้าของฉายา “อัศวินโลกร้อน” ผู้มาก่อนกาล

ทั้งนี้เนื่องเพราะอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับวิกฤติสภาพอากาศ และเป็นผู้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

ตลอดอาชีพการทำงานของเขา ทั้งในฐานะสมาชิกสภาคองเกรส วุฒิสมาชิก และรองประธานาธิบดี ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Al Gore ได้เป็นผู้ที่จัดให้มีการไต่สวนครั้งแรกเกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน” ที่มนุษย์สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1981 ในวุฒิสภา

ซึ่ง Al Gore ได้จัดให้มีการพิจารณาคดีหลายครั้งเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “โลกร้อน” ในระดับนานาชาติ

เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของเขา สำหรับแผน Global Marshall ที่มุ่งเน้น “การตอบสนองระดับโลกที่เป็นหนึ่งเดียวต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อม”

ในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore ได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอน

ผ่านโครงการริเริ่มให้มีนวัตกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือในการสร้างสรรค์ยานยนต์รุ่นใหม่เพื่อทดแทนเครื่องยนต์สันดาปภายใน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามที่จะปรับปรุงการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และ Al Gore เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการดำเนินโครงการ GLOBE

ที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของเยาวชนในโรงเรียนหลายหมื่นแห่งทั่วโลก นับจากในปี ค.ศ.1998 เป็นต้นมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Al Gore ได้ท้าทาย NASA ให้สร้างดาวเทียมสำรวจโลกจากจุด LaGrangian 1 ที่ช่วยให้มนุษยชาติเข้าใจวิกฤตสภาพอากาศจากมุมมองใหม่

อย่างโครงการ DSCOVR ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก นับจากการเปิดตัวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2015

 

นับตั้งแต่หมดวาระรองประธานาธิบดี Al Gore ยังคงความพยายามอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้น เพื่อกระตุ้นการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพอากาศ

ในเวทีระหว่างประเทศ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore มีบทบาทสำคัญในสนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินการระดับโลกเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เช่นปี ค.ศ.1992 ที่เขาได้นำคณะผู้แทนวุฒิสภาสหรัฐ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลก หรือ Earth Summit

ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการกำหนดกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และในฐานะรองประธานาธิบดีในขณะนั้น เขาเป็นด่านหน้าของ “พิธีสารเกียวโต” 1997 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่ว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Al Gore ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดระหว่างประเทศหลายครั้ง รวมถึงการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบาหลี (COP13) ในปี ค.ศ.2007

การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2014 การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกรุงลิมา (COP20) ในเดือนธันวาคม 2014

การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกรุงปารีส (COP21) ในปี 2015 การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์ (COP26) ในปี 2021

และการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชาร์ม เอล-เชค (COP27) ในปี 2022 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิกฤตสภาพอากาศ

 

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.2007 ที่ Al Gore ได้ร่วมก่อตั้ง Live Earth คอนเสิร์ตใหญ่ ซึ่งรวบรวมนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลก 150 คน เปิดการแสดงใน 7 ทวีป

ซึ่งเข้าถึงผู้คนกว่า 2 พันล้านคนใน 30 ประเทศ และในปีเดียวกัน เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากคณะกรรมการรางวัลโนเบล ประเทศสวีเดน

ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “การแจ้งให้โลกทราบถึงอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ในวันนี้ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore ยังคงทำงานในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวระดับโลก เพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ

ในฐานะประธาน Climate Reality Project ซึ่งเป็นองค์กรที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2005 โดยได้ฝึกอบรมนักเคลื่อนไหวหลายหมื่นคนเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

และในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Climate TRACE อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore กำลังทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์

และนักวิเคราะห์อุตสาหกรรม มุ่งสร้างบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศทั่วโลก โดยรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ไขสภาพอากาศให้ดีขึ้น

อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore ได้ตีพิมพ์หนังสือ 5 เล่มเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และทั้งหมดเป็นหนังสือระดับ Best Sellers ทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่

Earth in the Balance, An Inconvenient Truth, The Assault on Reason, Our Choice : A Plan to Solve the Climate Crisis และ The Future : Six Drivers of Global Change

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดัดแปลงหนังสือ An Inconvenient Truth ของเขาเอง เป็นบทภาพยนตร์สารคดีที่โด่งดังก้องโลก และขึ้นชั้นหนัง Classic ตลอดกาลไปแล้ว

An Inconvenient Truth นำเสนอข้อมูล รูปถ่าย วิดีโอคลิป เหตุการณ์ และผลกระทบทั้งหมด ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่

 

อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ Al Gore เป็นผู้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จริงจังมาก เขาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อนำเสนอเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

บอกข้อมูลที่ชี้ว่า มนุษยชาติกำลังเผชิญหน้ากับอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ และต้องเผชิญกับภัยพิบัติใหญ่ที่กำลังจะตามมาในอีกไม่นานนี้

An Inconvenient Truth จึงเป็นบทเรียนว่าด้วยหายนะของโลก และสิ่งแวดล้อม มันคือความจริงที่จะช็อกทุกคน ด้วยหลักฐาน และข้อมูลจริงทั้งหมด

ถือเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ถึง 2 สาขาในปีเดียวกัน นั่นคือ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

An Inconvenient Truth ทำรายได้รวมทั่วโลกมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครับ