ข้อเสนอเพื่อแรงงานศิลปิน : เงินเดือนศิลปิน การรวมตัว บำนาญ ล้างหนี้

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

ข้อเสนอเพื่อแรงงานศิลปิน

: เงินเดือนศิลปิน การรวมตัว บำนาญ ล้างหนี้

 

ในบทความก่อนผู้เขียนได้พูดถึงสภาพชีวิตของแรงงานศิลปินใกล้เกษียณในสังคมไทย ซึ่งเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ รายได้ สวัสดิการ หนี้สิน ที่แม้แรงงานสร้างสรรค์-ศิลปิน จะมีความรู้ เครือข่ายทางสังคม

แต่การที่ปราศจากการรวมตัว ไร้อำนาจต่อรอง ทำให้เงื่อนไขชีวิตของแรงงานศิลปินประสบกับความยากลำบากแม้จะได้สร้างมูลค่ามหาศาล และสร้างศิลปะจรรโลงสังคมมาทั้งชีวิต

ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขออธิบายข้อเสนอโดยละเอียดเพื่ออธิบายถึงการปรับปรุงเชิงนโยบายสำหรับแรงงานศิลปิน

 

1.การรับรองรายได้ศิลปิน ผ่านกองทุนประกันรายได้ศิลปิน มีจุดประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ศิลปินอิสระในประเทศไทย กองทุนนี้สามารถรักษาอยู่โดยการให้ทุนจากภาครัฐและภาคบังคับจากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะสร้างรายได้ที่มั่นคงสำหรับศิลปิน ทำให้พวกเขาสามารถใช้เวลาในการแสดงความคิดที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน กองทุนประกันรายได้อาจมีภารกิจการส่งเสริมให้ศิลปินมีรายได้ที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง

การสนับสนุนการเวิร์กช็อป หรือการสอนหลักสูตรพิเศษ เพื่อช่วยให้ศิลปินเสริมพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มความสามารถในการทำงานและเสริมรายได้ไปพร้อมกัน

จากการศึกษาของผู้เขียน กระบวนการการันตีรายได้แรงงานศิลปิน มีความจำเป็นสำหรับแรงงานศิลปินที่มีช่วงโมงการทำงานศิลปะ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป โดยให้ได้รับเงินได้ให้เปล่า ร้อยละ 30 ของค่าจ้างขั้นต่ำ หรือประมาณ 3,500 บาทต่อเดือน

ซึ่งจะส่งผลให้ศิลปินสามารถดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น

เลี่ยงการเป็นหนี้สินนอกระบบ และทำให้เกิดความมั่นคงในการสร้างสรรค์งานด้วย

 

2.ส่งเสริมการรวมตัวและการสร้างเครือข่าย

สนับสนุนโอกาสในการร่วมมือและสร้างเครือข่ายระหว่างศิลปินเพื่อให้สร้างความรู้และสร้างชุมชนที่สนับสนุนกัน จัดงานแสดงนิทรรศการและกิจกรรมที่ศิลปินสามารถเชื่อมต่อกัน

ร่วมงานกับคนที่มีความสนใจเดียวกัน เพื่อทำงานร่วมกันในโครงการ และแสดงผลงานของพวกเขา

การปฏิสัมพันธ์เชิงนี้ไม่เพียงส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการจินตนาการถึงการสร้างการรวมตัวในรูปแบบสหภาพในรูปแบบต่างๆ จะทำให้แรงงานศิลปินสามารถต่อรองต่อสภาพการจ้างงานได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงค่าจ้าง ระยะเวลาการทำงาน ส่วนแบ่งกำไร และความเป็นเจ้าของร่วมกันในทางธุรกิจ

การรวมตัวกันนี้นอกจากการสร้างผลประโยชน์ร่วมในฐานะแรงงาน หรือแรงงานสร้างสรรค์แบบดั้งเดิม

ยังรวมถึงโอกาสการรวมตัวในรูปแบบศิลปินผู้ประกอบการ โดยการให้การฝึกอบรมและทรัพยากรเกี่ยวกับการตลาด การโฆษณาตนเอง และการจัดการธุรกิจ ด้วยการเตรียมความพร้อมให้ศิลปินเหล่านี้ สามารถสร้างแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนนอกเหนือจากการขายศิลปะแบบดั้งเดิม การจัดสอนด้านศิลปะ หรือการจัดการระบบการสั่งซื้อ

ซึ่งทำให้กลุ่มแรงงานศิลปินสามารถมีแพลตฟอร์มของตัวเองในการกระจ่ายทักษะ หรือผลงาน โดยไม่ต้องอิงกับผู้ประกอบการที่ขาดความเข้าใจในชีวิตศิลปะ-ศิลปิน

 

3.ระบบบำนาญถ้วนหน้า

แม้จะเป็นข้อเสนอทั่วไปสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม แต่นับเป็นข้อเสนอสำคัญสำหรับแรงงานศิลปิน ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน มีช่วงเวลาที่ปราศจากรายได้ไม่แน่นอนตามช่วงเวลา

ดังนั้น การนำระบบบำนาญผูกติดกับการประกันสังคม การสมทบส่วนบุคคล หรือการออม จะทำให้ระบบหลักประกันบำนาญไม่มีประสิทธิภาพ ระบบบำนาญถ้วนหน้านอกจากจะเป็นผลดีกับแรงงานศิลปินวัยเกษียณแล้ว ยังมีผลดีสำคัญต่อแรงงานศิลปินใกล้เกษียณ

เพราะสามารถทำให้ช่วงท้ายของการทำงานสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ ปราศจากความกังวล

เพราะช่วงอายุ 50-60 ปีเป็นช่วงที่แรงงานสร้างสรรค์สะสมประสบการณ์อย่างเต็มที่ มีเครือข่ายสนับสนุนที่พร้อม

แต่หากต้องกังวลกับหลักประกันยามเกษียณ ย่อมส่งผลต่อขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ด้วยเช่นเดียวกัน

 

4.การยกเว้นหรือลดหย่อนหนี้สินสำหรับแรงงานศิลปิน

เช่นเดียวกับอาชีพอิสระอื่นๆ หรือแรงงานภาคเกษตร หนี้สินส่วนมากแล้วเกิดจากการประกอบอาชีพ ซึ่งมีต้นทุนในการลงทุนสูงใช้ระยะเวลาในการถอนทุน ซึ่งระยะเวลาการถอนทุนนั้นก็ไม่มีความแน่นอน ประกอบกับมีช่วงเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ หนี้สินจากการประกอบวิชาชีพจึงเพิ่มสูงขึ้น ข้อเสนอเพื่อการยกเว้นหรือการล้างหนี้บางส่วน สามารถเริ่มกับแรงงานศิลปินในวัย 60 ปีขึ้นไป ที่มีหลักฐานการชำระเงินเกินยอดเงินต้นไปแล้ว ควรมีการลดหย่อนหนี้สินให้ส่วนหนึ่งซึ่งสามารถ ลดภาระเงินของศิลปินอิสระ ซึ่งอาจจะเป็นหนี้กู้ยืมที่สะสมมากจากการศึกษา การเปิดร้านค้า หรือค่าใช้จ่ายในการพัฒนางานศิลปะ การลดหนี้เหล่านี้จะช่วยให้ศิลปินมีความเสรีทางการเงิน และสามารถมุ่งไปที่การผลิตงานศิลปะอย่างมีคุณภาพและสร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอเบื้องต้น ต่อกลุ่มแรงงานศิลปิน ที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้แก่สังคมตลอดช่วงอายุการทำงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มที่สำคัญก็มาจากการสร้างหลักประกันที่ดีให้แก่ผู้ใช้แรงงาน การสร้างหลักประกันที่ปลอดภัยแก่แรงงานสร้างสรรค์ใกล้เกษียณ

นอกจากเป็นการสร้างความยุติธรรมทางสังคมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างให้สังคมโดยรวมเกิดความสร้างสรรค์มากขึ้น

เป็นทางเลือกทางอาชีพให้แก่กลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ในอนาคตได้ไปพร้อมกัน