หรือสามัคคีธรรมไม่มีจริง ในฝ่ายประชาธิปไตย

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 นำความปลาบปลื้มแก่ประชาชนในซีกฝั่งเสรีนิยม โดยพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.จำนวน 151 คน และพรรคเพื่อไทยได้ 141 คน รวมสองพรรค 292 คนเกินกว่าครึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน

การประกาศการรวมตัวของ 8 พรรคการเมือง 312 เสียง ตามมาด้วยการลงนามข้อตกลงและตั้งคณะทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านถึง 14 คณะในเวลาถัดมาไม่นาน ยิ่งสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลใหม่ในซีกฝั่งประชาธิปไตยกำลังเดินหน้ามาแทนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างราบรื่น

แต่ผ่านไปไม่ถึงสองเดือน ข่าวที่ปรากฏต่อสื่อเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล กลับเป็นข่าวความไม่ไว้วางใจระหว่างสองพรรคใหญ่ ความไม่ชัดเจนในการตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าตัวผู้นำพรรคทั้งสองจะพร่ำบอกว่ายังคงสามัคคี ร่วมมือกันในการจัดตั้งรัฐบาล และสามารถหาข้อสรุปที่ดีเป็นที่ยอมรับได้

แต่ความไม่ชัดเจน การเลื่อนการประชุมปรึกษาหารือ การไม่มีคำตอบต่อสื่อและประชาชน การให้สัมภาษณ์ของบุคคลในทั้งสองพรรคที่สาดใส่กัน ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการแถลงของผู้นำ

หรือวันนี้ คำว่า “สามัคคีธรรม” ไม่มีจริงในพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

 

ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เหมือนกัน

พรรคการเมืองแต่ละพรรค มีแนวคิด อุดมการณ์ บุคลากรที่เป็นองค์ประกอบของพรรคที่แตกต่างกัน อย่าว่าแค่ 2 พรรคหลัก แม้พรรคที่ลงนามคำรับรองร่วมกันทั้ง 8 พรรคก็แตกต่างแม้จะจัดฝ่ายตนเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก็ตาม

ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นยังมีระดับดีกรีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ในเสรีนิยมยังมีขั้วที่สุดโต่งและขั้วที่ประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยม

การทำงานร่วมกัน จึงจำเป็นต้อง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” อย่าใส่ใจในสิ่งที่ไม่เหมือน หาจุดร่วมที่เหมือนกันมาใช้เป็นสิ่งเกี่ยวร้อยการทำงานด้วยกัน

โดยในที่นี้คือ ความมุ่งมั่นที่จะต้องตั้งรัฐบาลในซีกฝั่งประชาธิปไตยให้สำเร็จ ให้ประเทศหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลทหารและเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาต่างๆ ในบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย

 

ทุกพรรคย่อมหวัง
ในประโยชน์ของพรรค

เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเสียงข้างมากเกินกว่าครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นความจำเป็นต้องเป็นรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรค แม้จะร่วมกันทำงานในคณะรัฐมนตรีเป็นทีมเดียวกันแต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทุกพรรคย่อมหวังประโยชน์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นแก่พรรคตนเองทั้งสิ้น

เลวร้ายน้อยสุด คือ ความต้องการกระทรวงสำคัญเพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับเพื่อประโยชน์คะแนนเสียงในการเลือกตั้งในอนาคต เลวร้ายมากที่สุด คือความต้องการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพรรคการเมืองจากกระทรวงที่มีงบประมาณ หรืออำนาจอิทธิพลมากเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์ในรูปตัวเงิน

การเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ตำแหน่งและกระทรวงที่กำกับดูแลจึงเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรค เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เข้าใจได้ การเจรจาควรเกิดขึ้นก่อนการเสนอความต้องการต่อสาธารณะ และไม่ใช้มวลชนกดดันว่าพรรคไหน คนไหนเหมาะสำหรับตำแหน่งไหน

เมื่อเจรจาเป็นที่ยุติจึงแจ้งต่อสาธารณะและไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้งแย่งชิงตำแหน่งหรือยังคอยแทงข้างหลังกันตลอดเวลา

 

หลีกไกล
ปัจจัยสร้างความแตกแยก

ปัจจัยสร้างความแตกแยกมีทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลและมาจากการยุยงปลุกปั่นจากภายนอก

โดยปัจจัยภายในยังเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้นต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ฝ่ายตรงข้ามที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งจะต้องใช้โอกาสเหล่านี้ให้การสร้างความแตกแยกเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตนให้สามารถกลับเข้ามามีอำนาจในทางการเมือง

ปัจจัยภายในที่มีคือ การไม่ยอมรับความแตกต่างของพรรคการเมืองที่ร่วมเป็นรัฐบาลผสม การถือคติว่าตนเองถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว การใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวยืนยันความคิดหรือข้อเสนอฝ่ายตนโดยไม่มีจุดถอยใดๆ ที่จะเป็นทางออกของการทำงานร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการใช้ท่าทีที่หยาบคาย แข็งกร้าวจากมวลชนผู้สนับสนุนของแต่ละพรรคที่กระทำต่อมวลชนด้วยกัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งควบคุมได้ หากประสงค์ที่จะหลีกไกลจากความขัดแย้ง

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้นห้ามไม่ได้ แต่พึงหนักแน่น ไม่คล้อยตามหรือนำมาเป็นเครื่องมือในการเจรจาในทำนองพร้อมแยกวงหรือตีจาก เพราะเมื่อใดก็ตามหากเกิดภาวะดังกล่าว ย่อมกลายเป็นเหตุความไม่ไว้วางใจต่อกัน ยากที่จะทำงานร่วมกันอย่างสนิทใจได้

 

การเจรจา พูดคุย คือ คำตอบ

“เมื่อมีราชกิจใด ปฤกษากันไป บ วาย บ หน่ายชุมนุม” คำสอนในสามัคคีเภทคำฉันท์ ประพันธ์โดยนายชิต บุรทัต ที่แต่งเมื่อ พ.ศ.2457 หรือกว่าร้อยปีก่อน เกี่ยวกับ “อปริหานิยธรรม 7 ประการ” ที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวียึดเป็นหลักในการปกครองแคว้นวัชชีจนเข้มแข็งยากที่พระเจ้าอชาตศัตรูจะเอาชนะได้ ดูจะยังไม่ล้าสมัยและเข้ากับสถานการณ์การไม่คุยกันของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

นัดแล้วเลื่อน นัดแล้วเลิก นัดแล้วไม่คุยกันอย่างจริงจัง สิ่งที่ประชุมพูดคุยกลับไม่ใช่แก่นสารของประเด็นการทำงานร่วมกัน หรือแม้ใช่แต่ไม่ใช่ความต้องการของคู่เจรจา หรือการประชุมที่มุ่งแต่จะพูด “ไม่ฟัง” ฟังแต่ “ไม่เข้าใจ” เข้าใจแต่ไม่ “ปรับตัว” ก็ยากจะเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จ

การประชุม ต้องนัดหมายและมีวาระที่ชัดเจน กำหนดไว้ต้องไม่เปลี่ยน

เมื่อถึงวัน เวลาประชุม “ย่อมพร้อมเลิกพร้อมประชุม พร้อมพรักพรรคคุม ประกอบ ณ กิจควรทำ” สิ่งที่ต้องทำคือการเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงจากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมาเข้าร่วมด้วยตนเอง ไม่ส่งตัวแทนที่ไม่มีอำนาจมาแล้วบอกว่า คงได้แค่ฟังแล้วจะไปเสนอหรือขอความเห็นจากผู้มีอำนาจการตัดสินใจตัวจริง หากเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้การประชุมไร้ความหมายและเลิกร้างไปในที่สุด

 

ด่านแรก
คือต้องจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย
ให้สำเร็จ

การจับมือกันให้มั่นเพื่อตั้งรัฐบาล 8 พรรคให้สำเร็จถือเป็นด่านแรกของการพิสูจน์ความมี “สามัคคีธรรม” เพราะหาก 4 ปีที่ร่วมต่อสู้กับรัฐบาลทหารในเสื้อคลุมประชาธิปไตยจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้รับอาณัติ (Mandate) จากประชาชนอย่างท่วมท้นขนาดนี้แล้วยังไม่สามารถรักษาพันธสัญญากับประชาชนไว้ได้ด้วยเหตุของการไม่ไว้วางใจกัน ไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้เพราะมี “อัตตา” ของตัวเองจนยากจะเข้ากับผู้อื่น เป็นอุปสรรคต่อการทำงานร่วมกัน จนต้องทำให้ต้องไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อให้ประเทศเดินหน้า

นี่คือการเสียโอกาสของประชาชนในการได้รัฐบาลใหม่จากซีกฝั่งประชาธิปไตย

ประชาชนต้องการการเมืองใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นการเมืองที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศจากมืออาชีพที่มาทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคี

อย่าคิดเพียงว่า วันนี้ยังไม่เป็นรัฐบาลก็ได้ หรือรออีก 4 ปีก็ได้

ประเทศเสียโอกาสไปมากแล้ว อย่าให้ต้องเสียโอกาสต่อไปอีก 4 ปีเลย