ส่อง ‘ศธ.-กทม.’ ล้ำไปด้วยกัน ปลดล็อก ‘ทรงผม-ชุดนักเรียน’ ภายใต้กติกา-ฟังเสียงประชาคม!!

ส่อง ‘ศธ.-กทม.’ ล้ำไปด้วยกัน ปลดล็อก ‘ทรงผม-ชุดนักเรียน’ ภายใต้กติกา-ฟังเสียงประชาคม!!

 

กลายเป็นเรื่องที่สังคมหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย กรณีของ “หยก” หรือ น.ส.ธนลภย์ เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ออกมาโพสต์ว่าถูก “ไล่ออก” จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เนื่องจาก “ย้อมสีผม” และแต่ง “ชุดไปรเวต” ไปโรงเรียน นอกจากนี้ ยังประกาศไม่เข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่ร่วมกิจกรรมโฮมรูม และจะเรียนเฉพาะวิชาที่อยากเรียน โดย “อ้าง” เรื่องสิทธิเสรีภาพ

ขณะที่โรงเรียนยืนยันว่า นักเรียนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ของโรงเรียน รวมทั้งการแต่งกาย และทรงผม เพราะโรงเรียนมีกฎ ระเบียบ กติกา ที่นักเรียนจะต้องปฏิบัติตาม…

ประเด็นนี้ ทำให้ความเห็นของสังคมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แต่เท่าที่ฟังเสียงรอบทิศ โซเชียล หรือคนรอบตัว ส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” กับหยก เพราะมองว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรได้ก็จริง แต่ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และสิทธิเสรีภาพจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ที่สำคัญ ต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกา กฎหมาย หรือกฎระเบียบของสถานที่นั้นๆ อย่างเช่นเมื่ออยู่ในโรงเรียน ก็ต้องยอมรับกฎกติกาของโรงเรียน หากยอมรับไม่ได้ ก็ต้องหาโรงเรียนที่เปิดกว้าง หรือที่ที่มีแนวคิดที่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องถอยคนละก้าว และหาจุดร่วม โดยรับฟังเสียงประชาคมของโรงเรียน เมื่อเสียงส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปอย่างไร ก็ต้องเคารพ และปฏิบัติตาม…

เพราะเรื่องแบบนี้ ต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน ถ้าจะเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตาย ก็ไม่มีวันจบ เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีธงของตัวเองอยู่แล้ว!!

 

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมนักเรียนในโรงเรียนสังกัด โดยอ้างอิงตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 พ.ศ.2566 เพื่อเป็นการเคารพสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน ให้โรงเรียนจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ กรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตาม ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจ และตกลงร่วมกัน แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย และจิตใจของนักเรียน

เช่นเดียวกับแนวทางการแต่งกายของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.อ้างอิงระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ที่สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียน ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัด และเหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

โดยให้โรงเรียนสังกัด กทม.จัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วม กรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้สวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่น ที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้ดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน

ผู้ว่าราชการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ระบุว่า กทม.ใช้แนวทางนี้ครั้งแรก และต้องประเมินว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร ก็พร้อมปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ลองทำอะไรใหม่เลย สุดท้ายก็ไม่มีการคิด เด็กไม่ได้คิด ผู้ปกครองไม่มีส่วนร่วม กทม.ต้องกล้าทำในสิ่งที่ผิดไปจากเดิมมาก แต่ก็มีกรอบกติกาอยู่ สุดท้ายถ้าดีก็ทำต่อ ถ้ามีเรื่องปรับปรุง ก็ปรับปรุงได้

ขณะที่นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า หัวใจหลักมีอยู่ 2 เรื่อง คือ

1. สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน

และ 2. ลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

กทม.จึงออกแนวทางกลางๆ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ให้นักเรียนใส่ชุดอะไรก็ได้ที่สบายใจ อย่างชุดไปรเวต หรือชุดนักเรียน ฯลฯ ซึ่งแนวทางปฏิบัตินี้ คณะกรรมการของสถานศึกษาต้องให้นักเรียน และผู้ปกครอง มีส่วนร่วม ส่วนการย้อมสีผม แล้วแต่คณะกรรมการพิจารณา

ซึ่งผู้บริหาร กทม.มองว่าไม่ได้เกินกว่าที่ ศธ.กำหนด แต่ถ้าบอกกว้างไป แต่ละโรงเรียนจะพิจารณาไม่เหมือนกัน เลยออกบันทึกข้อความเพื่อให้ชัดเจน!!

 

เรื่องนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองเป็นความกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจ ไม่กลัวกระแสต่อต้าน ของผู้ว่าฯ กทม.ที่ให้นักเรียนของโรงเรียนในสังกัดกว่า 400 แห่ง ใส่ไปรเวตสัปดาห์ละ 1 วัน แสดงว่าปรับตัวได้ดีกว่า ศธ. 100 เท่า เข้าใจเรื่องการศึกษาที่จะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ต้องให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ถือว่า กทม.เป็นหัวหอกสำคัญของการทลายกำแพงระบบกฎเกณฑ์อำนาจนิยมในโรงเรียน กล้าคิดนอกกรอบ ทำสิ่งใหม่ๆ

โดยมองว่า ศธ.แม้จะเปิดกว้างเรื่องของระเบียบ แต่ยังเปิดไม่จริง เพราะในทางปฏิบัติไม่มีการติดตาม ไม่มีแนวทาง และไม่ผลักดันชัดเจน มีแค่ให้นโยบาย และกำชับแค่นั้น

ขณะที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ก็เห็นว่า กทม.ปรับตามระเบียบ ศธ.โดยโรงเรียนสังกัด ศธ.เปิดกว้างมากกว่า และล้ำหน้ากว่าการแต่งชุดไปรเวตเพียง 1 วัน ไปนานมากแล้ว เพราะ “กระจายอำนาจ” ให้สถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน กำหนดเครื่องแต่งกายที่เหมาะสม รวมถึงการแต่งชุดไปรเวต ก็ให้เป็นอำนาจของโรงเรียนรับฟังความคิดเห็นประชาคมในโรงเรียน

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ย้ำอีกครั้งว่าการแต่งชุดไปรเวต ศธ.เปิดกว้างตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และล่าสุดก็ได้ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 เพื่อให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับของแต่ละแห่งเอง

อย่างไรก็ตาม กรณีมีเสียงสะท้อนว่า กทม.กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าตัดสินใจ และปรับตัวได้ดีกว่า ศธ.นั้น ครูเหน่งมองประเด็นนี้ว่า ศธ.มีหน้าที่ต้องดูแลโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 30,000 โรง ไม่ใช่แค่เฉพาะระดับตำบล หรือระดับจังหวัด จึงมีความหลากหลาย แต่สิ่งที่ ศธ.ยึดมั่นคือ พยายามให้เกิดความยืดหยุ่น ไม่ใช่ปล่อยอิสระ หรือใครอยากทำอะไรก็ทำได้ แต่เปิดโอกาสให้สถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน นักเรียน และผู้เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมออกแบบเครื่องแต่งกาย และทรงผมนักเรียน ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่

ซึ่งยืนยันชัดเจนว่า ศธ. “ปลดล็อก” เรื่องชุดแต่งกาย และทรงผมนานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำตามใจตัวเองได้ทุกอย่าง เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะระเบียบวินัยให้เด็ก เช่นเดียวกับสถานศึกษาทั่วโลก ก็ล้วนแต่มีกฎกติกา เพียงแต่ ศธ.ได้กระจายอำนาจลงไปให้สถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน ชุมชน ร่วมกันตัดสินใจได้เอง เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกัน…

โดยมีเป้าหมายให้เด็กมีวินัย ที่สำคัญ ต้องเคารพในกติกาขององค์กร และรับฟังความเห็นส่วนรวม!!

 

ถือเป็นทิศทางที่ดีที่ “ผู้มีอำนาจ” ที่กำกับดูแล “สถานศึกษา” ไม่ว่าจะระดับ “ประเทศ” หรือ “ท้องถิ่น” เปิดใจกว้าง หันมารับฟังเสียง และใส่ใจความต้องการของ “นักเรียน” มากขึ้น…

ขณะที่ “ผู้บริหารโรงเรียน” ซึ่งเป็น “ผู้ปฏิบัติ” จะขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ.หรือ กทม.ให้เกิดขึ้นได้จริง ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด

และเปิดใจฟังเด็กๆ ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในโรงเรียนด้วย!! •

 

| การศึกษา