เปิดใจ ‘มาดามเดียร์’ แคนดิเดตหัวหน้าพรรค 9 กรกฎา 2566 ประชาธิปัตย์ รอด-ไม่รอด?

การประชุมวิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของพรรค

เพราะนอกจากจะเป็นการเลือก “หัวหน้าพรรคคนใหม่” มาแทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้พรรคได้ ส.ส.เข้าสภาเพียง 25 คน ซึ่งเป็นจำนวนต่ำที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา

วันสำคัญนี้ยังจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่จะสะท้อนให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นพรรคที่ประชาชนศรัทธาและไว้วางใจได้อีกหรือไม่!!

ขณะเดียวกันคนที่จะมาเป็น “หัวหน้าพรรคคนใหม่” ก็สำคัญยิ่งในการ “เปลี่ยน” ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ช่วงระยะที่ผ่านมาปรากฏชื่อแคนดิเดตผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 4-5 ราย หนึ่งในนั้นปรากฏชื่อ “เดียร์-วทันยา บุนนาค” สอดแทรกเข้ามาในฐานะ “คนรุ่นใหม่” หรือ “เลือดใหม่” ของพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับ “วทันยา บุนนาค” แม้เข้ามาในสังกัดประชาธิปัตย์ไม่ถึงหนึ่งปี แต่เรื่องราวของนักการเมืองหญิงผู้นี้ไม่ต้องเอ่ยถึงให้มากความ เป็นที่รู้กันว่าเธอทำหน้าที่ “ประธานนวัตกรรมการเมือง” ของพรรคประชาธิปัตย์ และถือว่ามีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย

การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์ครั้งนี้ “มาดามเดียร์” ก็ไม่ธรรมดา

ถือโอกาสชักชวนมาพูดคุยกันแบบเปิดใจ

 

ก่อนเข้าสู่ประเด็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค มาดามเดียร์อัพเดตสถานการณ์พรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ ต้องยอมรับในสมรรถภาพของประชาธิปัตย์ว่าต่ำที่สุดแล้วที่พรรคทำงานมาตลอด 77 ปี กับการได้จำนวน ส.ส.น้อยลงเรื่อยๆ จาก 51 คนในการเลือกตั้งปี 2562 มาจนถึงปี 2566 ที่เหลือเพียง 25คน เชื่อว่าสมาชิกพรรคเองไม่มีใครคิดว่าตัวเลขจะออกมาอย่างนี้ และถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป คงไม่ได้ ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแบบ 360 องศา

เธอมองว่าพรรคประชาธิปัตย์วันนี้กำลังอยู่ในโจทย์ที่ว่าสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แล้วประชาธิปัตย์ตามทันหรือไม่?

มาดามเดียร์เล่าว่า เมื่อก่อนเวลาศึกษาพฤติกรรมของคน ในการทำวิจัยจะใช้เวลา 5 ปีทำ 1 ครั้ง ก็พอจะเห็นเทรนด์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ต่อมาเริ่มกระชั้นเข้าทำ 3 ปีครั้งก็ยังได้ แต่ว่าตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เมื่อมีดิจิทัลเข้ามา จะเห็นได้ว่าการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์วันนี้กลายเป็นว่าต้องสำรวจใหม่ทุกๆ ปี เพราะโลกเปลี่ยนเร็วมาก

“นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของประชาธิปัตย์ว่าในวันที่โลกเปลี่ยน แล้วพรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้หรือเปล่า อย่างน้อยที่สุดเป็นคนปักธงยุทธศาสตร์ ปักหมุดหมายของตัวเองให้ได้ ถ้าเปลี่ยนได้อย่างนี้ เรายังมีโอกาสที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส”

ความเห็นของมาดามเดียร์เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้ง

“เชื่อว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค อดีตผู้บริหาร และผู้ที่เคยสนับสนุนให้พรรคประสบความสำเร็จมาในอดีต แน่นอนว่าท่านเป็นที่เคารพในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและผลลัพธ์ของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ส.ส.ที่เหลืออยู่ 25 เสียง เป็นรูปธรรมตัวเลขที่จับต้องได้ชัดเจน”

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ประชาธิปัตย์ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้วจริงๆ ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีกแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ส่วนการเปลี่ยนจะเปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนไปในดีกรีระดับไหน เปลี่ยนอย่างไรที่ถือว่าเปลี่ยน นี่เป็นคำถาม ซึ่งไม่มีใครตอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์”

“ฉะนั้น ประชาธิปัตย์ในวันนี้ต้องกล้าที่จะลงมือทำก่อน ถึงจะรู้ได้ว่าโอเค เราเดินไปข้างหน้าแล้วมันยังมีเรื่องอะไรที่เราต้องปรับตัวเพิ่มเติมบ้าง แต่ถ้าตราบใดที่ไม่กล้าลงมือ แปลว่าเราไม่มีโอกาสได้แม้แต่กระทั่งจะลองทำ มันก็คือการหยุดอยู่กับที่แล้วยอมรับชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต”

 

มาดามเดียร์เปรียบพรรคการเมืองเสมือนองค์กรองค์กรหนึ่ง ต้องมีคู่แข่งอยู่เสมอ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนอกจากมองบริบทโลก บริบทประเทศแล้ว ต้องกลับมามองบริบทของคู่แข่งด้วยว่าในแต่ละสนามเขากำลังก้าวไปจุดไหน เพื่อจะสามารถกำหนดตัวเองได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนจุดยืน หรือเปลี่ยนอุดมการณ์ 77 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีจุดยืน มีอุดมการณ์ที่ทำให้พรรคได้รับความนิยม ได้รับความไว้วางใจในการเลือกตั้งในอดีต สิ่งนี้คือดีเอ็นเอสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาได้

ดังนั้น สิ่งแรกที่จะทำคือยึดหลักเรื่องอุดมการณ์ในความเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาให้เข้มแข็ง ถัดมาคือการทำงานต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ยึดมั่นในเรื่องหลักการให้ชัดเจน

“พูดง่ายๆ คือ ไม่ทำการเมืองเหมือนนักการเมืองหรือนักเลือกตั้ง เวลานี้ประชาชนคนไทยเขาตื่นตัวกับการเมืองและต้องการความหวังใหม่ๆ เขาอยากเห็นการเมืองใหม่ที่สามารถเป็นความหวังให้เขาได้ในอนาคต ถ้าประชาธิปัตย์สามารถกลับมาทำงานโดยยึดหลักการบนความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ ก็คือดีเอ็นเอของพรรคอยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่ก่อตั้งพรรคมาโดยตลอด หันกลับมายึดหลักการความถูกต้อง ทิ้งบริบทการเมือง พยายามลดทอนระบบอุปถัมภ์ ทำงานการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา เหล่านี้ประชาชนก็พร้อมที่จะให้โอกาส เดียร์เชื่อว่าจุดที่เป็นโอกาสที่เราจะเดินไปได้ มันยังมีอยู่”

“แล้วคำว่าความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การใช้เวลาเพียงแค่ 5 วินาที เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง แต่มันคือการทำกระบวนการต่างๆ ให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย เช่น สิทธิความเท่าเทียม เสรีภาพ ความเสมอภาค การแสดงออกในเรื่องความเป็นประชาธิปไตยหมายถึงการเปิดพื้นที่กว้าง มองคนที่คุณค่าความเป็นมนุษย์ การรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง บางคนไปมองว่าต้องเปลี่ยนเอาคนรุ่นใหม่ ซึ่งหมายถึงเรื่องของดิจิทัล ต้องใช้โซเชียลมีเดียให้มากขึ้น กลับกลายเป็นว่าไปนั่งถกกันในประเด็นปลีกย่อยซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ คนทำสื่อรู้ว่า content is the king ก็จริง แต่ถ้าอุดมการณ์ของพรรคตั้งแต่ตั้งต้นมันไม่ชัด ไม่มีความแหลมคมพอ ไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังของประชาชน มันก็ไปไม่รอด ไม่ว่าคุณจะใช้กี่แพลตฟอร์มก็ตาม ไม่มีความหมาย สิ่งสำคัญคือต้องตอบโจทย์สังคมให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจะใช้โซเชียลหรืออะไรทั้งหลาย มันเป็นแค่เทคนิคส่วนประกอบที่เข้ามาเติมให้งานมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อถามว่าเคยเสนอแนวคิดนี้กับพรรคไปบ้างหรือยัง วทันยาหัวเราะก่อนบอกว่า พยายามเสนอมาตลอด หวังว่าผู้ใหญ่ในพรรค ผู้บริหารหรือผู้มีโอกาสตัดสินใจ สมาชิกพรรคทั้งหมดที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะเข้าใจในสิ่งที่พยายามนำเสนอ

 

ส่วนเรื่องที่มีชื่อเธอปรากฏเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค มาดามเดียร์กล่าวขอบคุณคนที่เอ่ยถึงชื่อ และบอกว่า ดีใจในฐานะคนทำงานที่มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำมา

“รู้สึกว่าเรามีความหวัง เพราะแปลว่าเขากำลังก้าวข้ามเรื่องของความไม่เท่าเทียม ที่ผ่านมาสังคมไทย และการเมืองในอดีต ยอมรับว่าเป็นปัญหามากและเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งคือเรื่องของวัย หรือแม้กระทั่งความเป็นผู้หญิงที่เดินเข้ามาในการเมือง แต่เมื่อมีการเอ่ยถึงชื่อเรา แปลว่าเขายอมรับและก้าวข้ามช่องว่างระหว่างวัยหรือเรื่องเพศ มองเรื่องคุณค่าของการทำงานเป็นตัวตั้ง คาดหวังจริงๆ ว่าประชาธิปัตย์จะเป็นตัวอย่างกลไกที่ทำให้สังคมตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ และแน่นอนว่าวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ผลเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ที่ออกมาจะเป็นการสะท้อนว่าพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจบริบทโลกที่เปลี่ยนไปจริงหรือไม่ ก้าวทันหรือเปล่า เป็นจุดที่ท้าทายประชาธิปัตย์อย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงแนวทางการทำงานของพรรคต่อจากนี้ไปว่าจะเป็นอย่างไร”

ถามย้ำอีกว่า “พร้อมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์?” นักการเมืองหญิงวัย 38 นิ่งคิดก่อนบอกว่า “ถ้าเดียร์ได้รับโอกาสนั้นคิดว่าเราก็พร้อมที่จะทำงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บรรยากาศในพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี หรือคนในพรรคก็ดี เราคงต้องใช้คำว่า ถ้าได้รับโอกาส เราก็พร้อมที่จะทำงาน เพราะเรามีความมุ่งมั่นและเข้ามาประชาธิปัตย์บนความหวังอยากเห็นองค์กรนี้สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง เติบโต คงความเป็นเสาหลักในทางการเมืองให้กับประเทศไทยต่อไป”

“เดียร์ว่าเดียร์พร้อมจะทำงานกับทุกคน แต่สิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรกคือ เราต้องมีจุดมุ่งหมายและเห็นภาพที่จะเดินไปข้างหน้าตรงกัน ส่วนเรื่องวิธีการทำงานเป็นเรื่องที่มาปรับจูนกันไปเรื่อยๆ ได้อยู่แล้ว สำคัญสุดคือถ้าเรามีเป้าหมายตรงกัน ทำงานเป็นทีมเวิร์ก มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รายละเอียดการทำงานอื่นๆ เป็นเรื่องเล็ก ไม่ใช่อุปสรรคปัญหา เอาเป็นว่าเรายังมีความหวังในการทำงานให้พรรค”

มาดามเดียร์ปิดท้ายแบบให้ตีความ