ถอดรหัสปริศนา คดียาเสพติด ทำไม “ยิ่งจับ ยิ่งเยอะ”?

แม้ข่าวการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด จะยังคงถูกนำเสนอผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ ออนไลน์ หรือโทรทัศน์ มาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งตำรวจก็มีการใช้หลากหลายกลยุทธ์มาปราบปรามขบวนการค้ายานรกเหล่านี้

แต่คำถามที่น่าสนใจสำหรับหลายๆ คนก็คือ ทำไม “ยิ่งจับ ยิ่งเยอะ”

และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

พ.ต.อ.สุภรณ์ หิรัญเวชบูรณ์ ผกก.1 บก.ปส.2 อธิบายถึงความยากในการปราบปรามเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติด ว่าเป็นคดีที่สืบสวนยากเนื่องจากผู้ต้องหามีการร่วมมือกันเป็นขบวนการ

ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป เช่น คดีฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ คดีเหล่านี้ส่วนมากจะมีประชาชนรู้เห็นเป็นพยานช่วยตำรวจบ้าง แต่คดียาเสพติดการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานยากมาก และต้องใช้ระยะเวลา

กลุ่มขบวนการนักค้ายาเสพติด จะลักลอบทำกันในที่ลับกับกลุ่มที่รู้จักกันเท่านั้น เพื่อไม่ให้ข้อมูลมาถึงเจ้าหน้าที่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่มีสิทธิได้รู้ได้เห็น อาจจะได้ยินข่าวบ้าง ว่า “บ้านนี้ก็ขาย บ้านนั้นก็ขาย” แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้าให้ข้อมูลกับตำรวจเพราะกลัวว่าจะเกิดอันตราย

ตำรวจเองก็พยายามสืบสวนหาข่าวในทุกมิติ โดยเฉพาะการจับผู้บงการ หรือผู้สั่งการ ที่มีการสืบสวนยากกว่าการจับกลุ่มรับจ้างลำเลียง หรือรับจ้างขนยาเสพติด

กระนั้นประชาชนอาจไม่ทราบและมักจะกล่าวกันว่า “ขายกันเยอะแยะเลยทำไมไม่มาจับ” ซึ่งในทางปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะยาเสพติดไม่ได้ขายตามศูนย์การค้าหรือตลาดนัด คนไม่รู้จักก็ไม่ขายให้อีก ยิ่งรายใหญ่ๆ จะไม่แบ่งขาย แต่จะขายเป็นล็อตๆ

บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องอำพรางตัวเป็นสายลับแฝงเข้าไปในกลุ่มนักค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก

การทำงานของตำรวจสืบสวนคดียาเสพติด ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ แม้ตัวเองจะเป็นผู้ทุ่มเททำงานหนักมากก็ตาม แต่ก็ไม่มีโอกาสชี้แจงหรือเล่าถึงประสบการณ์การทำงานให้กับประชาชนให้รับรู้

เพราะหากมีภาพหลุดไปในข่าว หรือกลุ่มนักค้ายาเสพติดจับได้อาจเกิดอันตรายต่อผู้สืบสวน ตำรวจสืบสวนจึงต้องเป็นผู้เสียสละใช้ความทุ่มเท หรือปิดทองหลังพระมาตลอด

กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ในฐานะหน่วยงานหลักจึงได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง กำหนดยุทธศาสตร์เน้นสืบสวนไปถึงตัวผู้บงการ หรือนายทุน มากกว่าการจับกลุ่มรับจ้างลำเลียง

แม้ว่าการจับกุมผู้บงการจะไม่มีการตรวจยึดยาเสพติดได้เลย แต่การปราบปรามลักษณะนี้เป็นการตัดวงจรยาเสพติด หากกลุ่มผู้บงการหรือนายทุนถูกจับ ก็จะไม่มีเงินหล่อเลี้ยงเครือข่ายเหล่านี้ได้

เช่นในคดีของ นายไซซะนะ แก้วพิมพา เครือข่ายนี้ก็เรียกได้ว่าหยุดกิจการไปเลย เมื่อคีย์แมนหรือผู้บงการใหญ่ถูกจับกุม

นี่คือรูปธรรมที่เห็นผลมากกว่าการที่ตำรวจเน้นจับเฉพาะผู้ลำเลียง หรือรับจ้างขนส่งยาเสพติด ซึ่งในลักษณะนั้น ไม่นานกลุ่มนายทุนก็เอาเงินไปจ้างคนอื่นมาแทนที่ได้อีก

เพราะขบวนการนี้ปัจจัยสำคัญที่ล่อลวงจิตใจอยู่ก็คือ “เงิน” หรือผลตอบแทนที่ผลักดันให้คนในขบวนการพร้อมที่จะเข้ามาเสี่ยง

พ.ต.อ.สุภรณ์ เล่าอีกว่า เนื่องจากมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก บางคนที่อาศัยอยู่หมู่บ้านในพื้นที่ภาคเหนือ จึงหันมารับจ้างขนส่งยาเสพติด จนถูกจับกุมทั้งหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านร้าง พอหมดหมู่บ้าน กลุ่มนายทุนก็ไปหาว่าจ้างหมู่บ้านอื่นต่อไปอีก

กลุ่มรับจ้างเหล่านี้ก็มีหลาดหลายกลวิธี ทั้งการซุกซ่อนในตัวรถ ใช้วิธีอำพรางต่างๆ รวมถึงวิธีการลำเลียงยาเสพติด ที่จะมีรถนำขบวน รถสำรวจเส้นทาง ก่อนให้รถที่ขนยาเสพติดขับตามมาอีกทีหนึ่ง

กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อถูกจับได้และถูกส่งเข้าเรือนจำก็กลายเป็นว่าคนจากเครือข่ายที่หนึ่งไปพบกับเครือข่ายที่สอง ที่สาม ไปแลกเปลี่ยนยุทธวิธีการหลบหนีตำรวจกันในเรือนจำอีก

เรือนจำจึงกลายเป็นเหมือนสถานที่พบปะของกลุ่มนักค้ายาเสพติด บางคนไม่เข็ดหลาบเมื่อพ้นโทษออกมาก็ทำผิดอีกแถมยังมีช่องทางมากขึ้น รู้จักนายทุนรายอื่นๆ มากขึ้นด้วย แม้ว่าทางเรือนจำจะพยายามบ่มนิสัย ปลูกฝังจิตสำนึก และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม

สําหรับปริศนาที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมยิ่งจับยาเสพติดก็ดูเหมือนการลับลอบขนยาเสพติดจะมากขึ้นไปด้วยนั้น พ.ต.อ.สุภรณ์ แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่าอาจเกิดจากสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจนำเสนอข่าวสารในช่วงนี้มากขึ้น

ประกอบกับตำรวจเองก็มีมาตรการในการทลายเครือข่ายต่างๆ เช่น ชัยยะสยบไพรี 60/1 เป็นต้นมา ทำให้มีการเผยแพร่ข่าวสารไปถึงประชาชนมากขึ้น

ที่ผ่านมาตำรวจไม่ได้ปล่อยปละละเลยในการทำหน้าที่ หรือรู้เห็นเป็นใจกับผู้กระทำความผิด นำยาเสพติดของกลางมาเวียนแถลงข่าว ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์

“ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้ปล่อยปละเละเลยเลย หรือรู้เห็นเป็นใจกับผู้ต้องหา แต่การจับกุมต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานเพราะเรามีโอกาสแค่ครั้งเดียว หากเราพลาดการจับ ในครั้งต่อๆ ไปก็จะเพิ่มความยากมากขึ้น”

ปฏิบัติการจับขบวนการค้ายาเสพติดแต่ละครั้ง นอกจากตำรวจปราบปรามยาเสพติด ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมสนธิกำลัง เช่น ทหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

โดยใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก ร่วมเป็นสีกขีพยานในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสนธิกำลังด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ มาตรการ รวบรวมข้อมูลการสืบสวน และป้องกันการครหาว่าตำรวจยัดยาเสพติด หรือยักยอกยาเสพติด โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เช่น กล้องติดหน้ารถยนต์ และกล้องติดกับตัวเจ้าหน้าที่มาใช้ด้วย

ในมุมมองของตำรวจปราบยาเสพติด การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเพิ่มขึ้นนอกจากเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีแล้ว ยังเป็นตัวช่วยตำรวจป้องกันการถูกกล่าวหา โดยส่วนตัวคิดว่าคงหมดยุคสมัยที่จะกล่าวหาว่าตำรวจยัดยาเสพติดแล้ว เนื่องจากการจับกุมแต่ละครั้งมียาเสพติดจำนวนมาก เป็นแสน หรือเป็นล้านเม็ด ตำรวจจะหายาเสพติดที่ไหนมายัดได้

และในประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงานที่ร่วมมือกันปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด อาทิ ตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือ ปส. ทำหน้าที่สืบสวนจับกุม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ (ป.ป.ส.) ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์

โดยมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน หาความเชื่อมโยงทางการเงิน และยึดทรัพย์ ซึ่งจะใช้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดำเนินการติดตามทรัพย์สิน

แม้ว่าผู้ต้องหาจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวยา หรือนำทรัพย์สินไปฝากไว้ในชื่อบุคคลอื่น หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการยึดทั้งหมด

“เราจะทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดจนยิ่งกว่าขอทานให้ได้”

นั่นคือเป้าหมายที่ พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบช.ปส. ประกาศไว้ว่า ในทุกคดียาเสพติด เจ้าหน้าที่จะติดตามจนถึงที่สุดที่กฎหมายให้อำนาจ

พร้อมทั้งคาดหวังว่า ภาพ-ข่าว ตลอดจนขบวนการค้ายาเสพติดในประเทศไทยจะค่อยๆ ลดลงอย่างแน่นอนในระยะยาว