ผ้าซิ่น

ผ้าซิ่น

สิ้นฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า สิ้น

หมายถึง ผ้าซิ่น หรือผ้าถุง

 

“ซิ่น” ของสตรีชาวล้านนา เป็นอัตลักษณ์ในภาคเหนือของประเทศไทย ซิ่นในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกัน บางจังหวัดจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย ลักษณะผ้า การย้อมสีฝ้าย ฯลฯ หลากหลายรูปแบบ อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอผ้าชาวล้านนาแต่โบราณ

หลักฐานเรื่องการแต่งกายและนุ่งซิ่นของชาวล้านนานั้นมีบันทึกค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่พบได้จากศิลปกรรมแขนงต่างๆ เช่น ประติมากรรมรูปปูนปั้น

หลักฐานที่เห็นปรากฏชัดเจนมากคือภาพจิตรกรรมฝาหนัง ซึ่งนอกจากจะเห็นการแต่งกายแล้ว ยังเห็นสภาพวิถีชีวิตของชาวล้านนาอีกด้วย

 

ซิ่นมีหลายชนิด หลายประเภท เช่น

– ซิ่นก่านคอควาย เป็นผ้าซิ่นสีดำ มีแถบสีแดงคาดก่านเป็นทางขวางที่ส่วนชาย

– ซิ่นคำเคิบ ผ้าซิ่นที่ใช้ดิ้นเงินชุบทอง ทอสอดแทรกตัวซิ่น หรือทอเฉพาะส่วนที่เป็นชายผ้า

– ซิ่นเชียงแสน ผ้าซิ่นแบบเชียงแสน ลายขวาง เย็บสองตะเข็บ ต่อชายผ้าและส่วนเอว

– ซิ่นตา เป็นลายผ้าทางขวางพาดตัว มีผ้าพื้นสีแดง สีดำ หรือสีน้ำตาลมาต่อเป็นส่วนเอวและเชิงชายผ้า

– ซิ่นน่าน ผ้าซิ่นจากเมืองน่าน มีลวดลายหลากหลาย เช่น ซิ่นน้ำไหล

– ซิ่นยกดอก เป็นผ้าซิ่นที่จัดทำลวดลายเป็นดอก เป็นศิลปะประดิษฐ์ชั้นสูง ที่นิยมมากคือ ซิ่นยกดอกลำพูน

– ซิ่นตีนจก ผ้าซิ่นที่มีลวดลายจากการทอแบบ “จก” หรือล้วงด้ายที่ชายผ้า มีลวดลายที่โดดเด่นคือ ลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดกันเป็นลายขนาดใหญ่ เรียกว่า “ลายโคม” และมีลายเล็กๆ ด้านข้างอีก 2 หรือ 4 แถว และส่วนด้านล่างของตีนซิ่น บริเวณรอยต่อของผ้าสีแดงและสีดำ จะทำลายเล็กๆ ตกแต่งลวดลายเป็นเส้นห้อยลงไปเรียกว่า “หางสะเปา”

แม่ยิงฯล้านฯนาฯนุ่งสิ้นฯ แม่ยิงล้านนานุ่งสิ้น

 

ซิ่นตีนจกที่พบในเชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ

ตีนจกเจ้านาย นิยมใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย จกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง หรือดิ้นปั่นควั่นกับเส้นด้ายกลม ลวดลายละเอียด ประณีต เป็นซิ่นในราชสำนักหรือคุ้มหลวง นิยมสวมเฉพาะสตรีชนชั้นสูง

ตีนจกสันป่าตอง นิยมจกด้วยดิ้นควั่นฝ้าย ใช้เส้นฝ้ายหลายเส้นทอ ลวดลายจกจะห่างกว่าตีนจกเจ้านาย นิยมสีเข้มค่อนข้างขรึม เน้นสีจากธรรมชาติ

ตีนจกจอมทอง นิยมใช้ผ้าฝ้ายเส้นเล็กหลากหลายสีทอจก นิยมสีเหลือง จกลายห่างจนเห็นพื้นผ้าสีดำ ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจะเพรียวผอม ต่างจากตีนจกสันป่าตองที่จะป้อมกว่า

ตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกแบบแม่แจ่มนิยมใช้ผ้าฝ้ายเส้นใหญ่ สีสันสดใส ลวดลายจะผอมเพรียวกว่าตีนจกแบบจอมทอง บางผืนจกด้วยรูปนกหรือลายขอกูด และมีจุดเด่นตรงหางสะเปาเป็นสีดำสลับขาว ส่วนตีนจกแบบอื่นจะนิยมสีดำ

ตีนจกฮอดและดอยเต่า นิยมจกด้วยผ้าฝ้ายเส้นใหญ่ สีสันสดใส ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดทรงป้อมๆ แต่ขนาดจะใหญ่กว่าแบบอื่น และช่วงจกก็มีขนาดกว้างกว่าแบบอื่นเช่นกัน

 

ซิ่นที่นิยมนุ่งมากที่สุดคือ ซิ่นตา และซิ่นตีนจก โดยผ้าซิ่นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และ ตีนซิ่น แล้วจึงนำมาประกอบเป็นซิ่น มีชื่อเรียกตามลักษณะการเย็บต่อกันแบบนี้ว่า “ซิ่นต่อตีนต่อแอว”

– หัวซิ่น คือส่วนที่อยู่ด้านบนสุด มักเป็นผ้าสองชิ้นมาเย็บต่อกัน นิยมสีแดงหรือสีน้ำตาล และสีขาว หรืออาจเป็นผ้าสีแดงหรือสีดำเพียงอย่างเดียว หัวซิ่นมักทำจากผ้าฝ้ายเนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสร่างกาย ผ้าฝ้ายจะช่วยลดการระคายเคือง และเมื่อทบผ้าหรือมัดผ้าที่เอวแล้วจะไม่หลุดง่าย

– ตัวซิ่น คือส่วนกลางของซิ่น นิยมทำลวดลายเป็นลายทางขวาง เรียกว่า “ลายตา” สลับสีเข้มสลับอ่อนหรือตามความต้องการหรือความชำนาญของช่างทอผ้า มีหลากสีสัน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือสีเหลือง

– ตีนซิ่น คือส่วนปลายของซิ่น เป็นส่วนที่จำแนกความแตกต่างระหว่างซิ่นตากับซิ่นตีนจก หากเป็นซิ่นตาจะเป็นผ้าทอสีแดงเข้ม สีดำ หรือสีน้ำตาล หากเป็นซิ่นตีนจก จะทอผ้าด้วยเทคนิคจกสลับสีเส้นไหม ไหมเงิน หรือไหมทองคำเป็นลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม

ปัจจุบัน สตรีล้านนาไม่นิยมนุ่งซิ่นในวิถีชีวิตประจำวัน เพราะไม่สะดวก แต่ยังคงมีการอนุรักษ์การนุ่งซิ่นมาโดยตลอด มีการนุ่งซิ่นในวาระสำคัญต่างๆ เช่น งานเฉลิมฉลอง หรืองานปอยหลวง งานแต่งงาน หรือวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา

อีกทั้งในระดับโรงเรียนก็มีการรณรงค์ให้นุ่งซิ่นหรือแต่งกายชุดล้านนาเป็นประจำอีกด้วย •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง