อุษาวิถี (35) บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (35)

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน (ต่อ)

 

ภายหลังยุคสมัยของสิทธัตถะพุทธเจ้าและขงจื่อไปแล้ว อินเดียยังคงยอมรับศาสนาพุทธในขณะที่ศาสนาพราหมณ์เองก็ยังทรงอิทธิพลอยู่ ตราบจนสิทธัตถะพุทธเจ้านิพพานไปแล้วกว่า 250 ปี ศาสนาพุทธจึงถูกยกให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับชีวิตในทางการเมืองของชนทุกชั้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยกษัตริย์อโศก และดูจะเป็นสมัยเดียวที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองที่สุด

ไล่หลังไปจากยุคของกษัตริย์อโศกอีกประมาณ 30 ปี ลัทธิขงจื่อก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่น หลังจากนั้นต่อมาก็ถูกพัฒนาให้กลายเป็นแนวทางการเมืองอย่างมั่นคงในระดับโครงสร้างเรื่อยมา

ผิดกับศาสนาพุทธ ที่หลังจากกษัตริย์อโศกไปแล้วก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลงไป และเปิดที่ทางให้กับการปรับตัวของศาสนาพราหมณ์ จนกลับมาทีบทบาทสำคัญในสังคมอินเดียได้อีกครั้งหนึ่ง และกลายเป็นรากฐานสำคัญแก่สังคมอินเดียมาจนปัจจุบันไม่ต่างกับลัทธิขงจื่อในสังคมจีน

ส่วนศาสนาพุทธนั้นกลับไปรุ่งเรืองยังต่างแดนในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับอินเดีย

จากนี้ไปจะเห็นได้ว่า การที่ศาสนาพุทธไม่อาจตั้งตนเป็นกระแสหลักอยู่ในสังคมอินเดียได้นั้น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ศาสนานี้ไม่มีบทบาทในทางการเมืองโดยตรง

และแทนที่จะนำไปสู่การเผยแผ่ศาสนธรรมอย่างเป็นเอกภาพ ก็กลับนำไปสู่การตีความหลักคำสอนไปต่างๆ นานา กระทั่งนำมาซึ่งสามัคคีเภทในที่สุด

ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์ซึ่งเสื่อมถอยในยุคพุทธกาลนั้น มีข้อได้เปรียบอยู่หลายด้าน เริ่มจากการเป็นหลักศาสนาที่ได้รับการยอมรับ และมีมาก่อนศาสนาพุทธมาช้านาน ครั้นเมื่อถึงคราวเสื่อมถอย รากฐานเดิมก็ไม่ได้ถูกทำลายลงไป

และในยามที่ศาสนาพุทธเสื่อมถอยลงไปนั้น ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ศาสนาพราหมณ์ได้ปรับตัวจนตั้งมั่นอยู่ได้ และปฏิบัติตนให้เป็นที่ยอมรับกันได้ในที่สุด

 

ในทางตรงกันข้าม ขงจื่อในจีนกลับไม่ใช่หลักคำสอนใหม่ที่ปราศจากรากที่มา หากแต่เป็นการสืบทอดและจัดระบบระเบียบหลักคำสอนในอดีตก่อนหน้านั้นโดยขงจื่อ

ด้วยเหตุนี้ แม้หลักคำสอนของขงจื่อจะไม่ได้รับการยอมรับในระยะสองสามร้อยปีแรกก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลาที่ถูกปฏิเสธนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจะมีแนวทางใดที่เหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ปัญหากลียุคได้

จนเมื่อได้รับการยอมรับในสมัยราชวงศ์ฮั่นไปแล้วนั้น ลัทธิขงจื่อก็แทบไม่ได้สะดุดหยุดลงอีกเลยก็ว่าได้ แม้จะมีบางสมัยที่ชนชั้นปกครองจีนจะสมาทานลัทธิเต้า และไม่ส่งเสริมลัทธิขงจื่อหรือแม้กระทั่งทำลายลัทธิขงจื่อก็ตาม แต่ก็เป็นไปในชั่วระยะสั้นๆ เท่านั้น

ลัทธิขงจื่อจึงเป็นหลักคำสอนหรือแนวคิดที่ตั้งตนอย่างโดดเด่นเป็นกระแสหลักมาได้โดยตลอด จนดูเสมือนกับไร้คู่เปรียบ

 

อย่างไรก็ตาม การที่ลัทธิขงจื่อตั้งมั่นอยู่ได้เช่นนั้น ยังมีสภาพแวดล้อมที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่แตกต่างไปจากอินเดียแทบจะสิ้นเชิง นั่นคือ การที่จีนเป็นรัฐที่ถูกคุกคามจากศัตรู “ต่างศาสนา” น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับอินเดีย

ศัตรูของจีนโดยมากแล้วเกิดจากชนชาติที่มิใช่จีน (Non-Han peoples) เวลาที่สู้รบกับจีน จีนจะชนะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยหากจีนไม่แพ้ จีนก็จะประนีประนอมกับชนชาติเหล่านี้

ที่สำคัญ ศัตรูเหล่านี้ของจีนไม่มีลัทธิหรือศาสนาที่เป็นของตนเอง ที่ยึดถือกันนั้นมักจะนำมาจากสังคมอื่นหรือไม่ก็เป็นลัทธิขงจื่อของจีนเอง

ผิดกับอินเดีย ที่หลังสมัยพุทธกาลไปแล้วมักจะได้รับผลกระทบจากรัฐที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นระยะ ผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่ละระยะก่อนั้นให้เกิดการทำลายล้างในทางลัทธิหรือศาสนาอย่างรุนแรง

ไม่เพียงเท่านั้น ครั้นเกิดความสงบขึ้นก็กลับปรากฏว่า เป็นความสงบที่ประกอบขึ้นโดยกลุ่มชนต่างศาสนา ต่างลัทธิ และต่างความเชื่อที่หลากหลาย ที่มาอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ การที่ศาสนาพราหมณ์ตั้งอยู่ได้ในอินเดียมาจนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งจึงมาจากการที่ศาสนาพราหมณ์ได้นำเอาส่วนดีของศาสนา ลัทธิ และนิกายอื่นๆ มาปรับใช้ จนกลายเป็นศาสนาที่มีความแปลกแยกในทางวัฒนธรรมน้อยมาก

นั่นคือ แม้จะมีการนับถือศาสนา ลัทธิ และนิกายที่ต่างกันในหมู่คนอินเดีย แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ในแง่วิถีชีวิตที่ดำรงอยู่นั้น มีส่วนของวัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์แทรกซึมเข้าไปไม่น้อย

 

ในขณะเดียวกันก็ไม่แปลกเช่นกัน ที่เมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิดที่แตกต่างกันขึ้นแล้ว การตอบโต้ระหว่างกลุ่มชนที่มีความคิดต่างกันจึงเป็นไปอย่างรุนแรง และคงเป็นเพราะเหตุนี้เอง ที่มีส่วนไม่น้อยในการทำให้อินเดียเป็นสังคมที่ระบอบประชาธิปไตยสามารถตั้งมั่นอยู่ได้

เพราะจะมีก็แต่ระบอบนี้เท่านั้นที่ยอมรับให้ความแตกต่างหลากหลาย (โดยเฉพาะความเชื่อ) สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะมีบ้างในบางครั้งที่ความแตกต่างนั้นนำมาซึ่งการปะทะกันด้วยกำลังที่รุนแรงก็ตาม

จากสภาพแวดล้อมทางการเมืองจากประวัติศาสตร์ที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า รากฐานความคิดทั้งของจีนและอินเดียต่างมีสภาพแวดล้อมทั้งที่คล้ายกันและต่างกัน

ครั้นเมื่อเกิดขึ้นและตั้งมั่นได้แล้ว ก็พยายามที่จะสนองตอบต่อการแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ได้ “หลุดพ้น” หรือ “ปลดปล่อย” ตนเองจากภัยพิบัติของกลียุค และจากประสบการณ์ที่มาจากสภาพแวดล้อมที่ว่านี้ ก็ได้ทำให้ทั้งอินเดียและจีนต่างมีรากฐานทางการเมืองของตนดำรงอยู่มาได้อย่างยาวนาน

 

ก. 2 สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ

“กลียุค” จัดเป็นช่วงที่อินเดียและจีนต่างมีเกษตรกรรมเป็นเศรษฐกิจพื้นฐาน โดยมีเศรษฐกิจหัตถกรรม การค้าขาย และอื่นๆ ที่เป็นการใช้แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนประกอบรองที่ทวีความสำคัญขึ้นอย่างช้าๆ

สิ่งที่อาจถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางเศรษฐกิจของยุคนี้ก็คือ การศึกสงครามที่เกิดขึ้นและสร้างความปั่นป่วนเสื่อมถอยไปทั่วนั้น ได้ผลักดันให้เกิดความต้องการในสินค้าบางอย่างเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนองตอบต่อความขาดแคลนในยามกลียุค

ด้วยเหตุนี้ พวกพ่อค้าซึ่งเป็นชนชั้นที่ไม่ค่อยได้รับความสำคัญมากนักเมื่อก่อนหน้านี้ ก็ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้ และความสำคัญที่ว่านี้มีที่น่าสังเกตว่า มีความต่างกันมากกว่าที่จะคล้ายกันระหว่างอินเดียกับจีน

ที่สำคัญ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการในยุคนั้น ยังได้ค่อยๆ ก่อรูปให้อุตสาหกรรมบางประเภทเกิดตามขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสัมฤทธิ์และโลหะอื่นๆ เช่น เหล็ก ซึ่งทั้งอินเดียและจีนได้แสดงผลต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจนี้

ทั้งในทางที่คล้ายกันและต่างกันเช่นเดียวกัน