จับตาเฟ้น ‘ครู-บิ๊ก ร.ร.’ สพฐ. งานแรกพิสูจน์ฝีมือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ

จับตาเฟ้น ‘ครู-บิ๊ก ร.ร.’ สพฐ.

งานแรกพิสูจน์ฝีมือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ

 

ผ่านไปแล้วสำหรับการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566

ซึ่งจัดสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 24 มิถุนายน และสอบภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยการจัดสอบครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกหลังมีการถ่ายโอนอำนาจบริหารงานบุคคล จากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กลับคืนให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการจัดสอบและออกข้อสอบเอง…

ซึ่งข้อดี คือเขตพื้นที่ฯ สามารถคัดเลือกครูที่มีคุณสมบัติได้ตรงตามที่ต้องการได้ แต่ก็ยังมีข้อห่วงใยในเรื่องการทุจริต ข้อสอบรั่ว ที่เคยเกิดเมื่อหลายปีก่อน!

การสอบครั้งนี้ มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เปิดสอบรวม 205 แห่ง ใน 63 กลุ่มวิชา ผู้มีสิทธิสอบรวม 169,595 คน เข้าสอบ 167,673 คน คิดเป็น 98.87% ขาดสอบ 1,922 คน คิดเป็น 1.13% มอบหมายให้มหาวิทยาลัย 10 แห่ง จัดสอบและออกข้อสอบตามกลุ่มจังหวัด

ดังนั้น ข้อสอบแต่ละกลุ่มจังหวัดจะไม่เหมือนกัน เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต รวมถึงยังมีการกำชับลงไปยังเขตพื้นที่ฯ ให้เข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันทุจริต ห้ามข้าราชการ ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ไปเกี่ยวข้องกับการจัดติวเพื่อสอบครูผู้ช่วย รวมถึงมีการตั้งกรรมการสืบในทางลับทั้งในระดับส่วนกลางและระดับเขตพื้นที่ฯ

ถึงขั้นก่อนสอบ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำชับผ่านการประชุมผู้บริหาร สพฐ. เตือนผู้เข้าสอบอย่าไปหลงเชื่อกลุ่มตกเบ็ด หลอกลวงว่าสามารถฝากเข้าเป็นครูผู้ช่วยได้ หากใครทราบเบาะแส หรือมีข้อมูล ให้แจ้งมาที่เขตพื้นที่ฯ หรือเบอร์ส่วนตัวของเลขาธิการ กพฐ.ทันที

 

แม้จะสั่งเฉียบขาดขณะนี้ แต่การสอบภาค ข เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้นจนได้

โดยทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุดรธานี จัดส่งข้อสอบผิดพลาดใน 3 เขตพื้นที่ฯ คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) หนองคาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หนองคาย เขต 2 และ สพม.บึงกาฬ ดังนั้น บิ๊ก กพฐ.จึงต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สั่งการให้มีการจัดสอบใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ยังมอบหมายให้ให้นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร (สพร.) ลงพื้นที่แก้ปัญหา และให้กำลังใจผู้เข้าสอบ

“ความผิดพลาดครั้งนี้เกิดจาก มรภ.อุดรธานี จัดส่งข้อสอบผิดพลาด โดยการสอบวันนี้ สพป.หนองคาย เขต 2 และ สพม.หนองคาย จะต้องสอบวิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป สพม.บึงกาฬ สอบวิชาภาษาจีน แต่ มรภ.อุดรธานี กลับจัดส่งวิชาเอกภาษาไทยมาให้ ทำให้ไม่สามารถจัดสอบได้ จึงต้องยกเลิกการสอบในวันนี้ไปก่อน และขอให้ มรภ.อุดรธานี ไปออกข้อสอบใหม่ เพื่อจัดสอบในวันที่ 26 มิถุนายน มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้จัดสอบ โดยจ้างมหาวิทยาลัย 10 แห่งในการออกข้อสอบ ซึ่งจะแบ่งตามคลัสเตอร์จังหวัด ดังนั้น ข้อสอบแต่ละกลุ่มจังหวัดจึงเป็นข้อสอบคนละชุด ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การจัดสอบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่กระจายอำนาจไปให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการ และประสานมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อออกข้อสอบ และจัดสอบ ดังนั้น แม้จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง ก็คงต้องให้กำลังใจกันต่อไป” นายอัมพรกล่าว

การเลื่อนสอบครั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 394 คน แบ่งเป็น สพม.หนองคาย 81 คน สพป.หนองคาย เขต 2 จำนวน 282 คน และ สพม.บึงกาฬ 31 คน โดย มรภ.อุดรธานีจะต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการออกข้อสอบใหม่ รวมถึงค่าที่พัก และค่าเดินทางของผู้เข้าสอบด้วย

แน่นอนว่า แม้จะแก้ปัญหาจัดสอบใหม่ โดยให้ มรภ.อุดรธานี ออกข้อสอบใหม่ เพื่อป้องกันข้อครหาข้อสอบรั่ว ซ้ำรอยปัญหาเดิมเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่า กระทบต่อความรู้สึกผู้เข้าสอบ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางขณะที่บางรายต้องหาที่พัก ลางานเพิ่ม

ยังไม่ร่วมถึงสมาธิในการจัดสอบ เพราะการจัดสอบในวันจันทร์ ซึ่งสนามสอบที่ใช้คือโรงเรียนที่ต้องเปิดให้เด็กเข้าเรียนได้ตามปกติ อาจไม่สะดวก ทำให้ผู้เข้าสอบเสียสมาธิ ขณะเดียวกันยังมีเสียงสะท้อนออกมาว่า ข้อสอบยากเกินไป!

 

เลขาธิการ กพฐ.ระบุว่า การจัดสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปครั้งนี้ ได้มีเงื่อนไขผูกมัดจากเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นในการออกข้อสอบ ซึ่ง สพฐ.ก็พยายามทำอย่างดีที่สุด เพื่อให้เราได้ครูตรงกับความต้องการ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่

ส่วนประเด็นเสียงสะท้อนจากผู้เข้าสอบถึงความยากง่ายของข้อสอบในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์นั้น ตนไม่อยากให้คิดเช่นนั้น ให้รอประกาศผลสอบออกมาก่อน จากนั้น สพฐ.จะมาวิเคราะห์ข้อสอบอีกครั้งว่า ข้อสอบของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์มีความยากง่ายจริงหรือไม่ รวมถึงมีผู้ผ่านการสอบและไม่ผ่านการสอบกี่เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น เมื่อผลสอบออกมาเป็นอย่างไร เราจะวางแผนแก้ปัญหา และในการสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปในปีหน้า เชื่อว่าข้อสอบจะมีมาตรฐานกลางที่มีความเหมาะสมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม คงต้องลุ้นให้ผลการจัดสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ราบรื่นไม่มีปัญหาปูดเพิ่มขึ้นมาอีก เพื่อให้เขตพื้นที่ฯ สามารถบรรจุครูผู้ช่วยทดแทนอัตราว่างได้ทันภายในเดือนกรกฎาคม

เพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาในภาพรวม…

 

โดยหลังสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ยังมีการสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) และการสอบผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน อีกมากกว่า 4,000 อัตรา ที่ต้องจับตามอง

ครั้งนี้มีการเสนอหลักเกณฑ์พิเศษในการคัดเลือก ผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่ค่อยมีผู้สมัคร โดยจะเปิดให้คัดเลือกในลักษณะพิเศษ อาทิ ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ หรือประเมินจากแฟ้มสะสมงาน เป็นต้น แต่จะเพิ่มเงื่อนไขพิเศษ เช่น จะต้องเป็นผู้บริหารในโรงเรียนที่บรรจุแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนห่างไกลไม่มีผู้บริหารโรงเรียน

นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เผยว่า การคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนกรณีพิเศษ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งในพื้นที่ห่างไกล เคยทำมาแล้วในช่วงปี 2558-2559 แต่ต้องยกเลิกไป เนื่องจากมีการปรับโครงสร้าง โอนอำนาจการบริหารงานบุคคลไปให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สพฐ.จึงเสนอหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียนห่างไกลให้ ก.ค.ศ.พิจารณา

ส่วนตัวเข้าใจว่าไม่มีใครอยากไปบรรจุในพื้นที่ห่างไกล ที่ผ่านมาจึงมีคนสมัครน้อย โดยครั้งนี้อาจมีการเพิ่มแรงจูงใจ อาทิ ให้สิทธิพิเศษในการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เป็นต้น ทั้งนี้ หากคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบ จะเริ่มใช้ในการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ในเดือนกันยายนนี้ทันที

ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการจัดสอบครู และผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ของ สพฐ. ครั้งใหญ่ ซึ่งคงต้องจับตาว่า จะมีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ •

 

| การศึกษา