33 ปี ชีวิตสีกากี (26) | แทบเผาตำราทิ้ง เมื่อผบ.ตร.บางยุคพูดว่า “ตร.ต้องหาอาชีพเสริม”

ต้องเผาตำราทิ้ง

ควบคู่ไปกับการเรียนการพิมพ์ลายนิ้วมือ คือ วิชาการทะเบียนประวัติอาชญากร ที่มีหัวหน้ากองทะเบียนประวัติอาชญากรในขณะนั้น พล.ต.ต.เชวง แก้วไชโย เป็นหัวหน้าคณะอาจารย์

ซึ่งทีมอาจารย์ประกอบไปด้วย พ.ต.อ. (พิเศษ) ชวลิต มนตรีวัต รอง หน.ทว., พ.ต.ท.เกื้ออนันต์ ปัจฉิมสวัสดิ์ รอง ผกก.ทว., พ.ต.ต.วงศ์สะวัต กายวิภาคบรรยาย, ร.ต.อ.ธำรง แก้วแดง

พล.ต.ต.เชวงได้พูดในชั้นเรียนไว้ว่า ตำรวจ คือ สัญลักษณ์แห่งความเป็นธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแห่งสังคม และยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม (Crime Factors) ไม่ว่าอาชญากรจะเกิด ณ ที่แห่งใดในโลก

โดยสรุปมีปัจจัยสำคัญดังนี้

1. ขนาด ความหนาแน่นของชุมชน สิ่งแวดล้อม

2. โครงสร้างของสังคม ของชุมชนนั้น ประกอบไปด้วยคนกลุ่มใด จำพวกใด มีความผันแปรไปในทางใด

3. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน ความมีวินัย ความเคารพนับถือกฎหมาย

4. สภาพเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ

5. วัฒนธรรมของสังคม ประชาชนมีการศึกษา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหรือไม่ อุปนิสัยใจคอ และศาสนาลัทธิ

6. สภาพภูมิศาสตร์

7. ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย

8. การบริหารงานขององค์การของรัฐ

9. บทบาทของกระบวนการยุติธรรม

10. ทัศนคติต่อคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้น

11. การรายงานผล คดี หรือเหตุการณ์ร้ายแรงให้ประชาชนทราบ เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่นปลอดภัย

และเรียนรู้วิวัฒนาการของคนร้าย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าในรูปแบบใด

การบรรยายของอาจารย์ในเวลานั้น ผมได้แต่ฟังและจดตามคำบรรยาย ยังไม่รู้ถึงความซับซ้อนของสังคมที่จะต้องไปทำงาน ว่ามันมีความยุ่งยากขนาดไหน แล้วแต่ละอย่างตามหัวข้อที่สอนมาจะไปปรับใช้อย่างไร เมื่อผมยังไม่มีประสบการณ์จริงในการทำงาน จึงยังนึกภาพไม่ออก

ต่อมาเมื่อมาทำงาน และมาทบทวนสิ่งที่ได้รับในชั้นเรียนนั้นจึงรู้สึกถึงคุณค่าที่อาจารย์สอนไว้จริงๆ

 

การที่ตำรวจต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และบางครั้งอาจจะทำงานลักษณะเดียวกันเลยแต่เพราะกฎหมายกำหนดให้ตำรวจต้องทำแทน จึงต้องเรียนวิชานี้ นั่นคือ วิชาทหาร และชั่วโมงเรียนไม่น้อยเลย ต้องศึกษารายละเอียด วิชาการทหาร ว่าด้วยคุณลักษณะของทหารราบ ขีดความสามารถของทหารราบเป็นอย่างไร การจัดหน่วยทหารราบ จัดอย่างไรให้อยู่ในสภาพพร้อมรบโดยสมบูรณ์

เรียนรู้การจัดหมวดปืนเล็ก ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บก.มว. เป็นส่วนบังคับบัญชา หมู่ ปล. เป็นส่วนดำเนินกลยุทธ์ และหมู่ ปกบ. เป็นส่วนยิงสนับสนุน เป็นต้น เพราะอนาคต หลายคนอาจจะไปทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวดตำรวจตระเวนชายแดน

นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ประหยัด หงษ์ทองคำ เป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครอง ทั้งภาคที่เกี่ยวกับหลักทั่วไปของกฎหมายปกครอง และภาคที่สอง ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

อาจารย์ประหยัดได้แยกองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นรัฐไว้ 4 ประการ คือ

1. มีดินแดน (TERRITORIAL) จะต้องมีดินแดนที่แน่นอน มีการปักปันเขตแดน ดินแดนของแต่ละรัฐ จะไม่มีการกำหนดเขตแดนว่าจะมีพื้นที่เท่าใดแน่นอนตายตัว คือ จะใหญ่หรือเล็กเท่าใดก็ได้

2. ประชากร (POPULATION) รัฐต้องมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้น ประชากรแบ่งเป็น จำนวนประชากร ซึ่งไม่มีข้อกำหนด แต่ควรจะมีมากพอที่จะทำหน้าที่ของรัฐได้และสามารถรักษารัฐได้ เชื้อชาติของประชากร บางพวกเป็นสมาชิกของรัฐ (Citizen- พลเมือง) ในหมู่ประชากร เรียกพวกนี้ว่า พลเมือง อีกพวกเรียก ethnic groups พวกชาวเขา พวกเผ่าชน คือ ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ ชนกลุ่มน้อยบางพวกเป็นประชากรไทย เช่น กลุ่มชนชาวมุสลิมในทางภาคใต้ อีกพวกคือคนต่างด้าว aliens คือ ไม่ได้อยู่ในประเทศมาตั้งแต่เกิด มีสิทธิและหน้าที่บางประการ

3. อธิปไตย (SOVEREIGNTY) เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งหมายถึง ความเป็นเอกราชของรัฐ ถ้าหากขาดความเป็นเอกราช ถือว่าสิ้นสภาพความเป็นรัฐ

4. รัฐบาล (GOVERNMENT) มีการปกครองอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งทำหน้าที่กำหนดบุคคลต่างๆ ใครมีหน้าที่ทำอะไร ปฏิบัติต่อกันอย่างไร ดังนั้น ความเป็นรัฐจึงเป็นการอยู่ของชุมชนที่อยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบ

วิชากฎหมายปกครอง ทำให้ผมเข้าใจระบบการปกครองทั่วโลกมีระบบอย่างไร และประเทศไทยปกครองในระบบอะไร

ในปัจจุบันผมค่อนข้างเข้าใจมากทีเดียว และบางอย่างอาจารย์ก็สอนในแบบฉบับที่จะสอนได้เท่านั้น

ลึกจนทะลุฟ้า เหมือนในปัจจุบัน คงจะทำไม่ได้

 

ผมจำได้เสมอเมื่ออาจารย์สอนในชั้นเรียน

พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายถึง บุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ไม่ว่าการปฏิบัติงานนั้นๆ จะมีลักษณะเป็นการประจำหรือครั้งคราว และผู้ปฏิบัติจะได้รับประโยชน์ตอบแทนเพื่อการปฏิบัติงานนั้นๆ หรือไม่ เช่น พนักงานเทศบาล สุขาภิบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เหล่านี้ล้วนเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสิ้น

ข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปฏิบัติงานทางด้านการปกครองประเทศ ซึ่งมีความผูกพันกับรัฐบาลในฐานะผู้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบายของรัฐบาล และเป็นผู้ติดต่อกับประชาชนพลเมืองโดยตรง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ประโยชน์ตอบแทนเหล่านี้ไว้ด้วย การให้เงินเดือนตอบแทนเป็นประจำ ทั้งนี้เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องอุทิศเวลาเป็นส่วนมากให้กับงานของรัฐ ไม่มีวันที่จะไปประกอบธุรกิจอื่น เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง

งานที่ปฏิบัติมีลักษณะเป็นงานประจำต่อเนื่อง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงานประกอบกันไปด้วย

การปฏิบัติหน้าที่ราชการ ของข้าราชการตำรวจย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ที่ประพฤติผิดกฎหมาย ยิ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาขัดขืนหรือกระทำเพื่อขัดขวางการจับกุมด้วยแล้ว ตำรวจจำเป็นต้องใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็ยิ่งแสดงการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วๆ ไปแล้ว ผู้กระทำผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุผิดพ้องหมองใจกันมาแต่ก่อน

การปฏิบัติแก่ผู้ต้องหาโดยละมุนละม่อม และแสดงการปราณีต่อผู้ต้องหาอย่างจริงใจ ย่อมจะเป็นอุบายชักจูงใจของผู้ต้องหาให้อ่อนลง หรือละพยศลงได้บ้าง ไม่มากก็น้อย หรือให้เลิกกระทำผิดกฎหมายต่อไปก็ได้

โดยถือหลักว่า หน้าที่เท่านั้นที่ขัดกัน แต่จิตใจเท่านั้นหาได้เป็นศัตรูต่อกันไม่

 

คําบรรยายของอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจในยุคนั้น เมื่อผมมาทำงานแล้ว แตกต่างจาก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้ปล่าวประกาศกับตำรวจทั้งประเทศต่างกันโดยสิ้นเชิง

เรียกว่าเผาตำราทิ้งกันไปเลย

เพราะ ผบ.ตร.บางยุคพูดว่า ตำรวจต้องหาอาชีพเสริม เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ คือ ผมอุตส่าห์เรียนวิชาตำรวจเพื่อมาทำหน้าที่ตำรวจอาชีพปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่ผมไม่สามารถนำวิชาความรู้เหล่านี้มาหาเลี้ยงชีพตัวเองให้เพียงพอได้ ต้องหาอาชีพเสริม

มันตลกแต่ไม่ขำ ที่มันขัดกับหลักการเป็นอย่างมาก

ทำไมผู้นำตำรวจจึงไม่แก้ไข และหาทางทำให้ตำรวจเป็นอาชีพได้จริงๆ

จนครั้งหนึ่ง เรามี ผบ.ตร.ไซด์ไลน์ และรวยมากด้วย และยังจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเสียด้วย

ผมจะขอหยุดแค่นี้ไว้ก่อน เพราะถ้าวิจารณ์มาก เกรงว่าจะไม่ได้เขียนต่อไป

ในเวลานั้นในชั้นเรียนมีการเรียนประมวลกฎหมายอาญา โดยมีอาจารย์ที่มาบรรยายคือ ผศ.พรชัย สุนทรพันธ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์สมถวิล อุดมรัตน์ ซึ่งเป็นอัยการพิเศษ ประจำกรม กองคดีฎีกา กรมอัยการ มีชั่วโมงเรียน ถึง 4 ชั่วโมงในสัปดาห์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีก 2 ชั่วโมงในสัปดาห์ สอนโดย พ.ต.อ.สุวัณชัย ใจหาญ

เมื่อเรียนกฎหมายแล้ว นักเรียนนายร้อยตำรวจต้องเรียนรู้กฎหมายลักษณะพยาน ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ต้องพยายามให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อทำงานจะได้ไม่ผิดพลาด

ผมพยายามตั้งใจเรียนวิชากฎหมายให้เข้าใจทั้งตัวบทและฎีกาต่างๆ รวมทั้งซื้อตำรามาอ่านเพิ่มเติมหลายเล่ม