เทคโนโลยี 2023 ที่พร้อมเปลี่ยนอนาคต

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

เทคโนโลยี 2023

ที่พร้อมเปลี่ยนอนาคต

 

ปี 2023 นับเป็นอีกปีที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายอย่าง

ตอนนี้ผ่านไปได้กว่าครึ่งปี World Economic Forum ได้เลือกหยิบเทคโนโลยี 10 อย่างที่ถือเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น มีตั้งแต่เทคโนโลยีด้านชีวภาพไปจนถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต

เทคโนโลยีสวมใส่ได้หรือแวร์เอเบิลกลายเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้มนุษย์ในหลายรูปแบบ

แต่เทคโนโลยีแวร์เอเบิลที่ WEF หยิบมาสรรเสริญไม่ใช่แวร์เอเบิลสำหรับคน แต่เป็นแวร์เอเบิลสำหรับพืชโดยเฉพาะ

เราควบคุมคุณภาพของพืชผลทางการเกษตรด้วยการทดสอบดินและใช้วิธีสังเกตด้วยตาเปล่าเป็นหลักแต่ทั้งสองแบบถือเป็นวิธีที่ต้นทุนสูงและใช้เวลาเยอะ

ช่วงหลังๆ มานี้จึงมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพื่อทำให้เราดูแลพืชที่เราปลูกได้ดีขึ้น อย่างเช่น การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งก็ได้มีการพัฒนาไปจนถึงโดรนที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ แทร็กเตอร์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลได้ ไปจนถึงแวร์เอเบิลสำหรับพืช

แวร์เอเบิลสำหรับคนมักจะมาในรูปแบบของสิ่งที่เราสวมใส่ได้ง่ายๆ อย่างนาฬิกา แหวน หรือแว่นตา ส่วนแวร์เอเบิลสำหรับพืชก็เป็นเซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่สวมเข้ากับพืชได้เลย

บริษัทอย่าง Growvera และ Phytech พัฒนาแวร์เอเบิลพืชให้อยู่ในรูปแบบของเซ็นเซอร์เข็มขนาดเล็กจิ๋วที่สอดเข้าไปในใบหรือลำต้นได้แบบที่ไม่ต้องรบกวนพืช สามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น และระดับสารอาหารได้ นับเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาก

แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่นราคาที่ค่อนข้างสูง และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลให้ก่อน ชาวไร่ชาวสวนจึงจะสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อได้

 

ดีไวซ์ใหม่ๆ มีเทรนด์การพัฒนาให้เป็นไปในแบบที่ยืดหยุ่นได้ อย่างเช่น สมาร์ตโฟนจอพับ คอมพิวเตอร์จอม้วน หรือเสื้อผ้าแบบสมาร์ตซึ่งต้องการความยืดหยุ่นสูง แบตเตอรี่ที่ให้พลังงานดีไวซ์เหล่านี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยืดหยุ่นได้ด้วยเหมือนกัน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ WEF เลือกมาสำหรับปีนี้

แบตเตอรี่ยืดหยุ่นได้ทำจากวัตถุน้ำหนักเบา บิดได้ งอได้ ยืดได้ หลายบริษัทกำลังตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาแบตเตอรี่แบบนี้ให้พร้อมวางขายในตลาดทั่วไป ซึ่งในที่สุดก็จะเปลี่ยนและยกระดับมาตรฐานของแบตเตอรี่ไปเลย

เราก็จะได้เห็นอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทนขึ้น และฉันคิดว่าเราก็จะเห็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เกิดขึ้นกับดีไวซ์หลากหลายประเภทด้วย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางด้านสุขภาพจิตในช่วงเวลาพร้อมๆ กันจนปริมาณของแพทย์ที่ให้การรักษาได้มีไม่เพียงพอ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้การเข้ารับการรักษาทางสุขภาพจิตบนเมตาเวิร์สได้รับความสนใจและถูกมองว่าจะเข้ามาช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ได้พอดี

WEF บอกว่าเมตาเวิร์สที่พัฒนามาถึงจุดที่อยู่ตัวแล้วจะช่วยเชื่อมโยงสังคมและอารมณ์ของคนที่อยู่ห่างไกลเข้าหากันได้ หลายบริษัทกำลังพัฒนาให้เมตาเวิร์สที่ช่วยเยียวยาสุขภาพจิตได้มีรูปแบบใกล้เคียงกับเกมมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คนมักจะมองปัญหาด้านสุขภาพจิตในแง่ไม่ดี

ความก้าวหน้าของอุปกรณ์สวมศีรษะก็อาจจะทำให้เราสามารถบำบัดสุขภาพจิตได้ด้วยการใช้อิเล็กโทรดในการวัดค่าอารมณ์และปรับเพลงให้เหมาะสมกับอารมณ์ หรือในที่สุดก็อาจจะไปไกลถึงขั้นเชื่อมต่อเมตาเวิร์สเข้ากับเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าได้

 

อีกเทคโนโลยีที่ WEF เลือกมาคือการใช้คอมพิวเตอร์แบบยั่งยืน

ทุกๆ ครั้งที่เราใช้งานอินเตอร์เน็ต อย่างการเสิร์ช Google ส่งอีเมล หรือใช้ AI ซึ่งปริมาณการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเชื่อมต่อเข้ากับดาต้าเซ็นเตอร์ซึ่งใช้พลังงานราว 1 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ทั่วโลก ตัวเลขนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เราจะเห็นเทรนด์ว่าตอนนี้บริษัทใหญ่ๆ ต่างก็มุ่งเป้าที่จะไปถึง Net Zero ให้ได้

ซึ่งการจะทำให้ได้ตามเป้าก็ต้องใช้เทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามาช่วย อย่างเช่น ระบบทำความเย็นที่แจกจ่ายความร้อนไปใช้ประโยชน์ที่อื่น แบบที่ในสตอกโฮล์มมีการใช้ความร้อนจากดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อไปให้ความอบอุ่นในบ้านเรือนของคน เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ AI เข้ามาช่วย อย่างการช่วยคำนวณว่าความร้อนที่ออกมาจากดาต้า เซ็นเตอร์ จะเอาไปทำอะไรได้บ้าง

DeepMind ของ Google ใช้ AI มาช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานจนทำให้สามารถลดการใช้พลังงานในดาต้าเซ็นเตอร์ของ Google ไปได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

ปี 2023 เรายังได้เห็นรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ในหลายประเทศเลือกใช้ AI มาช่วยลดระยะเวลาการรอของผู้ป่วยด้วย อย่างเช่น อินเดียที่มีจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน รัฐบาลอินเดียเลือกใช้ AI มาช่วยบริหารจัดการเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงมากขึ้นและลดระยะเวลาการรอให้เหลือสั้นลง

เรื่องเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะก็ได้รับเลือกเช่นกัน หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นยานพาหนะหลายรูปแบบมีความ ‘กรีน’ มากขึ้น เราเห็นรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า เพิ่มจำนวนขึ้นตามท้องถนน แต่ยานพาหนะที่ยังคงสูบพลังงานอย่างหนักหน่วง ปล่อยคาร์บอนอย่างหนักหน่วง และดูท่าจะ ‘กรีน’ ไม่ได้ง่ายอย่างใครเขาก็คือเครื่องบิน

WEF ยกให้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในปีนี้ ตอนนี้เชื้อเพลิง SAF คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานเครื่องบินเจ็ตทั่วโลก แต่ WEF บอกว่าจะต้องเพิ่มขึ้นมาให้ถึง 13-15 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2040 ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นได้ก็จะต้องมีการสร้างโรงงานผลิต SAF เพิ่มขึ้น 300-400 แห่ง

ผู้ผลิตและบริษัทเชื้อเพลิงต่างก็กำลังเร่งมือช่วยกันทำให้การเติบโตในระดับนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

 

นอกจากเทคโนโลยีทั้งหมดที่ได้กล่าวไปก็ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับชีวภาพ อย่างเช่น เฟจ (Phage) หรือไวรัสกินแบคทีเรีย ที่ใช้เพื่อรักษาโรคให้มนุษย์และช่วยรับมือปัญหาแบคทีเรียดื้อยา หรือเทคโนโลยีอ่านคลื่นสมองแบบนิ่มและยืดหยุ่นที่ช่วยทำให้เราเข้าใจการทำงานของสมองและโรคทางสมองได้ดีขึ้น

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เคยได้รับเลือกจาก WEF มาแล้วก็อย่างเช่น CRISPR-Cas9 เครื่องมือที่ใช้ตัดแต่งจีโนมที่หลังจากนั้น 5 ปีก็ได้รับรางวัลโนเบล และในตอนนี้ก็ใช้เพื่อสร้างแมลงและพันธุ์พืชทางการเกษตรที่อดทนต่อภัยแล้งและสภาพสิ่งแวดล้อมที่โหดร้ายในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกได้

เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินก็คือจะต้องมีประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ สร้างความเปลี่ยนแปลง ดึงดูดนักลงทุนและนักวิจัย

และไม่ใช่มาแล้วไปหรือหยุดนิ่ง แต่จะต้องเติบโตแบบสเกลได้ภายในห้าปีด้วย