ผูกข้อต่อแขน สู่ขวัญหลายพันปี | สุจิตต์ วงษ์เทศ

สู่ขวัญ (ทำขวัญ) ตามประเพณี โดยเฉพาะที่เป็นพิธีส่วนบุคคลซึ่งพบทั่วไป เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายต้องมีผูกข้อมือด้วยเส้นฝ้ายหรือด้ายดิบ ถ้าผู้ผูกข้อมือมีหลายคน เส้นฝ้าย-ด้ายดิบก็มีหลายเส้นซ้อนกันเป็นแผง ตั้งแต่ข้อมือถึงแขนหรือข้อศอก จึงมีคำเรียกในวัฒนธรรมลาวว่า “ผูกข้อต่อแขน” หมายถึงผูกข้อมือล้นถึงแขน ซึ่งพบเก่าสุดขณะนี้ราว 2,500 ปีมาแล้ว ดังนี้

(1.) พิธีสู่ขวัญเป็นความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี พบทั่วไปในอุษาคเนย์มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว (2.) เส้นฝ้ายหรือด้ายดิบใช้ผูกข้อมือ เป็นอย่างเดียวกับฝ้ายที่ใช้ทอผ้าซึ่งพบเศษผ้าในหลุมฝังศพราว 2,500 ปีมาแล้ว

สายขวัญ เส้นฝ้ายหรือด้ายดิบที่ผูกข้อมือเป็นสัญลักษณ์ของสายขวัญ คือสายคล้องขวัญของคนเข้าด้วยกันให้สิงร่างอย่างมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยไม่หลุดหายจากร่างทั้งนี้ มีเหตุจากความเชื่อว่าแต่ละคนมีขวัญมากกว่าหนึ่ง ซึ่งในบางกลุ่มชนเชื่อว่าแต่ละคนมีขวัญรวมมากกว่า 80 อยู่ข้างหน้า 50 อยู่ข้างหลัง 30

ขวัญและสายขวัญ สัญลักษณ์ชนชั้นนำ (ซ้าย) โครงกระดูก 2,500 ปีมาแล้ว ที่ข้อมือขวาสวมกำไลขอบหยักๆ ขุดพบที่บ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี
วัตถุคล้ายกำไลมีขอบหยักๆ ทำจากกระดองเต่า หรือกระดองตะพาบ และหิน (ควอทไซท์?) ขุดพบที่บ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี (ภาพจากหนังสือ ราชบุรี กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2534 หน้า 70)
ดินเผาคล้ายกำไลมีขอบหยักๆ ขุดพบที่อีสาน (ไม่รู้รายละเอียด)

ขวัญรูปร่างทรงกลมมีแฉกเหมือนโคนเส้นผมบนกลางกระหม่อมของคน (ซ้าย) ปุ่มนูนมีหลายแฉกเป็นรูปจอมขวัญ อยู่กึ่งกลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว [ภาพกลองทอง (มโหระทึก) พบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร]
ขวัญสำคัญที่สุดของทุกคนเรียกจอมขวัญ ซึ่งสิงในกะโหลกบนหัวกบาลตรงกลางกระหม่อมบริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย เป็นต้นแบบปุ่มนูนมีแฉกบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) และลายมีแฉกหม้อบ้านเชียง

ขวัญไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, อาคารสถานที่ เป็นต้น

แต่จินตนาการของคนหลายพันปีมาแล้ว ขวัญรูปร่างกลม หรือกลมรี มีหลายระดับชนชั้นนำ ขวัญทรงกลม มีหยักเป็นแฉกหลายแฉก ทำด้วยวัตถุมีค่า เครือญาติชนชั้นนำ ขวัญทรงกลมเกลี้ยงๆ (ไม่มีหยัก) ทำด้วยโลหะ หรือดินเผา

ขวัญรูปกลมมีขอบเป็นหยักๆ ในจินตนาการของคนดึกดำบรรพ์ 2,500 ปีมาแล้ว พบมากบนลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียง (ลายเส้นจากหนังสือ วัฒนธรรมบ้านเชียง โดย ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2515)
ขวัญรูปกลมมีขอบเป็นหยักๆ ในจินตนาการของคนดึกดำบรรพ์ 2,500 ปีมาแล้ว พบมากบนลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียง (ลายเส้นจากหนังสือ วัฒนธรรมบ้านเชียง โดย ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2515)

 

หลังความตาย

พิธีกรรมหลังความตายเป็นไปตามความเชื่อว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย เพราะขวัญยังเคลื่อนไหวตามปกติเหมือนไม่ตาย แต่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ดังนั้น พิธีกรรมหลังความตายมี 2 ระดับ คือ ระดับชาวบ้านกับระดับชนชั้นนำ

(1.) ระดับชาวบ้านทั่วไป เมื่อมีคนตายไม่ฝังดิน เพราะไม่มีสมบัติสิ่งของมีค่า จึงมีพิธีทำขวัญคนตายอย่างง่ายๆ แล้วเอาศพให้แร้งกาจิกกิน เพราะแร้งกามีปีกบินได้จะนำพาขวัญของคนตายไปสู่ที่ปลอดภัย

(2.) ระดับชนชั้นนำ หัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูลชนชั้นนำซึ่งมีบ่าวไพร่บริวาร จึงมีพิธีกรรมหลังความตายใหญ่โตอลังการ ได้แก่ ฝังศพลานกลางบ้านและสร้าง “เฮือนแฮ้ว” คร่อมหลุมฝังศพเป็นที่ให้ขวัญสิงสู่อยู่อาศัย, ดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเรียกขวัญ และส่งขวัญขึ้นฟ้าเพื่อรวมพลังเป็นผีฟ้า เป็นต้น

ผูกข้อมือด้วยเส้นฝ้าย-ด้ายดิบ พิธีสู่ขวัญครูสุรินทร์ ภาคสิริ ครูเพลงอาวุโส ที่นครราชสีมา พ.ศ.2560 (ภาพและคำอธิบายโดย ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ร้อยเอ็ด)

 

หลุมศพชนชั้นนำ

หลุมศพชนชั้นนำ นอกจากร่างคนตายแล้ว ยังมีสิ่งของมีค่ากับสัญลักษณ์สายขวัญ ฝังรวมด้วย

(1.) สิ่งของมีค่า ชนชั้นนำเมื่อยังไม่ตาย มีเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเป็นของมีค่าซึ่งมีเทคโนโลยีสูง ครั้นตายไปก็เอาสิ่งของเหล่านั้นฝังรวมกับศพด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อว่าขวัญไม่ตาย แต่มีวิถีปกติ เพียงจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น และต้องมีสิ่งของเครื่องใช้ปกติเหมือนยังไม่ตาย

หญิงเผ่าละเวนในลาว สวมกำไลหลายวงซ้อนเป็นแผงเต็มแขน [ภาพโดยชาวยุโรป เมื่อ พ.ศ.2453 (ค.ศ.1910)]
สายขวัญของชนชั้นนำทำด้วยโลหะ แต่ของชาวบ้านทำจากเส้นฝ้าย-ด้ายดิบ

(2.) สัญลักษณ์สายขวัญ ทำจากวัสดุมีค่า เช่น กระดองเต่า, กระดองตะพาบ, หินหายาก, โลหะ เป็นต้น มีทั้งทรงกลมมีขอบเป็นหยักๆ และทรงกลมรูปกำไลไม่มีหยัก แล้วสวมข้อมือหรือข้อเท้าคนตาย เสมือนผูกข้อมือในพิธีสู่ขวัญปกติเพื่อเชิญขวัญสิงร่างคนตายจะได้ฟื้นคืนชีวิต

อีกแบบหนึ่งของสัญลักษณ์สายขวัญ ได้แก่ วัตถุทรงกลมแบน มีขอบนอกเป็นหยัก (คล้ายกงจักร) แล้วเจาะกลางกลวงกว้าง (คล้ายกำไล) ขุดพบสภาพเดิมคล้องข้อมือข้างขวาของโครงกระดูกศพมนุษย์ 2 โครง ซึ่งฝังดินราว 2,500 ปีมาแล้ว บริเวณที่ราบลุ่มต่ำบ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี [จากรายงาน “การฏิบัติงานขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีที่โคกพลับ จังหวัดราชบุรี” ของ สด แดงเอียด พิมพ์ในนิตยสาร ศิลปากร (ปีที่ 22 เล่มที่ 4) พ.ศ.2521 หน้า 22-30] •