A Cowboy in Paris

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

A Cowboy in Paris

 

เรเน่ กอสซินนี่ ( René Goscinny 1926 – 1977) ผู้เขียนหนูน้อยนิโคลาส (Le Petit Nicolas) กับแอสเตอริกซ์ (Asterix) เคยร่วมงานกับนักเขียนนักวาดชาวเบลเยี่ยม มอริส (Moris) สร้างงานมีชื่อเสียงอีกเรื่องหนึ่งคือ ลัคกี้ ลุค (Lucky Luke)

Maurice De Bevere (1923 -2001) ใช้ชื่อมอริสเขียนลัคกี้ ลุคตั้งแต่ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเพียงปีเดียว ก็ไม่น่าเชื่อว่าชาวเบลเยี่ยมจะเขียนการ์ตูนคาวบอยตะวันตกได้ดังระเบิด ตัวร้ายประจำเรื่องคือพี่น้องดาลตันซึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องปล้นธนาคารระหว่างปี 1890-1892

มอริสร่วมงานกับกอสซินนี่เป็นเวลานานถึงยี่สิบกว่าปีระหว่างปี1955-1977 สองคนเขียนลัคกี้ ลุคมากกว่าสี่สิบเรื่อง หลังจากนั้นมอริสทำงานร่วมกับนักเขียนคนอื่นอีกจนกระทั่งถึงแก่กรรมจึงมีทีมใหม่เข้ามาเขียนต่อ ถึงวันนี้มีลัคกี้ ลุคมากกว่า 80 เล่ม หากนับเล่มพิเศษต่างๆ นานาด้วยก็จะมากกว่า 90 เล่ม ตอนที่จะเล่าให้ฟังวันนี้เป็นเล่มที่ 71 A Cowboy in Paris

ผมเดินทางไปกอลมาร์ (Colmar) แคว้นอัลซาส ทางตะวันออกของปารีสเมื่อเดือนที่แล้ว ไปพบเห็นอนุสาวรีย์ของผู้สร้างเทพีเสรีภาพ คือ Frédéric Auguste Bartholdi (1834-1904) ตั้งเด่นเป็นสง่าอย่างงดงามในสวนสาธารณะใกล้ๆ สถานีรถไฟกอลมาร์ บนพื้นถนนหนทางหลายสายของกอลมาร์จะมีหมุดสามเหลี่ยมลักรูปเทพีเสรีภาพชี้ทางมาที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ ที่แท้บาร์โทลดีเกิดที่กอลมาร์นี้เอง

จึงซื้อตั๋วเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์บารโทลดีซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของกอลมาร์ เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่ทำได้ดี สวยงาม กะทัดรัด ดูง่าย มีรูปจำลองกระบวนการสร้างเทพีเสรีภาพและรูปถ่ายสมัยเก่าให้ตกตะลึงหลายรูป ที่ตกตะลึงมากที่สุดคือขนาดของใบหูและขนาดของศีรษะเทพีเมื่อเทียบกับตัวคน รวมทั้งกระบวนการขนย้ายขึ้นเรือไปนิวยอร์คเมื่อปี 1885

ที่ชอบมากที่สุดคือรูปการ์ตูนลัคกี้ ลุคกับเทพีเสรีภาพขนาดใหญ่บนผนัง จึงได้รู้ว่ามีหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ด้วย ชื่อเรื่องบอกว่าคาวบอยไปปารีส มิใช่แค่เรื่องเทพีมาอเมริกาเท่านั้น

ร้านขายของในพิพิธภัณฑ์มีลัคกี้ ลุคฉบับนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส จึงซื้อฉบับภาษาอังกฤษจากอะมาซอนมาอ่าน Cowboy in Paris (Un cow-boy ? Paris) เป็นหนังสือปี 2018 เขียนโดย Achdé ซึ่งรับผิดชอบงานลัคกี้ ลุคตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา หนังสืออ่านสนุกใช้ได้เลยครับ มีมุขตลกมากมายโดยสอดแทรกบุคคลสำคัญหลายคนและเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างระหว่างการสร้าง การระดมทุน และการขนย้ายเทพีเสรีภาพ ซึ่งชวนให้สงสัยว่าอันไหนจริงอันไหนแต่งเอง

ในตอนเริ่มต้นเป็นไปเพื่อฉลองเอกราชร้อยปีของสหรัฐอเมริกาในปี 1876 และแสดงถึงความสัมพันธ์ยิ่งใหญ่ระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เวลาที่ผ่านมาถึงวันนี้มากกว่าสองร้อยปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเทพีเสรีภาพที่มีเวิร์ดเทรดเซนเตอร์กำลังติดไฟอยู่ด้านหลังได้ตอกย้ำความหมายของเทพีนางนี้ให้เด่นชัดมากขึ้นไปอีก

เปิดกรอบแรกด้วยลัคกี้ ลุคในชุดคาวบอยสีธงชาติเบลเยี่ยม (เขาถูกทักอยู่เป็นระยะๆ) ขี่ม้าคู่ใจจอลลีจัมเปอร์ ที่ถูกมัดเรียงสี่คนเดินตามจอลลีจัมเปอร์คือสี่พี่น้องดาลตันซึ่งหน้าตาเหมือนกันหมดต่างกันที่ขนาดลดหลั่นลงไปตามลำดับ

ทันใดนั้น พี่ใหญ่ดาลตันตะโกนด้วยเสียงตื่นเต้น นั่น ไอติมโคนยักษ์ แต่ที่แท้คือส่วนมือถือคบเพลิงของเทพีเสรีภาพ ด้านล่างเป็นชายผู้หนึ่งถูกมัดไว้โดยมีอินเดียนแดงเต้นรำอยู่โดยรอบ

ลัคกี้ ลุคสอบถามได้ความว่าชายผู้นี้ขนย้ายเทวรูปยักษ์ผ่านดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียนจึงต้องถูกสังเวย ชายผู้นี้คือบาร์โทลดีนั่นเอง บาร์โทลดีขนส่วนมือถือคบเพลิงมาอเมริกาก่อนเพื่อหาทุนก่อสร้างเพิ่มเติม ตัวเทพีเสรีภาพกำลังทำอยู่ที่ Gaget Gauthier ปารีส ว่าแล้วบาร์โทลดีงัดภาพถ่ายมือถือคบเพลิงที่ตั้งหาทุนอยู่ที่ฟิลาเดลเฟียออกมาให้ดู (ภาพนี้คลาสสิก วันนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บาร์โทลดีในกอลมาร์)

เมื่อพี่น้องดาลตันและอินเดียนแดงผิดหวังที่บาร์โทลดีมิใช่อิตาเลียนเพราะไอติมอิตาเลียนอร่อยที่สุด บาร์โทลดีหาโอกาสนี้หาทุนด้วยการขายบัตรเข้าชมภายในส่วนมือถือคบเพลิงนี้ (เวลานั้นมีการระดมทุนครั้งใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา มีประชาชนบริจาคมากมายโดยที่ส่วนใหญ่ให้น้อยกว่าหนึ่งดอลลาร์)

ลัคกี้ ลุคพาพี่น้องดาลตันไปส่งเรือนจำที่ซึ่งพัสดีอับราฮัม ล็อคเกอร์ดูแลอยู่ (locker ผู้ปิดล็อค) ล็อคเกอร์เลี้ยงนกด้วยการล่ามโซ่ตรวนใส่กรงแล้วขังในตู้เซฟ เขามีระเบียบค้นตัวคาวบอยและม้าอย่างเข้มงวดแบบยุคสมัยใหม่ และกำลังมีแผนสร้างคุกที่แหกไม่ได้อย่างแน่นอนบนเกาะแห่งหนึ่งที่นิวยอร์ค พอรู้จากลัคกี้ ลุคว่าบาร์โทลดีคิดตั้งเทพี “เสรีภาพ” บนเกาะที่นิวยอร์คเหมือนกัน จ้าวแห่งการกักขังจึงวางแผนการร้าย (เดาตอนจบได้เลยว่าคุกอัลคาทราชจะตั้งที่ไหน)

บาร์โทลดีพบผู้ไม่หวังดีตลอดเส้นทางจึงขอให้ลัคกี้ ลุคช่วยคุ้มครอง ลัคกี้ ลุคไม่เต็มใจในทีแรกแต่ด้วยการร้องขอของทำเนียบขาวเขาจึงเดินทางร่วมกับบาร์โทลดีหาทุนไปทั่วอเมริกา การระดมทุนประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของ Joseph Pulitzer (1847-1911) ปิดท้ายด้วยการข้ามทะเลไปปารีสด้วยกัน ที่ซึ่งลัคกี้ ลุคเมาคลื่นแทบตายในขณะที่บาร์โทลดีโหยหาครัวซองที่จากมานาน (คนฝรั่งเศสคิดแต่เรื่องกิน)

พวกเขาขึ้นฝั่งที่นอร์มังดี แล้วเดินทางด้วยรถไฟถึงสถานี Saint – Lazard กรุงปารีส (ปัจจุบันคือ Gare Saint – Lazare) ลัคกี้ ลุคตื่นตะลึงกับปารีสในขณะที่ม้าจอลลีจัมเปอร์พบความยากลำบากในการเดินบนถนนก้อนหิน ทั้งหมดเดินทางไปที่โรงงานและได้พบกับกุสตาฟ ไอเฟลซึ่งเป็นวิศวกรงานนี้ (ใช่แล้ว คือ Gustav Eiffel 1832-1923 ผู้จะสร้างหอไอเฟลในอีกสองปีถัดมา คือปี 1887-1889)

การก่อสร้างเทพีเสรีภาพใกล้เสร็จแล้ว ลัคกี้ ลุคเที่ยวชมโอเปร่า นอเตรอะดาม กินขากบและหอยทากตามคำเชิญของบาร์โทลดี ระหว่างนั้นเองเกิดระเบิดที่ใบหน้าของเทพีเสรีภาพเป็นรูโหว่เหมือนสฟิงซ์จึงต้องผูกผ้าไว้แบบคาวบอย ผู้ร้ายยังจ้องทำลายเทพีไม่เลิกรา

วันต่อมาน่าตื่นเต้นที่สุดเมื่อวิคตอร์ อูโก (Victor Hugo 1802-1885) เดินทางเยี่ยมชมที่โรงงาน (คือปีสุดท้ายของชีวิตนักการเมืองและนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่) มีคนร้ายที่ซ่อนอยู่บนมงกุฎซุ่มยิงลงมา (น่าสงสัยว่าใครเป็นเป้าหมายกันแน่) จากนี้ไปจึงเป็นฉากตื่นเต้นเมื่อลัคกี้ ลุคปีนนั่งร้านขึ้นไปบนยอดมงกุฎเพื่อจับมือปืน

งานเสร็จแล้ว ชิ้นส่วนของเทพีบรรจุใส่ลังไม้ขนาดใหญ่ 250 ลังขึ้นเรือเดินสมุทรเพื่อไปอเมริกา ลัคกี้ลุคแทบตายอีกครั้งในขณะที่บาร์โทลดีได้กลิ่นโดนัทตั้งแต่เรือยังไม่เทียบท่า (คนฝรั่งเศสนี่คิดแต่เรื่องกินจริงๆ) การประกอบเทพียังต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีก่อนถึงงานฉลองร้อยปีเอกราชสหรัฐเมริกาปี 1886

ขึ้นฝั่งได้ไม่รอช้า ลัคกี้ ลุคควบม้าไปจัดการพัสดีล็อคเกอร์ทันควัน “ด้วยความเร็วยิ่งกว่าเงาของตนเอง” คือสโลแกนประจำตัวของลัคกี้ ลุค “The man who shoots faster than his own shadow.”

เทพีเสรีภาพยืนเด่นเป็นสง่าอยู่หน้านิวยอร์คในที่สุด ส่วนล็อคเกอร์ได้ทำงานในคุกอัลคาทราซสมใจแต่ในสถานะถูกล็อค แล้วลัคกี้ ลุคก็เดินทางต่อไป •

 

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์