ด่านหิน เรื่องสั้น ด่าน อุษณา เพลิงธรรม สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

ด่านหิน เรื่องสั้น

ด่าน อุษณา เพลิงธรรม

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

หากนับแต่ละหมุดหมายในทางการเขียน ปี 2507 สุจิตต์ วงษ์เทศ รจนา “นิราศเมืองนนท์” และตีพิมพ์ร่วมกับ “นิราศมหาชัย” ของ ขรรค์ชัย บานปาน

ระหว่างนั้นส่ง “บทความ” ไปตีพิมพ์ใน “สยามรัฐ” รายวัน

แรกทีเดียว ใช้นามปากกาว่า “ท. บ้านด่าน” ต่อมาจึงค่อยขยายเสริมเป็น “ทองเบิ้ม บ่านด่าน”

ในปี 2509 เรื่องสั้นชื่อ “คนบาป” ก็ปรากฏ ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่เป็นการนำเสนอบทบาทของ “ขุนเดช” นักรบผู้หวงแหนทรัพย์สินในทาง “โบราณคดี”

หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ การปรากฏผ่าน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์”

ผ่าน ด่านหิน

อุษณา เพลิงธรรม

ต้องยอมรับว่าในปลายทศวรรษที่ 2500 สนามเรื่องสั้นที่มีความโดดเด่นอย่างที่สุดคือสนาม ณ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

ไม่เพียงเพราะบรรณาธิการ คือ ประหยัด ศ. นาคะนาท

หากที่สำคัญอย่างที่สุดก็คือ บรรณาธิการซึ่งทำหน้าที่ “คัดสรร” เรื่องสั้นเป็น ประมูล อุณหธูป

นักแปล เจ้าของนามปากกา อุษณา เพลิงธรรม

การที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผ่านการเกิดจากมือของ อุษณา เพลิงธรรม ทำให้ทะยานไปยืนอยู่ในจุด “ดาวรุ่ง”

ตีคู่มากับ “สุวรรณี” ตีคู่มากับ ณรงค์ จันทร์เรือง

จาก “คนบาป”

สู่ ครึ่งรัก ครึ่งใคร่

วิกิพิเดียสรุปอย่างรวบรัดว่า ปี พ.ศ.2508 เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “คนบาป” ซึ่งเป็นปฐมบทของพฤติกรรม “ขุนเดช”

ผู้หวงแหน “โบราณวัตถุ” และ “โบราณสถาน”

ลงพิมพ์ใน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2509 ทำให้มีกำลังใจเขียนเรื่องสั้นต่อมาอีกมาก

จน พ.ศ.2511 มีรวมเรื่องสั้นเล่มแรกร่วมกับ ขรรค์ชัย บานปาน ชื่อ “ครึ่งรักครึ่งใคร่”

และโด่งดังมากใน พ.ศ.2512 จากผลงาน “กูเป็นนิสิตนักศึกษา”

และรวมเรื่องสั้นของตนเองชื่อ “ขุนเดช” กับนวนิยายขนาดสั้น “หนุ่มหน่ายคัมภีร์”

ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง

 

บนถนน กวีนิพนธ์

ปลายทศวรรษ 2500

ก่อนที่สำนักพิมพ์ “ประพันธ์สาส์น” จะตีพิมพ์ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนมกราคม 2512

สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ ขรรค์ชัย บุนปาน

เคยมีผลงานตีพิมพ์ในลักษณ์แห่ง “สองกุมารสยาม” ร่วมกันมาแล้ว 4 เล่ม 3 ใน 4 เล่มนั้นเป็นผลงาน “กวีนิพนธ์” กล่าวคือ “นิราศ” เมื่อ พ.ศ.2507 “กลอนลูกทุ่ง” เมื่อ พ.ศ.2508 “เห่ลูกทุ่ง” เมื่อ พ.ศ.2509

ระยะกาลนั้น แม้วงการกวีนิพนธ์จะคึกคักอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะโดย “ชมรมนักกลอน” ไม่ว่าจะโดย “สหพันธ์นักกลอน” ไม่ว่าจะโดยแสดงออกผ่านทางชุมนุมและชมรมวรรณศิลป์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ

แต่การตีพิมพ์หนังสือ “กวินิพนธ์” ก็ยังไม่ได้รับการต้อนรับจาก “สำนักพิมพ์”

 

สถานะ ด้านรอง

ของงาน กวีนิพนธ์

จะเห็นได้จากนอกจากกวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ อันสำนักพิมพ์สังคมศาสตร์ “คาวกลอน” ของ นเรศ นโรปกรณ์ ที่สำนักพิมพ์โอเดียนสไตร์ตีพิมพ์แล้ว

ดูเหมือนจะมีเพียง “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ละกระมังที่ได้รับการยอมรับในเชิงพาณิชย์

ขณะที่งานรวมเล่มอื่นๆ แม้กระทั่ง “นิราศ” และ “เห่ลูกทุ่ง” ก็เป็นการตีพิมพ์ขึ้นเอง ด้วยจำนวนพิมพ์ที่ไม่มากนัก

ที่เป็นเช่นนี้มิได้มีสาเหตุเนื่องจากตลาดหนังสือในแนวกวีนิพนธ์ยังคับแคบ และไม่สามารถให้ผลในทางธุรกิจเท่าที่ควรเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ทางวรรณกรรมโดยส่วนรวม

และสถานะอันเป็น “ด้านรอง” ของวรรณกรรมสร้างสรรค์ในสาขา “กวีนิพนธ์” ในขณะนั้นอีกด้วย

“ชัยอนันต์-ชัยสิริ” 2 นักวิชาการวรรณกรรมแห่งสกุล “สมุทวณิช” ได้เคยตั้งข้อสังเกตถึงสภาพการณ์ทางการเมือง สภาพการณ์ทางจิตใจ

และสภาพการณ์ทางวรรณกรรมในห้วงระหว่าง พ.ศ.2501-2512 เอาไว้ว่า

“ยุวชนสยามที่แตกเนื้อหนุ่มหลังการฉลอง 25 พุทธศตวรรษเป็นชนรุ่นใหม่ผู้น่าสงสาร เขาถูกปฏิเสธสิทธิที่จะปกครองตนเองเป็นเวลาถึง 10 ปี

เขาไม่รู้จักคำว่า ‘เสรีภาพ’

เขาได้ยิน ได้ฟังแต่ความมั่นคงของรัฐและการพัฒนาเศรษฐกิจ

เขาได้อ่านหนังสือประโลมโลกย์ที่พระเอกเป็นคนสูงศักดิ์ นางเอกเป็นคนต่ำต้อยคอยแต่จะนั่งสงสารตัวเอง

นิตยสารที่เสนอนิยายรักหวานชื่นผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

ความรักและกามารมณ์กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของนักเขียนรุ่นหลัง พ.ศ.2500”

นี่เป็นส่วนหนึ่งแห่งบทความเรื่อง “วรรณกรรมการเมืองของไทย” ตีพิมพ์ในนิตยสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม 2516

อยู่ในยุคก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

อยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มายังยุคของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี

สะท้อนภาพในทาง “วรรณกรรม” ด้านครอบงำ สะท้อนความหดหู่เศร้าหมองของวรรณกรรมในด้าน “รอง” ที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน

ยาวนานตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2500

นี่คือลักษณะโดยทั่วไปของสภาพการณ์ในทางวรรณกรรมยุคที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เติบโต

อยู่ในห้วงแห่ง “วัยรุ่น” ก่อนเข้า “มหาวิทยาลัย”

 

จาก สุจิตต์ วงษ์เทศ

ถึง จิตร ภูมิศักดิ์

จะเข้าใจรากฐานการดำรงอยู่ในทางความคิดจำเป็นต้องทำความเข้าใจสภาพการณ์ในทางการเมืองที่เป็นด้านหลัก

โลกส่วนตัวของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อยู่ในวงแวดล้อมอย่างไร

โลกของ จิตร ภูมิศักดิ์ หลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ต้องประสบกับชะตากรรมอย่างไร

คนหนึ่งอยู่ “ลาดยาว” คนหนึ่งอยู่ “วัดเทพธิดาราม”