ก้าวเข้า ‘สภา’ แต่ ไกลจาก ‘ทำเนียบ’

ไม่รู้ว่าทนเสียงบ่นไม่ไหว หรือเพราะไม่อยากเก็บเผือกร้อนไว้ คณะกรรมการการเลือกตั้งถึงได้ตัดสินใจประกาศรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขต รวดเดียว 400 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน หลังจากดองผลเลือกตั้งไว้มากกว่า 1 เดือน สร้างความประหลาดใจคอการเมืองไม่น้อย

เรียกว่าปล่อยผีไปก่อนค่อยมาสอยทีหลัง

ที่จริง กกต.ยังยืดเวลาดองไว้ได้อีก แต่ก็ตัดสินใจประกาศรับรอง ก็ต้องชม เพราะอย่างน้อย ทำให้โอกาสในการที่ประเทศจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารเร็วขึ้นกว่าเดิมอีกนิด ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเปราะบางอยู่มากในขณะนี้

เวลานิดๆ หน่อยๆ ถือว่าจำเป็นมากต่อปากท้องประชาชน

 

คงจะไม่เกินจริงไปนักถ้าจะกล่าวว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคผู้ชนะเลือกตั้ง ที่มีอุปสรรคขัดขวางการเดินทางเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

เพราะผ่านมาแล้วเกิน 1 เดือน พรรคที่ชนะเลือกตั้งมาอันดับหนึ่ง มีประชาชนหนุนมากถึง 14.4 ล้านเสียง แถมพรรคอันดับสอง ก็มีเสียงหนุนอีก 10.8 ล้านเสียง ประกาศจับมือพรรคอันดับหนึ่ง ให้พิธาเป็นนายกฯ กลับตอบได้แบบไม่ 100% นักว่า พิธาจะได้เป็นนายกฯ แน่ๆ ซึ่งขัดกับสามัญสำนึก ผิดกับหลักการระบบการเมืองโลกปกติ

เป็นเพราะกับดักการเมืองที่ถูกวางไว้จากกลุ่มอำนาจเก่าอย่าง 250 ส.ว.นั่นเอง ที่ทำให้ระบบกลไกการเมืองบิดพลิ้วได้มากขนาดนี้

ย้อนกลับไปการเลือกตั้ง 2562 พรรคที่ชนะอันดับ 1 จับมือกับพรรคอันดับ 3 ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะแพ้พรรค ส.ว. ในรอบนี้พรรค 250 ส.ว.ก็ยังมีอำนาจอยู่

แม้พิธาจะผ่านด่านเลือกตั้งซึ่งยากลำบากในการไปขอคะแนนหาเสียงทั่วประเทศ ก็ยังไม่จบง่ายๆ

ตามมาด้วยด่านฟ้องร้องคุณสมบัติคือหุ้นไอทีวี หวังใช้กลไกรัฐธรรมนูญ 2560 ประหารทางการเมืองต่อพิธา แต่ก็ดูเหมือนจะพลาดเป้า

ด้วยปรากฏหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลิป หลักฐานเอกสารที่สื่อมวลชน ประชาสังคม ขุดค้นตีแผ่จนพบขบวนการสร้างหลักฐาน บุคคล เอกสารขึ้นมาหวังเล่นงานพิธาด้วยการบิดเจตนารมณ์กฎหมาย มีการพยายามปลุกผีให้ไอทีวีเป็นสื่อทั้งที่ปิดตัวไป 16 ปี

วันนี้ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.เป็นที่เรียบร้อย เป็นอันว่า พิธาและพรรคก้าวไกล ผ่านด่านมาแล้ว 3 ด่าน เส้นทางเข้าสู่ทำเนียบใกล้ขึ้นเรื่อยๆ

 

สําหรับเส้นทางการเลือกนายกฯ คนที่ 30 หลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 500 คน ตามมาด้วย ส.ส.ทยอยเข้ารับหนังสือรับรอง ระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน จากนั้น จะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายในวันที่ 3 กรกฎาคม โดยคาดว่าวันที่ 4 กรกฎาคม จะมีประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพื่อทำการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

คาดว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีราวกลางเดือนกรกฎาคม

แต่ยังไม่ต้องเลือกนายกฯ เอาแค่ประธานสภา ด่านนี้ของก้าวไกลก็ไม่ง่าย เพราะองคาพยพเพื่อไทยบางส่วน ประกาศไม่ยอมให้ก้าวไกลนั่งเก้าอี้ประธานสภา ให้เหตุผลเรื่องก้าวไกลได้ตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว ควรแบ่งเก้าอี้ให้เพื่อไทยนั่งประธานสภาบ้าง เกิดวิวาทะกันนาน

อดิศร เพียงเกษ ส.ส.เพื่อไทย ออกมาเปิดหน้าขย่มก้าวไกล ยืนยันเสียงแข็งต่อเนื่อง ไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลได้เก้าอี้ประธาน

ไม่ว่าการออกมาเคลื่อนไหวของอดิศรจะมีเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร แต่เหตุผลที่ใช้นั้นดูไม่ค่อยมีประโยชน์เชิงบวกต่อพรรคเท่าไหร่ โดยเฉพาะตรรกะ ไม่เอาพระใหม่มาเป็นเจ้าอาวาส-เพื่อไทยเหมาะกว่าเพราะมีพรรษามากกว่า และถ้ายิ่งโหวตสวน จนไปเข้าทางเกมการเมืองของว่าที่พรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทยอาจเตรียมลานจอดรับรถทัวร์ได้เลย

การเมืองขณะนี้จึงนับเป็นห้วงจังหวะท้าทายพรรคก้าวไกล เพราะเป็นการปรากฏขึ้น ประสานสอดรับความความเคลื่อนไหวของระดับนำจากซีกตรงข้ามก้าวไกล ที่ออกมาเสนอจะโหวตให้คนจากเพื่อไทยนั่งประธานสภา

ด่านที่ 4 หรือด่านจัดสรรอำนาจในพรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่ง่าย และยังต้องขัดแย้งกันอีกนาน ดังนั้น หากจะทำอะไร เจรจาต่อรองอย่างไร ก็ขอให้นึกถึงกระแสมติมหาชนเป็นหลัก ที่สำคัญควรกระทำผ่านวงเจรจา และยึดประโยชน์และความต้องการของประชาชนทั้ง 2 พรรค เป็นที่ตั้ง

แน่นอนว่าประชาชนที่เลือก 2 พรรครวมกันกว่า 25 ล้านคน ต้องการให้เพื่อไทยและก้าวไกลยึดเรื่องเอกภาพเป็นสำคัญด้วย

 

มาถึงด่านสุดท้ายสำคัญสุดที่จะเป็นตัวตัดสินว่าพิธาจะได้เข้าทำเนียบหรือไม่คือ ด่าน 250 ส.ว.

ด่านนี้โหดสุด แผลงฤทธิ์มาตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 เป็นตัวพลิกเกมที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อเนื่องจากรัฐบาลรัฐประหาร ผลจากคะแนนเสียง 250 ส.ว.ที่ยกมือโหวตเป็นเอกฉันท์ ทำให้มีคะแนนถึง 500 เสียง ขณะที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มี 244 เสียง

ครานั้นยังค้านสายตาคนดู เพื่อไทยซึ่งชนะได้คะแนนลำดับ 1 รวมกับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งชนะเลือกตั้งลำดับ 3 กลับไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ นั่นเป็นเพราะ ส.ว.ลากตั้งนั่นเอง จึงส่งต่อความวิตกกังวลมายังการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า 250 ส.ว.จะกระทำซ้ำรอยหรือไม่

รอบนี้ พิธาต้องได้เสียง 376 เสียง ถึงจะเข้านั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ ซึ่งปัจจุบัน 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงรวมกันแล้ว 312 เสียง ต้องการอีก 64 เสียง ขณะที่ 10 พรรคว่าที่ฝ่ายค้านมี 188 เสียง ต้องการเสียงอีก 188 เสียง ก็มีสิทธิ์เข้าวินหากจะเสนอชื่อโหวตชิงนายกฯ คู่กับพิธา

ปัญหาคือ 250 ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของมรดก คสช. จะเลือกพิธาหรือไม่ เพราะข้อมูลพื้นฐานขณะนี้ มี ส.ส.เพียง 20 กว่าคนที่ประกาศจะเลือกนายกฯ ตามมติประชาชน แต่อีกมากกว่า 200 คน เลือกที่จะเงียบ และมีส่วนหนึ่งประกาศจุดยืนชัด หัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ไม่เลือกพิธาเป็นนายกฯ ขอเลือกนายกฯ จากพรรคอื่น

ดังนั้น โอกาสที่พิธาจะได้เป็นนายกฯ จากการยกมือโหวตในครั้งแรกเลยนั้น คงเป็นไปได้ไม่ง่าย ด้วยจุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมไทยของ ส.ว.ส่วนใหญ่ที่จนถึงวันนี้ยังไม่ชัดเจน

แต่หากจะยอมให้พิธาเป็นนายกฯ ก็คงจะเป็นไปอย่างมีเงื่อนไข เดินเกม หาหนทางบีบเจรจา กดดันให้ลดวาระทางการเมืองบางอย่างลง

แต่หากไม่ยอมให้พิธาเป็นนายกฯ ทางเลือกอย่างเบา 250 ส.ว.ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ก็อาจจะเดินเกมเทคะแนนให้พรรคอันดับ 2 ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่ามีความแข็งกร้าวน้อยกว่า

ส่วนทางเลือกอย่างหนักคือไปเทเสียงให้ว่าที่พรรคฝ่ายค้าน ที่มีเสียง 188 เสียง พลิกมาเป็นขั้วรัฐบาล ซึ่งประเมินกันว่าแม้จะทำได้และอยากให้เป็น แต่เกิดขึ้นจริงยาก

 

คําถามสำคัญตอนนี้คือ ประชาชนได้แสดงมติมหาชนไปแล้วว่าต้องการให้ใครเป็นผู้นำประเทศคนต่อไป ผ่านการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา แล้ว ส.ว.จะเอาอย่างไร

อันที่จริง พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างก้าวไกลเป็นแค่ภูเขาน้ำแข็งของความต้องการทางการเมืองในยุคสมัยนี้ ดังนั้น คู่เจรจาของ ส.ว. ไม่ใช่พรรคการเมืองแล้ว แต่คือประชาชนต่างหาก

250 ส.ว.กำลังเผชิญหน้ากับประชาชนอยู่ กำลังต่อรองกับ “การเมืองมวลชน” มิใช่พรรคก้าวไกล

กรณีหุ้นไอทีวีสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นชัด ว่ากลุ่มทุนและพรรคการเมืองเบื้องหลัง ไม่ได้สู้กับพิธาเลย แต่ต่อสู้ทางข้อมูล ความคิด ความเห็นกับประชาชนล้วนๆ

หาก ส.ว.ไม่ยกมือให้พิธา ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลการเมืองใดๆ ก็เท่ากับเลือกเป็นปรปักษ์กับประชาชน คำถามสำคัญคือ ส.ว.จะดำรงตำแหน่งอยู่ได้ยังไง?

ไม่ต้องถามหาเสถียรภาพการเมือง ความสงบสุขของประเทศ ซึ่งคงหายากอย่างยิ่ง

 

วันนี้พิธาและพลพรรคก้าวไกล ก้าวเท้าเข้าสู่สภาได้สำเร็จ

แต่ดูเหมือนยังไม่ใกล้ทำเนียบรัฐบาลเท่าที่ควร

องคาพยพของกลุ่มอำนาจเดิมยังขยับเขยื้อน ยืนขวางทั้งหน้าฉาก-หลังฉากต่อเนื่องตลอดเดือนที่ผ่านมา ภายใต้การแข่งขันที่จนถึงวันนี้ขั้วอำนาจเก่าที่พ่ายแพ้ย่อยยับในเกมที่ตนเองออกแบบ ยังไม่เอ่ยปากรับความพ่ายแพ้สักคำ

เส้นทางสู่ทำเนียบของพิธา นอกจากไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยังเต็มไปด้วยดงระเบิด เพราะการเอาผิดเรื่องคุณสมบัติยังไม่จบ นักร้องคนดังยังขุดประเด็นมายื่นร้องต่อเนื่อง กกต.ก็ยังเดินหน้าตรวจสอบข้อมูล ทั้งหมดเพื่อหวังชงเรื่องเข้าจัดการพิธาผ่านองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ

พิธาและพรรคก้าวไกลยังต้องเจอด่านโหด ประเด็นต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติอื่นๆ เช่น เรื่องบัญชีทรัพย์สิน ประเด็นร้อนๆ ทางสังคม เช่น เรื่องแบ่งแยกดินแดน, วิวาทะมาตรา 112 ที่กำลังรอวันหวนกลับมาปะทุอีกรอบโดยฝ่ายอนุรักษนิยมอีกมาก ยังไม่นับปัญหาประเทศที่รอรัฐบาลใหม่อยู่กองเท่าภูเขา วิกฤตเศรษฐกิจ ไฟฟ้า พลังงานแพง อีกสารพัด

ทั้งหมดสะท้อนว่า โครงสร้างการเมืองและสังคมของประเทศนี้ยังออกแบบให้ผู้นำจากการเลือกตั้งเดินเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลได้ยากมาก ต้นทุนสูงลิบ

ส่วนผู้นำจากรัฐประหารถือปืนเข้าทำเนียบได้อย่างง่ายดาย แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แถมนั่งเก้าอี้ได้นานกว่า 9 ปี เป็นนายกฯ ที่บริหารงบประมาณประเทศมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ