มุมมอง เหตุรบ.ที่กำลังเก็บของกลับบ้าน…ดอดตั้งวงถกปัญหา ‘เมียนมา’ ผิดกาลเทศะ-ผิดมารยาท

มุมมองนักวิชาการ-อดีตทูต รัฐบาลที่กำลังเก็บของกลับบ้าน ดอดตั้งวงถกปัญหา ‘เมียนมา’ ผิดกาลเทศะ-ผิดมารยาท

 

ผลการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 คือชัยชนะของพรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.มากที่สุด 151 ที่นั่ง ได้คะแนนพรรค 14.4 ล้านเสียง ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ ส.ส.แค่ 36 ที่นั่ง ได้คะแนนพรรคแค่ 4.7 ล้าน เป็นความพ่ายแพ้แบบย่อยยับของพรรคทหารจำแลง โอกาสกลับมาของรัฐบาลประยุทธ์ ริบหรี่เต็มที รู้ชะตากรรมตัวเอง จนยอมทำใจ เก็บของออกจากทำเนียบรัฐบาล (21 มิถุนายน 2566)

นาทีนี้ ทุกสายตาจับจ้องรัฐบาลใหม่ รอคอยโอกาสและความหวังจากรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะมาปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงประเทศให้ฟื้นจากความถดถอยตลอด 9 ปีภายใต้ระบอบประยุทธ์ จากไทม์ไลน์คนไทยน่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่กลางสิงหาคม 2566 ในระหว่างนี้รัฐบาลประยุทธ์ทำหน้าที่รักษาการ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่

แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจก็คือ ในช่วงรักษาการ รัฐบาลประยุทธ์ได้จัดหารือกับผู้แทนรัฐมนตรี และผู้แทนระดับสูงประเทศอาเซียน เพื่อหาทางออกปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามคำเชิญของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ

ประเทศที่เข้าร่วมมี 9 ประเทศ รวมทั้งอินเดียและจีน แต่ประเทศที่ไม่เห็นด้วยและปฏิเสธเข้าร่วม คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

นายดอนอ้างว่า ที่ต้องรีบหารือ โดยไม่ทำตามแนวทางของอาเซียน เพราะประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมากว่า 2,000 กิโลเมตร ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นไม่ได้มีชายแดนที่ติดยาวแบบไทย จึงไม่ได้รับความเดือดร้อน ไม่รู้สึกว่าต้องรีบหาทางออกเรื่องเมียนมาที่เป็นปัญหายืดเยื้อ แต่เรื่องนี้ส่งผลถึงประเทศไทย คนไทย การค้าชายแดน นักธุรกิจ และปัญหากลุ่มสแกมเมอร์ในเมียนมา ที่หลอกลวงคนจากหลายประเทศและคนไทยข้ามไปทำงานผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาค้ายาเสพติดและของผิดกฎหมาย

จึงอยากให้ทุกคนมองประเด็นเหล่านี้ด้วยว่า ฝ่ายไทยพยายามหาทุกวิถีทาง ดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศไทย

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็อ้างแบบนายดอน ตรรกะเรื่องชายแดนแบบเดียวกัน แต่อ้างยาวไปถึง 3,000 กิโลเมตร มากกว่านายดอน 1,000 กิโลเมตร

“เราก็ต้องพยายามลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ เพราะมีผลกระทบกับประเทศไทย ในเรื่องการค้าขายชายแดน การข้ามแดน แรงงาน แรงงานผิดกฎหมาย ก็จะทำให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ตามมา รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาหากยุติไม่ได้ ซึ่งทุกประเทศที่มาประชุมก็เห็นด้วยว่า ควรจะต้องหารือกัน ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพื่อแสวงหาทางออกและนำเข้าไปสู่ที่ประชุมอาเซียนในครั้งต่อไป ทุกรัฐบาลก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ อย่างที่บอกเรารับแรงกดดันสูงมาก ในฐานะที่เรามีชายแดนติดกับประเทศเมียนมากว่า 3,000 กิโลเมตร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถูกสื่อตั้งคำถามว่า รัฐบาลเอียงข้างรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่มีการเอียง มันเอียงไม่ได้ เราปฏิบัติตามมติสหประชาชาติไปแล้ว รวมถึงมติของอาเซียน ซึ่งมันยังไม่ก้าวหน้า เราก็ต้องหาวิธีการพูดคุยอย่างอื่นเพิ่มเติมมาซึ่งจะต้องมีการนำเสนอในอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปขัดแย้งอะไรกับใคร”

“ทั้งนี้ เราต้องมองถึงผลประโยชน์ของประเทศด้วย ว่าความเสียหายจะเกิดผลกระทบอะไรกับเราบ้าง ต้องมอง 2 มิติด้วยกัน แต่ความคิดเห็นจากภายนอกเราก็รับฟัง อะไรที่ปฏิบัติได้เราก็ปฏิบัติไปจนครบแล้ว”

 

ฝ่ายค้านเดิมที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล ออกโรงวิจารณ์รัฐบาลรักษาการ อย่างเผ็ดร้อนทันที นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทยและอดีตรองนายกรัฐมนตรี ชี้ถึงผลเสียหายที่สำคัญจากการจัดประชุมนี้คือการให้ความสำคัญในลักษณะรับรองสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่าที่อาเซียนทำอยู่ ทำให้ไทยถูกประชาคมโลกมองได้ว่ารัฐบาล (รักษาการ) ของไทยมีท่าทีเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเกี่ยวกับเมียนมาซึ่งไม่สง่างามอยู่แล้วยิ่งเสื่อมลงไปอีก

“การกระทำแบบนี้ถ้าไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลปกติที่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่อยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนายกรัฐมนตรี คงจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการและสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มี จึงไม่มีใครตรวจสอบหรือทัดทานการสร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นได้”

จาตุรนต์ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลรักษาการครั้งนี้อยู่ที่การขาดความสำนึกที่จะรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ขาดความสำนึกว่าตนเองเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่ไม่ควรทำเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้เลย และเรื่องนี้จะเป็นภาระสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นในการที่จะแก้ปัญความเสียหายที่ใหญ่หลวงในครั้งนี้ต่อไป

ขณะที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ชี้ว่า สถานะของรัฐบาลในปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่ควรดำเนินการขณะนี้และควรรอรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมาดำเนินการจะเหมาะสมกว่า หลายประเทศปฏิเสธที่จะมาร่วมการประชุมครั้งนี้ อาจส่งผลให้ในระดับอาเซียนถูกมองในเรื่องความเห็นไม่ตรงกันหรือเลยเถิดไปเป็นปัญหาความแตกแยกในประเด็นเมียนมา ซึ่งไม่ตรงกับฉันทามติที่เคยมีมาก่อนหน้านี้

นายปานปรีย์ชี้ว่า นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นหลัก เพราะอาเซียนจะเป็นเวทีสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค และยังเป็นศูนย์กลางการเงินเศรษฐกิจระดับใหญ่ รวมถึงประชากรที่มีมากกว่า 700 ล้านคน

ดังนั้น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือ Unity ในประเทศกลุ่มอาเซียนจึงมีความสำคัญสูงสุด

 

ล่าสุด รายการ The Politics ได้สัมภาษณ์พิเศษ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจทูตนอกแถว อดีตเอกอัครราชทูต (19 มิถุนายน 2566) ในประเด็นดังกล่าว อย่างน่าสนใจ

ดร.สุรชาติชี้ว่า การดำเนินการทางการทูตในลักษณะเช่นนี้อาจจะต้องถือว่า 2 ผิด 2 พลาด ผิดแรกคือ ผิดเวลา ผิดที่สองคือ ผิดมารยาท พลาด 2 ประการ พลาดแรกคือ พลาดทางการเมือง พลาดที่สองคือ พลาดทางการทูต

ประเด็น “ผิดเวลาทางการเมือง” อย่างมาก เพราะสถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่รอเวลาของการเข้ามารับหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ อีกทั้งรัฐบาลเดิมก็ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ชนะเลือกตั้ง ที่จะมีนัยถึงการเป็นรัฐบาลในอนาคต

คำตอบทางการเมืองในเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือ ใครอยากมาเจอกับรัฐมนตรีที่กำลัง “เก็บของกลับบ้าน”… วันนี้ผู้นำในภูมิภาครออยากเห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ เพราะผลการเลือกตั้งเป็นคำตอบในตัวเองที่ชัดเจนว่า สถานะของรัฐบาลเก่าได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

ในอีกด้านของปัญหาที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเวทีภูมิภาค คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารไทยกับเมียนมาในระดับรัฐบาลนั้น บ่งบอกถึง “ความเห็นอกเห็นใจ” อันเป็นผลของสายสัมพันธ์ทางทหารที่เกิดขึ้น จนความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาหลังรัฐประหารในเมียนมา มีลักษณะเป็นแบบ “แอบให้ใจ” และหลายฝ่ายเชื่อว่า ความใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยที่เป็นอดีตผู้นำรัฐประหารกับผู้นำรัฐประหารเมียนมาปัจจุบัน เป็นความแนบแน่นผ่านบทบาทที่เหมือนกันในการยึดอำนาจ

การเปิดเวทีในครั้งนี้จึงถูกตีความว่า เป็นความพยายามของไทยที่จะช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้แก่รัฐบาลทหารของเมียนมา ที่ถูกกดดันจากเวทีอาเซียนมาโดยตลอด และไทยเล่นบทเป็น “รูระบาย” แรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา จนทำให้หลายฝ่ายกังวลกับท่าทีทางการทูตเช่นนี้อย่างมากว่า ไทยพยายามที่จะมีบทบาทเองโดยไม่เดินไปพร้อมกับข้อมติของอาเซียนหรือไม่

ผลตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนไม่ตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะข้อริเริ่มของไทยขัดแย้งกับมติของการประชุมอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การปฏิเสธของอินโดนีเซียเช่นนี้อาจอธิบายได้ว่า อาเซียนเองดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมาเปิดเวทีใหม่ที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ในทางการทูตก็คือ การบอกว่าเวทีประชุมที่กรุงเทพฯ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะผู้นำทหารเมียนมาเองก็ไม่ได้มีท่าทีตอบสนองต่อความพยายามในการลดระดับของสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศแต่อย่างใด และต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ความรุนแรงจากการใช้กำลังของฝ่ายรัฐมีมากขึ้นด้วย

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำอาเซียนหลายประเทศพยายามอย่างมากที่จะหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในเมียนมานับตั้งแต่เกิดการประท้วงใหญ่หลังรัฐประหารในปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะ “ข้อมติ 5 ประการ” ของอาเซียนที่ออกมาจากเวทีการประชุมของชาติสมาชิกนั้น ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้แต่ประการใด

ดังนั้น ความพยายามของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่จะ “ฉีกตัวเอง” ออกไปมีบทบาทใหม่ในภาวะที่การเมืองภายในเองกำลังถึงเวลาของการเปลี่ยนรัฐบาลนั้น น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ และควรจะปล่อยให้บทบาทเช่นนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่มากกว่า การเตรียมจัดเวทีประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ จึงต้องถือว่าเป็นความริเริ่มที่ “ผิดเวลา” อย่างมาก

ความพยายามเช่นนี้ในทางการทูตเอง ก็อาจต้องถือว่าเป็นการ “ผิดมารยาท” อย่างมากเช่นกัน เพราะผู้นำไทยควรจะต้องมีการปรึกษาหารือเพื่อให้เกิด “เอกภาพอาเซียน” ในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา ซึ่งการกระทำของไทยแบบเอกเทศเช่นนี้ อาจจะไม่เอื้อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้จริง และไทยอาจถูกมองจากผู้นำอาเซียนว่า เรากลายเป็น “ตัวปัญหา” อีกแบบที่คอยแอบช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาอยู่ลับหลัง

ข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยเรื่องเมียนมาครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า “ผิดเวลา-ผิดมารยาท” อย่างยิ่ง จนทำให้สถานะด้านการต่างประเทศของไทยต้องตกต่ำลงอย่างมากในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า มันยากที่เข้าใจว่าผู้รับผิดชอบด้านการต่างประเทศไทยคิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ทำแล้วประเทศชาติจะได้อะไรกับการไปโอบอุ้มเผด็จการทหารพม่าที่ทั้งโลกเขาชิงชัง นอกจากจะทำให้ไทยต้องเปรอะเปื้อนไปด้วย

“เรื่องมีพรมแดนติดกันยาวอะไรนั่นเลิกพูดเถิดครับ ถ้าเราปล่อยให้ทหารพม่าเอาเครื่องบินรบบินเข้ามาได้เป็นหลายกิโลเมตร รวมทั้งการยิงถล่มเข้ามาในเขตไทยโดยที่เราไม่เคยประท้วงในระดับเวทีสหประชาชาติเลย” ทูตนอกแถวกล่าว

อดีตทูตชื่อดังชี้ว่า คุณดอนกำลังทำเป็นเกมที่อันตรายมาก และจะนำผลเสียมา เรารู้กันว่าในอดีตที่ผ่านมา องค์กรอาเซียนเปรียบเสมือนเสาหลักของนโยบายต่างประเทศของไทย ซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน เพราะนี่คือเกราะกำบังสิ่งที่เสริมสร้างผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทางด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ

นายรัศม์กล่าวว่า สิ่งที่คุณทำต่อไปนี้คือ การบ่อนทำลายอาเซียน ซึ่งร้ายแรงมาก เพราะกำลังทำลายนโยบายต่างประเทศที่เรายึดถือกันมาโดยตลอด คุณจะอ้างว่าไม่ใช่อะไรก็แล้วแต่ แต่นี่คือผลที่ตามมา หากย้อนกลับไปถึงแรงจูงใจว่าทำเพื่ออะไร หลายคนก็วิเคราะห์ซึ่งมันแปลกมากทีเดียว ทำไมไทยเราจะต้องไปโอบอุ้มเผด็จการทหารพม่าขนาดยอมฝืนตัว ยอมเสียผลประโยชน์แห่งชาติที่เราเคยยึดถือ ยอมทำลายนโยบายต่างประเทศเสาหลักต่างๆ นานาเพื่ออะไร

“หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทหารพม่ามีอะไรเบื้องหลังที่มาแบล๊กเมล์ฝ่ายไทยได้หรือเปล่า เราไม่รู้แต่มันแปลกที่เราจะต้องทุ่มเททำขนาดนั้น อุ้มขนาดนั้นเลยหรือ ต่อให้อุดมการณ์เพื่อนรักเผด็จการด้วยกัน แต่ถึงขั้นต้องทำขนาดนี้ ช่วยเหลือขนาดนี้ ผมว่าแปลกพอสมควร” นายรัศม์กล่าว

บทสรุปของ ดร.สุรชาติและรัศม์ ชาลีจันทร์ ตรงกันว่าคือ ไม่มีใครอยากคุยกับรัฐบาลที่กำลังเก็บของกลับบ้าน นี่คือการผิดกาลเทศะและมารยาทอย่างสิ้นเชิง