วิรัตน์ แสงทองคำ : “จีน” กับสังคมธุรกิจไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

(3) ธุรกิจใหม่

ความเคลื่อนไหวอันคึกคักของกลุ่มธุรกิจจีนใหม่ในประเทศไทย เป็นวิวัฒนาการว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของโลก ที่แตกต่างจากยุคก่อนหน้า

ว่าด้วยธุรกิจจีนในสังคมไทย เชื่อกันว่าได้พัฒนาอย่างเอกลักษณ์ ก้าวข้ามโมเดลดั้งเดิม (อรรถาธิบายไว้ในตอนที่แล้ว– “จีน” กับสังคมธุรกิจไทย (2) ธุรกิจใหญ่ (ต่อ) มติชนสุดสัปดาห์ 24 พฤศจิกายน 2560) ด้วยมุมมองไปยังดีลธุรกิจสำคัญเกิดขึ้นในระยะใกล้ๆ นี้

ถือเป็น “ตัวแทน” อย่างสำคัญของภาพใหญ่ ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-ไทยที่แตกต่าง

 

ดีลธุรกิจใหญ่

นั่นคือ ดีลระหว่างธุรกิจในเครือข่าย Alibaba Group ของ Jack Ma กับเครือข่ายซีพีของ ธนินท์ เจียรวนนท์ กับดีลระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำเครือข่ายค้าปลีกเชิงภูมิศาสตร์ไทย กับ JD.com ผู้นำค้าปลีกออนไลน์จีน

ในที่นี้ มีความตั้งใจบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราวและมุมมองผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ธุรกิจและเศรษฐกิจไทย เพื่อการประมวล ตีความ และวิเคราะห์ ทั้งในตอนนี้และอนาคต

“แอนท์ ไฟแนนเชียลประกาศร่วมมือกับแอสเซนด์ มันนี่ ขยายแผนงานการเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วโลก” (เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2559) หัวข้อข่าวแถลงอย่างเป็นทางการของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี (อ้างจาก http://www.cpgroupglobal.com)

“บริษัท แอนท์ไฟแนนเชียลเซอร์วิเซส กรุ๊ป หนึ่งในผู้นำการให้บริการทางการเงินดิจิตอลระดับโลก ประกาศแผนงานที่จะขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วโลก และความตกลงทางกลยุทธ์ร่วมกับบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค ชั้นนำของไทย ความตกลงนี้ รวมไปถึงการลงทุนของแอนท์ไฟแนนเชียลในบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ซึ่งจะช่วยเร่งการเติบโตของวิถีชีวิตที่พึ่งพามือถือมากขึ้น และการเติบโตของระบบการใช้จ่ายดิจิตอลในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

หลังจากซีพีได้ปรับโครงสร้างการบริหารเมื่อไม่นานมานี้ โดยบุตรชายของธนินท์ เจียรวนนท์ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ได้ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ โดยมีกลุ่มธุรกิจเกิดขึ้นใหม่อย่างแท้จริง คือ กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิตอล ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริษัทสำคัญ 2 แห่ง คือ ASCEND GROUP กับบริษัทพันธวณิช

อีกบางตอนของถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการข้างต้น สะท้อนแนวทางธุรกิจจีนแผ่นดินใหญ่ได้บางระดับ

“ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และข้อมูล คือหลักสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายของแอนท์ไฟแนนเชียล ในการที่จะสร้างโอกาสเท่าเทียมกันในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับทุกคนบนโลกเป็นจริงขึ้นมา เรามุ่งมั่นที่จะขยายบริการสู่ผู้บริโภคกว่าสองพันล้านคนในสิบปีข้างหน้า โดยการสร้างระบบเปิดกับพันธมิตรของเราทั่วโลก ตลาดการชำระเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่สูงและการแข่งขันที่ยังน้อยอยู่ เรายังอยากที่จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมรายเล็กและรายย่อย และประชาชนทั่วไป ในการนำเสนอบริการทางการเงินที่ปลอดภัยและไว้ใจได้ และแอสเซนด์ มันนี่ ในฐานะผู้นำในประเทศไทย ก็พร้อมที่สุดที่จะสร้างระบบนวัตกรรมทางการเงินใหม่ในไทย” อีริคจิง (Eric Jing) ประธานคณะผู้บริหาร (CEO) ของแอนท์ไฟแนนเชียล ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของ Alibaba Group

ในทันที มีบทวิเคราะห์ อรรถาธิบายปรากฏการณ์นั้นไว้ ด้วยความวิตกในบางมิติ ขณะเดียวกันให้ภาพความเป็นไปที่เข้าใจได้

“ผมคุยกับน้องในแวดวง เขามีแนวคิดที่น่าสนใจครับว่า การจับมือระหว่าง 2 เจ้าสัวนี้ ทำให้เราสามารถจินตนาการเห็นลูกค้า True และลูกค้า 7-Eleven ใช้บริการทางการเงินทั้ง Online และ Offline ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฝากถอนเงินได้ที่เซเว่น, โอนต่อให้ใครก็ได้ทางแอพพ์มือถือ, กู้เงิน peer to peer ได้ทางมือถือ และจ่ายดอกเบี้ยได้ผ่านเซเว่น, บิลค่าใช้จ่ายไปเก็บรวมกับบิลมือถือทรู, ใช้ระบบ 7-Eleven เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องโลจิสติกส์เวลาซื้อขายของผ่าน Lazada ฯลฯ” กรณ์ จาติกวณิช (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งดูแลนโยบายเศรษฐกิจ) ให้ความเห็น ให้ภาพที่เชื่อว่าอาจเกิดขึ้นในสังคมไทย

(อ้างมาจาก Facebook fan page ในนาม Korn Chatikavanij 1 November 2559)

 

อีกดีลหนึ่งที่สำคัญเกิดขึ้นตามมาไม่ถึงปี

“กลุ่มเซ็นทรัลประกาศร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ JD.com และ JD Finance มุ่งสู่ความเป็นผู้นำตลาดออนไลน์ของประเทศไทย…กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทย ร่วมกับ JD.com บริษัทอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ JD Finance ผู้นำด้านฟินเทคของประเทศจีน ได้ประกาศความร่วมมือด้านการลงทุนมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดตัว 2 ธุรกิจร่วมในประเทศไทยในด้านอีคอมเมิร์ซ และฟินเทค” (15 กันยายน 2560) ข่าวสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล (ปรากฏใน http://www.centralgroup.com)

เพียงไม่ถึง 2 เดือน ความเคลื่อนไหวจากดีลเซ็นทรัล-JD.com เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

“กลุ่มเซ็นทรัลจับมือเจดีดอทคอม เขย่าวงการค้าปลีกโลก พัฒนาดิจิตอล อีโคซิสเต็ม ครบวงจรเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “เจดี เซ็นทรัล” กลุ่มเซ็นทรัลจับมือเจดีดอทคอมร่วมลงทุน 17,500 ล้านบาท เขย่าวงการค้าปลีกโลก พัฒนาดิจิตอล อีโคซิสเต็ม ครบวงจรเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “เจดี เซ็นทรัล” พลิกโฉมออนไลน์ช้อปปิ้งประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (2 พฤศจิกายน 2560) หัวข้อข่าวทางการ (http://www.centralgroup.com) ซึ่งมาพร้อมการเปิดตัวแถลงข่าว ซึ่งมีบทบอกเล่าและสนทนาปรากฏในสื่อต่างๆ อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะว่าด้วยมุมมองของผู้นำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

“JD เป็นพันธมิตรสำคัญเพื่อก้าวสู่ New Economy ของธุรกิจค้าปลีก ที่กำลังจะก้าวข้ามจาก Modern Trade ไปสู่ Cyber Trade ภายใต้ความร่วมมือหลักๆ 3 ด้าน ที่ JD เป็นผู้นำของโลก คือ 1.ผลักดัน JD.co.th ให้เป็นผู้นำในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย รวมทั้งระดับภูมิภาคในอนาคต 2.บริการ E-Finance หรือให้บริการด้าน FinTech และระบบชำระเงินต่างๆ 3.E-Logistic ซึ่ง JD ถือเป็นผู้นำในธุรกิจขนส่งในจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโดรนมาใช้ในการส่งของ เพื่อช่วยให้เกษตรกรในจีนสามารถส่งสินค้าไปขายด้วยต้นทุนที่ลดลงถึง 75% ซึ่งองค์ความรู้นี้ยังสามารถนำมาใช้ต่อยอดในการ Transform ระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้ต้นทุนที่ลดลง” ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกลุ่มเซ็นทรัล อรรถาธิบายภาพพัฒนาการธุรกิจในบางภาพที่น่าสนใจและดูจับต้องได้

ขณะที่ทางฝ่าย JD.com มีมุมมองที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

“ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมาก ประกอบกับมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และการให้บริการทางอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาบริการด้านอีคอมเมิร์ซและฟินเทคเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การได้ร่วมงานกับกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกครบวงจรของประเทศไทย ทำให้เราเข้าใจลูกค้า และสามารถวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ตลาดไทยได้ อันจะเป็นการเสริมศักยภาพให้เจดี เซ็นทรัลสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า, เกื้อหนุนธุรกิจ SMEs ให้เติบโต, เพิ่มอัตราการส่งออกสินค้าไทย และพัฒนาจนกลายเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ริชาร์ด หลิว (Richard Liu) ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JD.com กล่าวไว้

 

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใหม่

ภาพข้างต้นมีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน ถึงธุรกิจสำคัญ นั่นคือ การค้าขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ กับระบบชำระเงินออนไลน์ ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจ แม้อยู่ในโมเดลที่ไม่แตกต่างจากที่ควรจะเป็น แต่ใน “เนื้อหา” ทางธุรกิจถือว่าแตกต่างอย่างมาก เป็นธุรกิจซึ่งอาศัยความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้บริโภคฐานกว้าง ว่าไปแล้วมาจากพื้นฐานของธุรกิจการค้าปลีกเดิมซึ่งพัฒนารูปแบบหลากหลายอย่างมาก เข้าถึงผู้บริโภคย่างกว้างขวางและลงลึกมากขึ้นๆ

โดยเฉพาะความพยายามชักนำผู้บริโภค เข้าในระบบสมาชิกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผนวกรวมกับอีกบางส่วน ซึ่งอยู่ในระบบสมาชิกตั้งแต่ต้นในเครือข่ายบริการสมัยใหม่ ในระบบสื่อสารรูปแบบต่างๆ รวมทั้งบริการต่างๆ ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ที่น่าสนใจ วิวัฒนาการระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมผู้บริโภคฐานกว้าง ทั้งสังคมไทยและจีน มีพัฒนาการสอดคล้องกัน

สังคมไทยพัฒนาอย่างมากจากเครือข่ายค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมกับระบบสื่อสารมือถือ จนมาถึงจุดต้องเชื่อมโยงกันมากขึ้น ขณะที่สังคมจีนพัฒนาการระบบสื่อสารบนมือถือก้าวกระโดดอย่างมากๆ

ดูได้จาก China Mobile ซึ่งก่อตั้งมาเพียง 2 ทศวรรษ สามารถมีเครือข่ายและระบบสมาชิกครอบคลุมจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นอัตราการเติบโตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกสมัยใหม่

หรือการเติบโตอย่างมากมายของ Alibaba Group ในแผ่นดินจีนก่อนเข้าสู่ตลาดโลก ทั้งๆ ที่ก่อตั้งไม่ถึง 2 ทศวรรษดี “ด้วยการเข้าถึง Internet และ Mobile ในระดับสูง จีนจึงเป็นตลาดธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิรซ์ที่ใหญ่และพัฒนามากที่สุดในโลก” (The Rise of FinTech in China : A COLLABORATIVE REPORT BY DBS AND EY, NOVEMBER 2016)

ที่สำคัญ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจีน-ไทย มีพื้นฐานมาจากผู้บริโภคในฐานะปัจเจก ฐานกว้าง เชื่อมโยงกัน ในฐานะนักท่องเที่ยว ในฐานะผู้ซื้อ-ขายสินค้าบริโภค ทั้งโดยตรง ผ่านกลไก และหน่วยงานจากขนาดเล็กๆ สู่ใหญ่ ด้วยสินค้าพื้นฐาน หลากหลาย ราคาถูก และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจซึ่งต่างระบบกัน

ซึ่งแตกต่างจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในยุคอาณานิคมเเมื่อศตวรรษที่แล้ว หรือในยุคเวียดนาม ผ่านการลงทุนสำคัญๆ ของธุรกิจใหญ่แห่งสหรัฐและญี่ปุ่น