ความทรงจำราชดำเนินก่อนรัชกาลที่ 5 (4) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

เมื่อข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้าสู่ถนนราชดำเนินนอก ด้านซ้ายมือจะมีซอยขนาดไม่กว้างมากนักชื่อ ซอยวัดปรินายก ปากซอยเราจะมองเห็นป้ายวัดปรินายกวรวิหารติดตั้งอยู่

วัดปรินายกฯ สำหรับคนทั่วไปคงคิดว่าเป็นเพียงวัดที่ไม่มีความสำคัญอะไรมากนัก ภายในพื้นที่พุทธาวาสก็มีเพียงพระอุโบสถขนาดเล็กตั้งเป็นประธานเท่านั้น

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเดินเข้าไปในพระอุโบสถ เราจะพบพระประธานศิลปะสุโขทัย นามว่า “พระสุรภีพุทธพิมพ์” ที่มีความงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อนะครับว่า วัดขนาดเล็กเช่นนี้จะมีพระพุทธรูปที่เก่าแก่และโดดเด่นเช่นนี้อยู่

ความแปลกที่ดูไม่ค่อยลงตัวนี้ คือร่องรอยที่ทิ้งให้เราเห็นว่า วัดปรินายกฯ ในอดีตคือวัดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของพระนครมาก่อน

สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ ย่อมทราบดีว่าวัดปรินายกฯ คือวัดขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดย เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในปี พ.ศ.2353 (สมัยรัชกาลที่ 2) เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเป็น พระพรหมสุรินทร์

ต่อมาเมื่อ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา เสียชีวิต รัชกาลที่ 3 ได้รับวัดแห่งนี้เข้ามาเป็นพระอารามหลวงและสร้างต่อจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งพระราชทานนามใหม่ว่า วัดปรินายก (ในแผนที่เก่าบางฉบับระบุชื่อว่า “วัดบดีนายก”) เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายกและเป็นดั่ง “ขุนพลแก้ว” ของรัชกาลที่ 3

แผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย (ปรับลายเส้นใหม่ให้ชัดเจน) แสดงตำแหน่งและขนาดของวัดปรินายกฯ
ที่มา : หนังสือแผนที่กรุงเทพ จ.ศ.1249

ความทรงจำชุดนี้ดำรงอยู่ในพื้นที่มายาวนาน จนความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นเมื่อมีการตัดถนนราชดำเนินนอกในปี พ.ศ.2442 ซึ่งแนวถนนได้ถูกกำหนดให้พาดผ่านเข้ามากลางพื้นที่ของวัดปรินายกฯ

หากเราอ่านข้อมูลประวัติศาสตร์ทั่วไป เราจะพบคำอธิบายที่ค่อนข้างคลุมเครือในส่วนนี้

บางกรณีอธิบายว่าแนวถนนราชดำเนินนอกทำให้วัดต้องสูญเสียพื้นที่ไป รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดปรินายกฯ ใหม่ทั้งหมดในพื้นที่ที่เป็นวัดปรินายกฯ ในปัจจุบัน บางกรณีอธิบายว่าแนวถนนได้ตัดเข้ามาใกล้บริเวณพระอุโบสถของวัดมาก รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถใหม่ขึ้นในตำแหน่งปัจจุบัน และบางกรณี (พบมากขึ้นในปัจจุบัน) อธิบายเพียงว่า รัชกาลที่ 5 ได้เข้ามาอุปถัมภ์วัดแห่งนี้หลังจากที่มีการตัดถนนราชดำเนิน โดยไม่มีการเขียนถึงพื้นที่วัดที่ต้องเสียไปให้กับถนนราชดำเนิน

คำอธิบายข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนมักให้ภาพผลกระทบของการตัดถนนราชดำเนินนอกที่มีต่อวัดปรินายกฯ ในระดับที่น้อยเกินความเป็นจริง

จาก “แผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย” (พ.ศ.2430) เราจะมองเห็นพื้นที่วัดปรินายกที่มีขนาดใหญ่โตมากกว่าวัดบวรนิเวศวิหาร ขนาดพระอุโบสถที่ใหญ่เกือบเทียบเท่ากับวิหารหลวงวัดสุทัศน์ และเป็นวัดที่มีการวางผังที่ไม่ธรรมดา

แผนผังพุทธาวาสถูกออกแบบให้มี 3 แนวแกน โดยแนวแกนประธานตรงกลาง มีพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า และ พระปรางค์ขนาดใหญ่อยู่ด้านหลัง ขนาบซ้ายขวาด้วยแนวแกนวิหารและศาลาการเปรียญ

ส่วนพื้นที่ทางทิศเหนือของวัดตลอดความยาวกำแพงวัดเรียงรายไปด้วยหมู่กุฏิขนาดใหญ่มากถึง 6 หมู่

ภาพถ่ายมุมสูงจากเจดีย์ภูเขาทองภาพหนึ่งที่มองไปทางถนนราชดำเนินและวัดปรินายกฯ (ก่อนที่จะมีการตัดถนนราชดำเนินนานหลายปี) แม้ตัวภาพจะไม่ช่วยให้เราเห็นรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมของวัดมากนัก เนื่องจากต้นไม้ปกคลุมเกือบทั้งหมด แต่ก็พอมองเห็นหลังคากลุ่มอาคารในเขตพุทธาวาสอยู่บ้าง ซึ่งก็พอจะช่วยเติมเต็มจินตนาการถึงอดีตของวัดแห่งนี้ได้ไม่มากก็น้อย

จากหลักฐานต่างๆ ทำให้เรามองเห็นถึงขนาดของวัดและการออกแบบกลุ่มอาคารในเขตพุทธาวาสวัดปรินายกฯ ที่ยิ่งใหญ่มากทีเดียวในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

และด้วยลักษณะทางกายภาพเช่นนี้ ย่อมเป็นสัญญะที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงอำนาจและบารมี (ผ่านงานศิลปะและสถาปัตยกรรม) ของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนสำคัญที่สุดของรัชกาลที่ 3 ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ

ภาพถ่ายเก่ามุมสูงจากภูเขาทองวัดสะเกศ ก่อนหน้าการตัดถนนราชดำเนิน แสดงให้เห็นร่องรอยของกลุ่มอาคารภายในวัดปรินายกฯ

แต่เมื่อตัดถนนราชดำเนินนอก แนวถนนได้ผ่ากลางเข้ามาในพื้นที่พุทธวาส (ไม่ได้ผ่านอย่างเฉียดๆ พระอุโบสถ ตามที่เรื่องเล่าบางสำนวนเล่าไว้) ซึ่งส่งผลทำให้มีการรื้อทิ้ง พระปรางค์ พระอุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญลงทั้งหมด

ผลที่ตามมาคือ พื้นที่วัดหดเหลือเพียงที่ดินสามเหลี่ยมรูปชายธง (พื้นที่ปัจจุบัน) ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทางทิศตะวันตกเดิมของวัดเท่านั้น แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 แสดงหลักฐานส่วนนี้เอาไว้อย่างชัดเจน

สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือ แนวถนนราชดำเนินนอกในส่วนตอนต้นของถนน แรกเริ่มเดิมทีถูกกำหนดเอาไว้อีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ได้ตัดผ่านเข้ามาในพื้นที่วัดปรินายกฯ

แนวถนนตามความคิดแรกจะเริ่มตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบัน ถนนเบญจมาศคือถนนราชดำเนินนอกในส่วนที่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปแล้ว)

อย่างไรก็ตาม การวางแนวถนนดังกล่าวจะทำให้ถนนราชดำเนินนอกไม่เป็นแนวเส้นตรงโดยตลอดทั้งสาย

ดังนั้น ในเวลาต่อมา รัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายแนวถนนราชดำเนินในส่วนตอนต้น ไปตัดเริ่มทางในตำบลบ้านหล่อแทนเพื่อให้ถนนตรงได้แนวตลอดถนนเบญจมาศ ซึ่งก็คือแนวถนนในปัจจุบัน

แม้จะได้ถนนเส้นตรงสวยงาม แต่สิ่งที่แลกมาก็คือ การรื้อเขตพุทธาวาสของวัดปรินายกฯ ลงทั้งหมด

แผนที่แสดงขนาดวัดปรินายกฯ ภายหลังการตัดถนนราชดำเนินนอก จากแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 (ปรับลายเส้นใหม่ให้ชัดเจน)
ที่มา : หนังสือแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ พ.ศ.2450-พ.ศ.2475 : การรวบรวมและจัดระบบฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาสถาปัตยกรรมและเมืองกรุงเทพ

การตัดสินใจเช่นนี้ของรัชกาลที่ 5 บอกอะไรแก่เราบ้าง และความเปลี่ยนแปลงในด้านขนาดพื้นที่ของวัดปรินายกฯ จากวัดขนาดใหญ่มากกว่าวัดบวรนิเวศฯ มาสู่วัดขนาดเล็กในพื้นที่ดินรูปสามเหลี่ยมชายธงที่แปลกประหลาด สะท้อนอะไรเราเห็นบ้าง นี่คือประเด็นที่ผมอยากชวนให้คิดต่อ

ในทัศนะของผม ปรากฏการณ์นี้คือภาพสะท้อนของการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองการปกครองของสยามจากระบอบแบบจารีตที่อำนาจขุนนางมีมหาศาล มาสู่ข้าราชการแบบสมัยใหม่ที่มีอำนาจจำกัดภายใต้การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ประเด็นนี้ ไม่ต่างเลยกับที่ผมอธิบายเรื่อง “เมืองในระบบวังหลวง-วังหน้า” เมื่อสัปดาห์ก่อน

ขุนนางในระบบจารีตมีอำนาจมากในระดับที่สามารถเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกษัตริย์ได้ ซึ่งรัชกาลที่ 5 เองก็ถูกเลือกขึ้นมาด้วยระบบขุนนางเช่นนี้ ซึ่งใครก็ตามที่สนใจประวัติศาสตร์พอสมควรย่อมทราบดีว่า รัชกาลที่ 5 ไม่พอพระทัยกับระบบขุนนางที่มีอำนาจมากเช่นนี้ (ไม่ต่างจากที่ทรงไม่พอพระทัยระบบวังหน้า)

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้กำลังจะหมายถึงว่า รัชกาลที่ 5 เลือกตัดถนนผ่ากลางวัดปรินายกฯ เพื่อต้องการลดทอนอำนาจขุนนางหรือแสดงอำนาจของตนเองแต่อย่างใดนะครับ มันไม่ใช่อะไรที่เถรตรงออกมาแบบนั้น

สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ การเลือกหรือไม่เลือกทำอะไรของมนุษย์ล้วนถูกคิดขึ้นอย่างสลับซับซ้อนบนฐานความสัมพันธ์เชิงอำนาจของเราที่มีต่อบุคคลรอบข้างอยู่ตลอดเวลาเสมอ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งใจคิดถึงมันโดยตรง

ภาพถ่ายเก่ามุมสูงภายหลังการตัดถนนราชดำเนินนอกไม่นาน แสดงให้เห็นร่องรอยของกลุ่มอาคารภายในวัดปรินายกฯ ที่ถูกรื้อถอนลงไปแล้ว แต่ยังไม่หมด โดยเฉพาะฐานของพระปรางค์และพระอุโบสถ
ที่มา : คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม อยากให้ลองจินตนาการดูนะครับว่า หากการตัดถนนราชดำเนินนอกเกิดขึ้นในช่วงก่อนการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แนวถนนจะสามารถตัดผ่านกลางเข้าพื้นที่พุทธาวาสวัดปรินายกฯ เช่นนี้ได้หรือไม่

ในความเห็นผม คิดว่าไม่ และแนวถนนราชดำเนินนอกในส่วนตอนต้นนี้จะต้องถูกตัดขึ้นตามแนวคิดแรกที่หลบวัดปรินายกฯ อย่างแน่นอน อันเป็นผลพวงจากระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในอีกแบบหนึ่งที่ขุนนางมีอำนาจมากในระดับที่ทัดเทียมกับกษัตริย์ หรืออาจจะมากกว่าในบางกรณี

จะเข้าใจประเด็นนี้ได้ เราต้องเข้าใจร่วมกันก่อนนะครับว่า การออกแบบเมือง การวางแนวถนนขนาดใหญ่ การเลือกพัฒนาย่านใดย่านหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกออกแบบขึ้นภายใต้การคิดคำนึงถึงแต่เรื่องประโยชน์ใช้สอยทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งหมดล้วนมีนัยยะแฝงทางการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่เสมอไม่มากก็น้อย

ถนนราชดำเนินก็เช่นกัน ย่อมหนีไม่พ้นนัยยะดังกล่าว และเราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาถนนเส้นนี้เพียงแค่นัยยะเชิงประโยชน์ใช้สอย แต่เราควรมองมันในหลายระดับความหมายและหลายมิติของนัยยะเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง