ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (3) Cikgu บรูไน ผู้อุทิศตน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (3)

Cikgu บรูไน ผู้อุทิศตน

 

Cikgu ภาษามาเลเซีย หมายถึงครู

บรูไนใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาประจำชาติ และใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

หลายโรงเรียนใช้ทั้งภาษามาเลย์ และอินโดนีเซียด้วยคำว่า Guru

คณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เสร็จภารกิจเป็นโซ่ข้อกลางสานต่อข้อตกลงทางการศึกษาบรูไน-ไทย ท่านทูตพาไปสัมผัสบรรยากาศริมแม่น้ำบรูไน ที่ภัตตาคารตรงข้ามกำปง ไอเยอร์ หมู่บ้านน้ำใหญ่ที่สุดในอาเซียน ชานกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน

แหล่งกำเนิดประเทศบรูไนดารุสซาลาม สืบทอดการดำรงชีวิตบนผืนน้ำต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดูแลรักษาไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า แหล่งท่องเที่ยวแถวหน้าที่ผู้มาเยือนคณะแล้วคณะเล่าโหยหาไปเยี่ยมเยียน

ทีมผู้บริหารสถาบันการศึกษาด้านเทคนิคอาชีวศึกษาบรูไน ผู้สร้างครูวาฮับ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนที่ 4 พากันมาสมทบ ต่อมาไม่นานนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวชาวจีนกลุ่มใหญ่ลงจากรถบัสเข้ามาลองลิ้มชิมรสอาหารมื้อเที่ยง

เมนูที่พลาดไม่ได้ สาคู หรือ อัมบูยัต (Ambuyat) อาหารคาวพื้นเมือง ยอดนิยมจนเป็นอาหารประจำชาติ ลักษณะเป็นแป้งเหนียวนุ่มสีขาวขุ่นทำมาจากแกนต้นสาคู กินพร้อมน้ำจิ้มให้เลือกหลากรส หลายสี มะม่วง ทุเรียน กะปิ แล้วแต่ชอบ

วิธีกิน ใช้แท่งไม้ไผ่ 2 ขาช่วงโคนติดกันเรียกว่าจันดัส (Chandas) ค่อยๆ ม้วนแป้งขึ้นมาจนเป็นก้อนกลม ก่อนจุ่มลงในน้ำจิ้มใส่ปากเสร็จกลืนเลย ไม่ต้องเคี้ยวเพราะเหนียวหนึบ

รสนิยมและวัฒนธรรมการกินอัมบูยัตแทนข้าวยามขาดแคลน มีมาตั้งแต่ยุคแรกก่อนเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นหนึ่งใน Soft Power เอกลักษณ์และจุดขายของบูรไนที่หันมามุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกขาหนึ่งของแผนการหารายได้เพิ่ม นอกเหนือจากขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

จันดัส ไม้ไผ่เหลาด้วยมือใส่ซองห่อกระดาษอย่างดี เลยกลายเป็นของที่ระลึก สินค้าของฝากให้คิดถึงวันคืนที่เคยมาเยือนดินแดนแห่งนี้

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี บรูไน ทั้ง 5 คน ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไน

จบรายการกินเพื่ออยู่ คณะเดินทางกลับสถานเอกอัครราชทูตไทยเพื่อพบกับ 5 ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สื่อมวลชนบรูไนและนักธุรกิจไทยในบูรไน ตามเวลานัดหมายบ่ายสองโมงตรง

ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้จัดรายการทีวี วิทยุ หนังสิอพิมพ์ สื่อออนไลน์ กว่าสิบคนให้เกียรติตอบรับมาร่วมรายการ ตั้งกล้องรอการพูดคุย สัมภาษณ์พิเศษ โดยเฉพาะครูรางวัลคนล่าสุด ปี 2566 Mr. Mohamad Amir Irwan Bin Hajimoksin จากโรงเรียนประถมศึกษา Pengiran Kesuma Negara Bukit Berung

หนังสือรับรองเกียรติประวัติของครูโดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการบรูไน กล่าวหนักแน่นว่าครูเป็นผู้อุทิศตน เปิดกว้าง รับผิดชอบ กระตือรือร้น เสียสละ ทุ่มเท เพื่อพัฒนาการศึกษา ไม่เฉพาะแค่ระดับโรงเรียน แต่รวมไปถึงระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับชาติ

ครูพัฒนาความสำเร็จของนักเรียนในการเรียนภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีบทบาทในการประชุมปฏิบัติการพัฒนาครูตลอดมา

ครูทำงานไม่เฉพาะแต่ตามเวลางานปกติในห้องเรียน หลังเลิกเรียน วันหยุด ช่วงค่ำ ครูอุทิศเวลาให้กับการศึกษาของเด็กทำให้ผลการเรียนของนักเรียนและโรงเรียนดีขึ้น

ครูคิดโปรแกรมการเรียนภาษาให้กับเขตพื้นที่การศึกษา เน้นพัฒนาการเขียนภาษาอังกฤษจนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนครูภาษามาเลย์นำไปใช้

ความสำเร็จของครูส่งผลต่อการตอบรับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เสมอภาค เท่าเทียม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งพัฒนาการศึกษา ทักษะการเรียนรู้และทรัพยากรมนุษย์

 

Cikgu Irwan หรือ ครูเอราวัณ ชื่อภาษาไทยที่ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเรียกอย่างคุ้นเคย แนะนำตัวเอง การศึกษา การทำงาน ความคิด จิตวิญญาณ แนวปฏิบัติ นวัตกรรมการสอน การดูแลอบรมเด็กนักเรียน ผลงานที่โดดเด่นของเขา และสิ่งที่คิดว่าจะทำต่อไปในอนาคตหลังได้รับพระราชทานรางวัล

เช่นเดียวกับครูผู้ได้รับรางวัลก่อนหน้านี้อีก 4 ท่าน เล่าเรื่องราวชวนติดตาม

มาดาม ฮาจา รัตนาวาติ บินติ ฮาจิ โมฮัมมัด ได้รับรางวัลคนแรก ปี 2558 เธอเป็นครูการศึกษาพิเศษโรงเรียนประถม Keriam ผู้ริเริ่มการนำนวัตกรรมมาสอนเด็กพิการเรียนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยชักชวนผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จนได้รับรางวัลครูดีเลิศจากสุลต่านแห่งบรูไน

เธอหันมาเป็นครูการศึกษาพิเศษสอนเด็กพิการ เนื่องจากลูกสาวเป็นเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพราะความรักและเป็นห่วงจึงเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้เธอทุ่มเทศึกษาแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสม เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วนำมาพัฒนาศักยภาพของเด็ก ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวนักเรียนเป็นสำคัญ

เผื่อแผ่จิตใจอันงดงามของความเป็นแม่ที่มีต่อลูกของตัวเองไปสู่ลูกคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน

 

ครูคนต่อมา มาดามลิม ซง โงว ปี 2560 สอนวิชาเคมี ระดับ A-level วิทยาลัยดูไลเพนกิรัน มูด้า อัล-มูตาดี บิลลา นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาการพัฒนาบุคลากรด้านวิชาชีพแก่ครูในวิทยาลัย รวมทั้งระดับอำเภอและประเทศ ประสบการณ์ทำงาน 27 ปี ด้วยความมุ่งมั่น เสียสละในการสอน และบทบาทที่โดดเด่นในวิชาชีพครู ทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศจากสุลต่านแห่งบรูไน

“ประสบการณ์ในวัยเรียนที่เป็นนักเรียนระดับปานกลาง ทำให้ไม่เป็นที่สนใจของครู จนมาวันหนึ่งได้มาพบกับครูที่เห็นคุณค่า ‘I have value I am somebody.’ จึงเป็นจุดเปลี่ยนและตั้งปณิธานว่า จะเป็นครูที่ให้เด็กทุกคนมีตัวตนในชั้นเรียน และด้วยประสบการณ์การสอนที่หลากหลายทั้งในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย ทำให้เข้าใจปัญหาเชิงพฤติกรรมของนักเรียนในแต่ละช่วงวัย พร้อมกับให้ความสำคัญกับลูกศิษย์ทุกคน”

“มีนักเรียนคนหนึ่งเป็นเด็กเรียนรู้ช้า ดิฉันจัดให้เด็กคนนี้อยู่เกรด ‘อี’ คือมีความยากลำบากในการเรียนรู้ จึงใช้วิธีสอนแบบตัวต่อตัวในช่วง 2-3 เดือนแรก และเด็กคนนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนด้วยการได้เกรด ‘เอ’ ในการสอบ A-level ประสบการณ์นี้ทำให้เรียนรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เด็กคนนี้ไม่ใช่เด็กที่เรียนช้า การที่เขามีปัญหาอุปสรรคในการเรียนช่วงแรกเพราะเขาไม่มีพื้นฐานที่ดี การช่วยสอนแบบตัวต่อตัวทำให้เขามีพื้นฐานการเรียนที่ดีและเข้มแข็งขึ้น”

“ในฐานะครูจำเป็นต้องค้นหาแววของเด็ก ทำให้เด็กนำทักษะของเขาออกมาใช้” เธอว่า

รูคนที่สาม นางฮาจะฮ์ นอรีฮะห์ บินติ ฮาจี อัสปาร์ ปี 2562 ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาลัมบัก กานัน จารัล 49 และรับผิดชอบพัฒนากระบวนการเรียนการสอน นิเทศและติดตามการสอนของครูในโรงเรียนรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานของครูบรูไน กำลังจะเกษียณจากราชการปีหน้า

“หลังพ้นตำแหน่งหน้าที่แล้ว ครูคิดจะไปเปิดโรงเรียนเอกชนเองบ้างมั้ย” คำถามดังขึ้นจากผู้ร่วมเวที

“ถ้าโรงเรียนจ้างต่อก็จะทำงานต่อ แต่เกรงใจครอบครัว เพราะตอนนี้สามีต้องมาส่ง มารับ และครูต้องดูแลหลาน ต้องให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น”

“ทำงานด้วยใจ จิตวิญญาณความเป็นครู ทำไมถึงได้รับรางวัล ขอเชิญมาที่โรงเรียนของดิฉันค่ะ” เธอตอบด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข

 

ครูคนที่สี่ เปองีรัน ฮาจี โมฮัมหมัด วาฮับ บิน เปองีรัน ฮาจี อับดุลละฮ์ ปี 2564 สอนวิชาศิลปะการประกอบอาหาร ที่ School of Hospitality and Tourism, IBTE Sultan Saiful Rijal Campus สายอาชีพ ประสบการณ์และทักษะการสอนกว่า 20 ปี เป็นผู้นำในการจัดหลักสูตรการปรุงอาหารและการบริการแบบมืออาชีพ การบริหารจัดการอาหารแบบครบวงจร

ครูวาฮับไม่เพียงแต่สอนเทคนิคการปรุงอาหาร แต่ครูสอนทักษะชีวิต เป็นเชฟที่ดีพร้อมกับเป็นคนดี เป็นพลเมืองที่ดีด้วย เมื่อเด็กทำผิดครูไม่เคยตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่ครูจะสอนว่าสิ่งที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ครูเชื่อว่านักเรียนทุกคนเป็นครูของครูด้วยเช่นกัน ทำให้ครูสนุกที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเรียนที่หลากหลายประสบการณ์

รายการสื่อพบครู ครูไทยพบครูบรูไน ผ่านไปด้วยความสุข ราบรื่นเป็นกันเอง นายกสมาคมคนไทยในบรูไนและนักธุรกิจหญิงไทย มาร่วมวงรอพูดคุยต่อไป เขาและเธอเป็นใคร สัปดาห์หน้าพบกัน