‘พักผ่อน’ สร้างชาติ : ‘บางปู’ สถานตากอากาศสมัยประชาธิปไตย

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘พักผ่อน’ สร้างชาติ

: ‘บางปู’ สถานตากอากาศสมัยประชาธิปไตย

 

“การไปพักตากอากาศจึ่งนิยมกันว่า เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสุขภาพของร่างกายและเพื่อบำรุงปัญญาให้สามารถต่อต้านกับภาระกิจอันจะต้องประสพต่อไปในอนาคตได้ดีขึ้น”

(กรมสาธารณสุขและกรมประชาสงเคราะห์, 2483, 33)

 

หัวหิน ถิ่นศักดินา

ครั้งระบอบเก่า การตากอากาศเป็นกิจกรรมของชนชั้นปกครองที่รับมาจากชาวยุโรป

แรกเป็นไปเพื่อฟื้นฟูสุขภาพมาสู่ความสนุกสนานในการใช้เวลาว่าง แสดงความเป็นอารยะและความมั่งคั่งให้ประจักษ์ ต่อมา ความนิยมได้แพร่หลายไปยังคหบดี ผู้มีฐานะในสังคม (วีรยุทธ์ ศรีสุวรรณกิจ, 2549)

ดังที่เหม เวชกร เล่าเปรียบเทียบการตากอากาศ 2 ยุคสมัยไว้ว่า

“เรื่องของการไปตากอากาศของคนไทยในยุคก่อนโน้นจะทำได้แต่เฉพาะคนที่มีอันจะกินเท่านั้น ครั้นมาภายหลังโรคทนอากาศร้อนในกรุงไม่ได้นี้ ชักเริ่มแผ่กระจายมายังคนกระเป๋าแฟบๆ ได้อย่างแปลกประหลาด…” (เหม เวชกร, 2556, 143)

ด้วยเหตุที่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 สังคมเกิดความรู้สึกว่า หัวหินเป็นสถานที่ตากอากาศของพวกคณะเจ้า กับพวกขุนนางศักดินา

ภายหลังที่กบฏบวรเดชพ่ายแพ้แล้ว หัวหินก็ซบเซาลง ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินออกนอกประเทศเพื่อไปรักษาพระเนตรที่สหรัฐและยุโรปเมื่อต้นปี 2477 หัวหินตกอับ บ้านพักตากอากาศชายทะเลของเหล่าเจ้านาย ข้าราชการระดับสูงครั้งระบอบเก่าถูกทิ้งร้าง (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2539, 216-218)

“งานใหม่ของชาติ-การตากอากาศเพื่ออนามัย”

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี เปิดบางปู สถานตากอากาศสำหรับพลเมือง เมื่อ 2483

ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับบำรุงประชาชนพลเมืองให้ได้รับความสุขกายและสุขใจ พยายามส่งเสริมการตากอากาศเพื่ออนามัยเป็นงานใหม่ของชาติ คู่ขนานไปกับการส่งเสริมให้พลเมืองได้รับอาหารดีเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และทั้งส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแกร่งแห่งพละกำลังด้วย (กรมสาธารณสุข, 2483, 34-35)

ด้วยเหตุที่รัฐบาลต้องการสร้างพลเมืองให้มีสุขภาพแข็งแรงในด้านร่างกาย พลานามัยและจิตใจด้วยสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้สำเร็จนั้น แต่การเดินทางไปตากอากาศที่ไกลจากพระนครนั้นจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์

รัฐบาลตระหนักดีถึงการตากอากาศมีค่าใช้จ่ายสูงว่า “เป็นธรรมดาอยู่เองที่ทุกคนจะไปไม่ได้เสมอไป เพราะไม่มีทุนทรัพย์หรือไม่มีโอกาสที่จะไปได้ เพราะโดยมากสถานที่ตากอากาศที่เหมาะนั้นมักจะตั้งอยู่ห่างไกลจากพระนคร ทั้งการอยู่กินในสถานที่ตากอากาศเล่าก็มักสิ้นเปลืองเงินกว่าปกติมาก” (35)

ดังนั้น รัฐบาลจึงเห็นว่า ถ้าหากได้มีสถานที่ตากอากาศอย่างดี ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากพระนคร อยู่ในย่านที่พลเมืองไปมาถึงได้สะดวก และพร้อมทั้งค่าอยู่กินในสถานที่เช่นนั้นไม่แพงเกินควรแล้ว การไปตากอากาศเพื่อปลดเปลื้องความกังวลในการงานเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

เช่น ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ในรอบสัปดาห์หนึ่ง ย่อมจะเป็นที่นิยมและเป็นสิ่งพึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง

บางปู ที่ตากอากาศสมัยประชาธิปไตย

ศาลาสุขใจและสะพานสุขตาครั้งแรกสร้าง

จอมพล ป.ให้ความสนใจเรื่องนี้มาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการอนามัยของชาติให้ประชาชนมีความสุขกายและสุขใจ จึงสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาก่อสร้างสถานตากอากาศที่ชายทะเลบางปู ด้วยเห็นว่าตำบล “ที่ชายทะเล ตำบลบางปูนี้ ตั้งอยู่ในภาคกลางแห่งประเทศไทย ย่อมสะดวกแก่ประชาชนในภาคต่างๆ จะมาเที่ยวและพักผ่อน” (36)

คณะกรรมการพิจารณาวางแผนก่อสร้างสถานตากอากาศบางปู ประกอบด้วย พระไวทยวิทยา อธิบดีกรมสาธารณสุข เป็นประธาน และ ชุณห์ ปิฑานนท์ ขุนบุรีภิรมย์กิจ พ.ท.ขุนอุดมสรยุทธ์ หลวงบุรณกรรมโกวิท ประสาน สิงคาลวานิช บุญช่วย อินทรัมพรรย์ ขุนสอนสุขกิจ นพ.ยง ชุติมา บุญสิน ชาติอุทิศ

เริ่มก่อสร้าง 31 ธันวาคม 2482 สร้างในพื้นที่ตามความยาวถนนสายสมุทรปราการ-ฉะเชิงเทรา ระหว่างกิโลเมตรที่ 11.4-13.4 เป็นระยะทางยาว 2 กิโลเมตร ส่วนความกว้างนั้นตั้งแต่ริมถนนสายสมุทรปราการถึงขอบชายทะเลเป็นระยะทาง 500 เมตร มีพื้นที่ราว 639 ไร่

ในพื้นที่สถานตากอากาศบางปูสำหรับชาวไทย ประกอบด้วย

1. ศาลาสุขใจ เป็นอาคารพักผ่อนหย่อนอารมณ์ เปิดเมื่อ 28 เมษายน 2483

2. บ้านพักชายทะเล ประเภท ก. จำนวน 2 หลัง ประเภท ข. จำนวน 8 หลัง ประเภท ค. จำนวน 11 หลัง

3. ศาลาพักร้อน 8 หลัง

4. ส้วมสาธารณะ 1 หลัง

5. สะพานไม้ยื่นลงทะเลยาว 200 เมตรพร้อมด้วยศาลาปลายสะพาน

6. คันกั้นน้ำทะเลโดยรอบ

7. ถนนคอนกรีตในบริเวณสถานตากอากาศ

8. สร้างประปาและไฟฟ้า

9. สร้างห้องแถวขายสินค้าและอาหารให้ประชาชนเช่า 10 หลัง

10. สะพานคอนกรีตยาว 500 เมตรยื่นลงไปในทะเล

11. สุขศาลาประจำสถานตากอากาศ

12. ถนนลาดยางบนคันกั้นน้ำทะเล

13. สถานเล่นกีฬา สะพานว่ายน้ำพร้อมสะพานกระโดดน้ำ

สาวสมัย 2484

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2483 นายกรัฐมนตรีทำหนังสือถึงประธานจัดสร้างสถานตากอากาศความว่า

“…ตั้งใจไว้ว่าจะสนับสนุนให้สถานตากอากาศนี้เจริญขึ้นทุกๆ วิถีทาง ทั้งสำเร็จในประโยชน์อันใหญ่ยิ่งแก่ประชาชนตามที่ทุกท่านคาดหมายไว้นั้นทุกประการ” ในระหว่างการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ ปรากฏว่ามีพลเมืองมาเที่ยวพักผ่อนจำนวนมากทุกวัน และจะมากยิ่งขึ้นในฤดูร้อน (40-42)

ด้วยรัฐบาลตระหนักดีถึงต้นทุนในการเดินทาง หากประชาชนขาดพาหนะในการไปตากอากาศ รัฐบาลจึงสนับสนุนให้มีรถโดยสารประจำทางรับส่งประชาชนจากบริเวณโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงวิ่งไปถึงสถานตากอากาศบางปู (แท้ ประกาศวุฒิสาร, 2544, 84)

ด้วยระยะเวลาเพียง 45 นาที เก็บค่าโดยสารเพียงคนละ 30 สตางค์ อันเป็นการทำให้การเดินทางไปพักผ่อนนั้นมีราคาถูกลง พลเมืองทั่วไปเข้าถึงได้

บางปูถือเป็นการปฏิวัติการพักผ่อนที่แตกต่างไปจากสมัยระบอบเดิมที่นิยมไปหัวหินอันหรูหรา เดินทางด้วยรถไฟ ต้องมีบ้านพักส่วนตัวหรือจองโรงแรมรถไฟที่ต้องค้างคืนหลายวัน มีต้นทุนในการพักผ่อนที่มีราคาสูงจึงเหมาะสำหรับชนชั้นปกครองหรือคหบดีที่มีอันจะกิน มาสู่บางปู สถานที่ตากอากาศแห่งใหม่ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เดินทางด้วยรถยนต์บนท้องถนน หรือรถบัสประจำทางที่มีราคาถูก เดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับได้ ไม่ต้องค้างแรมเสียค่าที่พักให้สิ้นเปลืองตามแบบเดิม

รัฐบาลโฆษณาเชิญชวนพลเมืองไปพักผ่อนความว่า

“การไปหย่อนอารมณ์ที่บางปูนั้นเปลืองค่าเดินทางเพียงเล็กน้อย ได้ตากอากาศ ได้ประสบลมทะเลอันอุดมด้วยโอโซนเพื่ออนามัย ได้เห็นทะเลและเรือใบน้อยใหญ่แล่นเรียงรายอยู่เฉพาะหน้าด้วยความเพลินตา”

“จะนั่งบนกระดานให้คนถีบไปเที่ยวบนเลนที่ชายทะเล หรือจะนั่งเรือใบออกไปเที่ยวทะเล ซึ่งมีจัดไว้รับรอง ก็สนุกได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ซึ่งจัดจำหน่ายโดยกรมสาธารณสุขก็มีจำหน่ายด้วยราคาอันย่อมเยา เรียกหารับประทานได้ทุกเวลา” (43)

ด้วยบางปูเป็นสถานที่ตากอากาศซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งที่สมความปรารถนาของบรรดาประชาชน โดยสถานตากอากาศชายทะเลนี้ ตั้งใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวกอย่างยิ่ง เพราะมีถนนลาดยาง ซึ่งรถยนต์วิ่งราว 45 นาทีก็ถึง

รัฐบาลจัดสร้างสโมสรชายทะเลและเรือนพัก 8 หลังขึ้น โดยกรมยุทธโยธาทหารบกควบคุมการก่อสร้าง รวมค่าใช้จ่าย 38,400 บาท

งบประมาณการก่อสร้างมาจากเงินสลากกินแบ่งประจำปี 30,000 บาท กระทรวงการต่างประเทศบริจาค 10,000 บาท โชติ ล่ำซำ บริจาค 10,000 บาท และบริษัทข้าวไทย อีก 10,000 บาท บางปูก่อนสร้างเสร็จ 31 มีนาคม 2482 ในเรือนพักมีเครื่องเรือนให้บริการ ค่าเช่าหลังละ 4 บาท/วัน หากเช่าทั้งสัปดาห์คิด 3 บาท/วัน (ปิ่นเพชร จำปา, 133)

นอกจากมีบ้านพักแล้ว ยังมีศาลาสุขใจและสะพานสุขตาเป็นสะพานยื่นลงไปในทะเลราว 500 เมตร มีนักท่องเที่ยวมาเยือนตลอดทศวรรษ 2480 ที่ศาลาสุขใจมีวงดนตรีกรมโฆษณาการขับกล่อมในวันหยุดสุดสัปดาห์ เหมาะกับการลีลาศตามสมัยนิยมด้วย (ปิ่นเพชร, 134)

ดังนั้น หากหัวหิน คือสถานตากอากาศอันหรูหราของชนชั้นนำ เหล่าขุนนางในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว บางปู คือสถานตากอากาศแห่งใหม่ของพลเมืองในสมัยประชาธิปไตย ที่ไม่ห่างกรุงเทพฯ ไปเช้าเย็นกลับได้ ด้วยราคาประหยัดอันเป็นที่นิยมอย่างมากในครั้งนั้น

รถโดยสารทัศนาจร ช่วง 2480
เรือนพักบางปูครั้งแรกสร้าง
เรือนพักบางปูครั้งแรกสร้าง