นงนุช สิงหเดชะ / 1 ในคำถาม 6 ข้อของ คสช. ที่บางพรรคไม่ยอมตอบ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

1 ในคำถาม 6 ข้อของ คสช. ที่บางพรรคไม่ยอมตอบ

หลังจากเรียกเสียงเกรียวกราวโวยวายยกแรกจากบรรดานักการเมืองไปด้วยคำถาม 4 ข้อ ล่าสุดนี้ หัวหน้า คสช. ก็ออกมาตั้งคำถามใหม่อีก 6 ข้อ

ซึ่งไม่ผิดคาดเพราะเหล่านักการเมืองดาหน้ากันออกมาตอบคำถาม (อันที่จริงตอบโต้) คำถามอย่างดุเดือด เสมือนถูกราดทิงเจอร์ใส่แผลสด จึงปวดแสบปวดร้อน

อันที่จริงคำถามของหัวหน้า คสช. มุ่งหวังจะได้คำตอบจากประชาชนทั่วไป แต่กลับกลายเป็นว่าประชาชนประเภท “นักการเมือง” ขยันตอบมากกว่าเพื่อน ด้วยเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวมากกว่าใคร

ในคำถาม 6 ข้อนั้น คำถามที่ทำให้นักการเมืองเคืองใจมากที่สุด คือข้อ 1, 2 และ 5 เพราะข้อ 1 ถามว่า จำเป็นต้องการมีพรรคการเมืองใหม่ที่มีคุณภาพหน้าใหม่ๆ เข้ามาให้ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ และการมีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมมาเป็นรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานอย่างต่อเนื่องหรือไม่

ข้อ 2 ถามว่า การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดถือเป็นสิทธิของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ไม่ได้ลงเลือกตั้งอยู่แล้ว

ส่วนข้อ 5 ถามว่า รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทยได้แสดงให้เห็นประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและมีการพัฒนาประเทศต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

เนื้อหาหลักๆ ที่พรรคการเมืองและนักการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่ถูก คสช. ยึดอำนาจออกมาตอบ (โต้) ก็มักเน้นหนักไปในทำนองที่ว่า คำถามดังกล่าวสร้างความขัดแย้งและ คสช. ต้องการใช้อำนาจที่มีอยู่สร้างความได้เปรียบได้ทางการเมือง ไม่ทำตัวเป็นกลาง เลือกข้างสนับสนุนบางพรรคการเมือง ขัดกับนโยบายปรองดองและพยายามจะชี้นำว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี

ส่วนบางคนก็ตอบว่า คสช. มีเจตนาจะสืบทอดอำนาจจึงตั้งคำถามมาเพื่อโยนหินถามทาง หรือเพราะกลัวแพ้เลือกตั้ง บางคนก็ท้าทายว่าถ้าแน่ใจว่าคะแนนนิยมดีทำไมไม่ลงเลือกตั้ง และจะกลัวการเลือกตั้งไปทำไมเพราะ คสช. เขียนกติกาเองหมดอยู่แล้ว

เป็นเรื่องธรรมดาที่นักการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เลือกที่จะเน้นตอบในมุมของตัวเองและปกป้องตัวเอง ซึ่งคำตอบที่ตอบมานั้นบางอย่างก็ไม่ผิด เช่น การตั้งข้อสังเกตว่า คสช. ไม่เป็นกลางเพราะส่อท่าทีว่าจะเลือกสนับสนุนบางพรรค

อย่างไรก็ตาม มีหลายประเด็นที่นักการเมืองหลีกเลี่ยงจะตอบเพราะเข้าเนื้อตัวเอง เนื่องจากคำถามในหลายประเด็นของ คสช. นั้นตีแสกหน้านักการเมืองอย่างจัง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นมาแล้ว เช่น การถามว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะมีธรรมาภิบาลและพัฒนาประเทศได้ต่อเนื่องหรือไม่ และนักการเมืองหน้าเดิมจะทำให้ชาติเกิดการปฏิรูปหรือไม่

นอกจากนี้ มีบางพรรคการเมืองเลี่ยงจะตอบคำถามย่อยของข้อ 3 เป็นพิเศษ ซึ่งข้อ 3 นั้นถามว่า สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลดำเนินการช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของชาติบ้างหรือไม่ โดยยังแบ่งเป็นอีก 3 คำถามย่อยคือ 3.1 เห็นด้วยกับรัฐบาลในแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่และวางแผนงานอย่างเป็นขั้นตอน เช่น การแก้ไขปัญหาไอยูยู (แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย) หรือไม่

3.2 เห็นด้วยกับการมียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศเพื่อให้การเมืองในอนาคตมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล เกิดการพัฒนาต่อเนื่องหรือไม่ และ 3.3 การทำงานของทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ มิใช่ทำแต่ตามนโยบายพรรคที่ได้หาเสียงไว้

หรือดูแลเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงที่สนับสนุนใช่หรือไม่

จะเห็นชัดว่าบางพรรคการเมือง หลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบข้อ 3.3 เป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองทำมาแล้ว นั่นก็คือการบริหารประเทศไม่ได้ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะเป็นการทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศอย่างเสมอหน้ากัน ไม่ใช่เน้นเฉพาะฐานเสียงของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายนำมาสู่การทำให้ประชาชนแตกแยกกัน ตบท้ายด้วยการที่รัฐบาลประเภทนี้ถูกยึดอำนาจทั้งพี่ทั้งน้อง

คงไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดว่าพรรคการเมืองใดที่หัวหน้าพรรคพูดว่าจังหวัดไหนไม่เลือกพรรคเราก็ไม่ต้องเอางบประมาณหรือรองบประมาณทีหลัง ซึ่งเป็นคำพูดและท่าทีที่ขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน เนื่องจากงบประมาณมาจากภาษีของคนทั้งประเทศ

แม้จะเห็นบทเรียนจากรัฐบาลของที่มาแล้วว่า การพูดการทำเช่นนั้นมีแต่ทำให้ประชาชนแตกแยกกันอย่างหนัก สร้างความไม่พอใจให้คนอีกจำนวนมาก เกิดการประท้วงต่อเนื่อง แต่พอมาถึงรัฐบาลน้อง ก็ยังทำซ้ำรอยเดิมด้วยคำพูดแบบเดิมและสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้ประชาชนที่ไม่ได้เลือกพรรคนี้อย่างหนัก

อย่างที่เห็นได้จากอดีตรองนายกรัฐมนตรีของพรรคหนึ่งที่กล่าวอย่างท้าทายกรณีมีเสียงเรียกร้องให้สร้างศูนย์ประชุมนานาชาติภูเก็ตว่า “ก็ไม่สร้างให้จะมีปัญหาไหมล่ะ วันหน้าจะสร้างให้แน่นอนเมื่อภูเก็ตเห็นความดีของพวกเราและเลือกคนของเรา วันนั้นผมจะไปทำให้ วันนี้ไม่มีอารมณ์จะทำ” ไม่น่าเชื่อว่านี่คือคำพูดจากนักการเมืองที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

เสียงเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่แล้ว และภาคเอกชนเห็นว่าภูเก็ตก็มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเช่นกัน จึงควรจะมีศูนย์ประชุมฯ เป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวด้วย

ดังนั้น คำถามย่อยข้อ 3.3 ที่ว่า การทำงานของรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศใช่หรือไม่ จึงเป็นภาระของบางพรรคที่จะนำกลับไปพิจารณาใคร่ครวญตัวเองให้จงหนักว่า ครั้งหน้าถ้าชนะเลือกตั้งอีกจะยังทำนิสัยเดิม (แบ่งแยก เลือกปฏิบัติประชาชน) หรือไม่

อย่าเรียกร้องการปรองดองจาก คสช. และคนอื่น โดยไม่เรียกร้องจากตัวเอง เพราะตัวเองคือหนึ่งในต้นเหตุความแตกแยก

ส่วนการที่มีบางคนบางฝ่าย ชอบตั้งคำถามว่า ถ้า คสช. มั่นใจว่าคะแนนนิยมดีก็รีบจัดเลือกตั้งจะกลัวอะไร นั้น การที่ คสช. จะกลัวอะไรก็มีเพียง คสช. เท่านั้นที่จะบอกได้

แต่เชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยบอกได้แน่ๆ ว่ากลัวอะไร ถ้าพรรคการเมืองหน้าเดิม พรรคที่ถูกยึดอำนาจไปแล้วสองรอบ ชนะเลือกตั้งครั้งหน้าก็คือ กลัวจะกลับมาทำนิสัยเดิม คือ 1.เลือกปฏิบัติกับประชาชน (จังหวัดไหนไม่เลือกเราไม่ต้องเอางบประมาณ) 2.ลักไก่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 3.เสียบบัตรแทนกันในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เขาถึงว่าการเลือกตั้งไม่ได้รับประกันว่าจะได้รัฐบาลที่มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งมีคุณภาพและจิตสำนึกเพียงพอที่จะมาบริหารประเทศ

ประชาธิปไตยของไทยในช่วงหลังๆ มานี้ นักการเมืองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกที่ชอบอ้างว่ารักประชาธิปไตยนั้น เข้าใจประชาธิปไตยแค่เปลือก คือเข้าใจว่ามีแค่การเลือกตั้ง

ดังนั้น เราจึงมักได้แค่พวก “ชนะเลือกตั้ง” แต่ไม่ได้รัฐบาลที่มีจิตใจและพฤติกรรมเป็นประชาธิปไตย