“สาธารณสุข-ศึกษา” โจทย์ใหญ่ รัฐบาลหน้า ถ้าไม่แก้ เศรษฐกิจแย่-น่าห่วง

มติชนสุดสัปดาห์ มีโอกาสสนทนากับ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นนักคิด และเคยมีชื่อเป็น “ตัวเต็ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากขั้วเพื่อไทย แต่เจ้าตัวได้ปฏิเสธ และมองว่าไม่อยากมีบทบาทหรือตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองทั้งสิ้น

ในขณะที่สภาวะทางการเมืองไทยยังไม่นิ่ง เราจึงชวนคุณศุภวุฒิ “มองสังไทย” ในภาพกว้างว่า ณ ขณะนี้มีอะไรที่ “น่าห่วง” มาก

ได้ข้อสรุปว่า มี 2 ประเด็นใหญ่และเป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลหน้าต้อง “เร่งแก้”

ประเด็นแรกเราจะมีผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเร็วมาก มันมีความเสี่ยงว่าถ้าเก็บภาษีไม่ค่อยได้ จะมีหลายปัญหาตามมา

ตอนนี้เรามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ 12 ล้านคน แต่ในอีก 20 ปี จะกลายเป็น 20 ล้านคน

ประชากรตรงนี้ในอนาคตจะเป็นภาระสองด้าน

หนึ่งคือผู้สูงอายุจะไม่ได้อยู่ในตลาดแรงงาน คนที่เป็นฐานภาษีก็จะหดลงไป ขณะเดียวกันพวกผมซึ่งเป็นผู้สูงอายุก็คงจะอยากให้รัฐบาลมาช่วยอุ้ม เพราะว่าประชากรพวกผมจะต้องได้รับความช่วยเหลือ ทำให้ฐานของผู้ที่เสียภาษีจะลดลงเรื่อยๆ

อีกด้านหนึ่งก็คือ ประชากรผู้สูงอายุจะไม่สบาย เป็นโรคต่างๆ ถ้าระบบสาธารณสุขไม่ดีไม่ตอบโจทย์ก็จะทําให้พวกผมเป็นภาระมากขึ้นเยอะเลย

ดังนั้น ต้องมีการปฏิรูปสาธารณสุขอย่างมาก วิธีปฏิรูปที่ว่าคือต้องฉายภาพว่าระบบสาธารณสุขเดิมที อย่างเรามี 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายนี้คำนี้ถูกต้องเลย แต่ในอดีต “โรค” ส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อ ถึงจะไปรักษา

แต่มายุคหลังคนที่เป็นโรคตอนนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่เป็นโรคที่มีผลมาจาก “ไลฟ์สไตล์” เป็นโรคเรื้อรัง คือเป็นเบาหวาน เป็นโรคอ้วน เป็นโรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคพวกนี้เป็นโรคที่มาจากไลฟ์สไตล์ แล้วมันยืดเยื้อค่าใช้จ่ายจะแพงมาก

ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนระบบสาธารณสุขต้องปรับเปลี่ยนจาก medical care ไปเป็น primary care

คือรัฐต้องสอนต้องกระตุ้นผมว่าอย่าไปอ้วน ออกกําลังกายเยอะๆ กินให้พอประมาณ จะได้ไม่มีความดันสูง ไม่เป็นเบาหวาน ไม่เป็นคอเลสเตอรอล จะได้เป็นภาระกับตัวเองและภาระกับระบบน้อยลง

ระบบ สธ.จึงต้องเปลี่ยนพยากรณ์โรคและระบบการดูแลไปในทางนั้น ก็จะเป็นการช่วย

แต่ว่าอันนี้มันต้องใช้ทรัพยากรเหมือนกัน เป็นการเหมือนลงทุนในการระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ เพื่อจะให้ไม่เป็นภาระ

ถ้าอนาคตไม่สามารถเก็บภาษีเพิ่มแล้วไม่ปรับระบบ พอจำนวนคนที่เสียภาษีลดลง จํานวนคนที่จะใช้ภาษีก็จะเยอะขึ้น แล้วคนสูงอายุอย่างพวกผม เราจะรู้เลยทุกประเทศจะเป็นเหมือนกัน พอไปเลือกตั้งทุกครั้งสัดส่วนของคนสูงอายุที่ออกไปใช้สิทธิ์สูงกว่าคนอายุน้อย กลุ่มประชากรวัยผมจะมีอํานาจทางการเมืองสูงมาก จึงมีพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายว่า ต้องมีเงินเดือน มีบำนาญให้ผู้สูงอายุ จะให้เดือนละ 3,000 บาท

หากวันนี้ประเทศไทยยังไม่เตรียมพร้อม ไม่ทำอะไรเลย เราต้องดูตัวอย่างจาก “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” คุณก็เห็นว่า ปัญหาจะอยู่ที่การเลี้ยงดูคนแก่ ที่อเมริกาเนี่ย มีปัญหา medicare หรือ obama care ก็เถียงกันแต่เรื่องค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข

ฝรั่งเศสก็ทะเลาะกัน เดินขบวนกัน อย่าไปขยายอายุเกษียณนะ

ในสังคมที่พัฒนาแล้ว aging society ก็จะมีประเด็นอยู่แค่ 2 อย่างนี้เป็นหลัก ทุกๆ ที่จะเป็นอย่างนั้น หมดภาพรวมเศรษฐกิจก็จะแย่ ไม่มีคนทํางาน เวลาที่สังคมมีประชากรแก่ตัวแล้วเขาไม่แข็งแรงไม่สามารถทํางานได้ แถมมีเด็กเกิดใหม่น้อยลงไปเรื่อยๆ ฐานภาษีมันลดลง เป็นภาวะกบต้ม คือแปลว่า ในสถานะที่คุณไม่ขึ้นอัตราภาษี แถมจํานวนผู้เสียภาษีลดลง แล้วคุณไม่ได้ทําให้จีดีพีโต คุณไม่ได้ทําให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นก็กบต้ม

 

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลต่อไปในสายตา ดร.ศุภวุฒิคือ สําหรับประเทศไทยตอนนี้ ถ้าจะห่วงอีกด้านก็คือเรื่องการศึกษา เรามีปัญหาตลอดช่วงที่ผ่านมา เรามีรัฐมนตรีศึกษาเปลี่ยนตำแหน่งบ่อยมาก เปลี่ยนยุคหรือในยุคเดียวกัน ตำแหน่งรัฐมนตรีก็เปลี่ยนทุกปี

ปัญหาที่บ้านเรามีในตอนนี้คือเรามีโรงเรียนระดับประถมจำนวนมาก ที่มีจํานวนนักเรียนน้อยมากแบบ 50 คน หรือน้อยกว่านั้น แล้วกระทรวงศึกษาธิการก็บอกว่าถ้าอย่างงั้นก็เอาครูไปสอนน้อยลง เพราะว่าสัดส่วน 1 : 20 แล้วโรงเรียนนั้นเขาต้องสอน 6 ชั้น แล้วครูเขาก็ต้องสอนสองชั้นพร้อมๆ กัน มันต้องโฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงนั้น ดังนั้น ต้องทําให้จำนวนโรงเรียนลดลง จะได้มีนักเรียนเพิ่มขึ้น แล้วครูจะได้มีจํานวนที่เพียงพอ เราต้องทุ่มทรัพยากรลงไปตรงนั้น เพราะว่าถ้าตรงนี้ไม่ดีแล้ว ตรงระดับมัธยมก็จะไม่ดีด้วย

ซึ่งประเทศไทยเราจะเห็นผลสัมฤทธิ์ได้ชัดเจนเลยว่า คะแนน PISA ของเรา (คือการวัดความเก่งของเด็ก) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ของเราต่ำกว่าเขามาก โดยเฉพาะ score สําคัญที่สุดคือ score คะแนนการอ่านเนี่ย ของเรา 20 ปีที่ผ่านมาลดลง ถึงขนาดลดลงเป็น 10 เปอร์เซ็นต์

ถ้าเราไม่ปฏิรูปการศึกษาให้เด็กเรามีศักยภาพสูงให้เขาสามารถที่จะทํางานที่มีรายได้สูง เพื่อจะได้เสียภาษีสูงแล้วทําให้จีดีพีโตนะ คุณจบเลย!

 

ดร.ศุภวุฒิสรุปว่า ปัญหาหลักของประเทศไทยอันที่หนึ่งคือเรื่องสาธารณสุข ต้องเร่งทําตรงนี้เพราะเรามันถดถอย เมื่อไปมองด้านสาธารณสุขที่เป็นที่รู้กันว่าระบบ universal healthcare ของเรา เรื่องดูแลผู้สูงอายุจะเป็นปัญหา จะเป็นภาระหลักในเรื่องของสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมาอย่างน้อยสาธารณสุขเราก็ทําได้ดี แต่ไม่ใช่ว่าเราอยู่นิ่งได้ มันต้องปรับเปลี่ยน

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ ไม่รู้ว่าพรรคไหนได้คุมกระทรวงศึกษาฯ แต่ผมขอให้ดูแลและจัดการทุกปัญหาการศึกษาอย่างจริงจัง แล้วช่วยกันทำให้เด็กของเราซึ่งมีเด็กเกิดลดลงทุกปีๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราจะมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 1 ล้านกว่าคน แต่ตอนนี้จะมีเด็กเกิดใหม่มาสัก 5-6 แสนคนเอง

ฉะนั้น เราจะมีจํานวนเด็กที่เกิดใหม่น้อยลง เราจึงต้องให้การศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะว่าจํานวนเขาน้อยลงมากแล้ว ที่สำคัญห้วงที่ผ่านมาเราเฟลเลยเพราะว่า world bank เคยไปทําทดสอบ ทำรายงานชี้ว่าเด็กไทย 1 ใน 3 ใช้คําว่า อ่านออกเขียนได้ แต่เป็นการอ่านออกเขียนได้แบบเอาไปใช้จริงไม่ได้

พอเป็นอย่างนี้แล้วจีดีพีมันจะโตยังไง แล้วฐานเงินเดือนจะสูงได้ยังไง แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีจากไหน

นี่คือคำเตือน และ “โจทย์ใหญ่” ซึ่งเป็น “โจทย์หิน” ที่รัฐบาลหน้าต้องมองเห็นและ “เร่งเดินเครื่องแก้ไข” ก่อนที่จะ “สายเกินแก้”