ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (2) MOU การศึกษาไทย-บรูไน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (2)

MOU การศึกษาไทย-บรูไน

 

รุ่งอรุณวันใหม่ท้องฟ้าเหนือกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน สดใส ไร้ฝน ฝุ่น ลมพัดเย็นสบาย ระหว่างรอคอยเวลานัดหมาย เบนซ์สีดำคันใหญ่ติดธงชาติไทยนำคุณบุศรา เอกอัครราชทูตไทยมาถึง เพื่อพาคณะประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีไปกระทรวงศึกษาธิการบรูไน อีก 2 กลุ่มที่เหลือแยกไปสถานเอกอัครราชทูต เตรียมร่วมงานสำคัญในบ่ายวันเดียวกัน

การเดินทาง บรูเนียนส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัวคนละคันตามจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่ขับรถเป็น เหตุเพราะราคาน้ำมันถูกจากการช่วยเหลือของรัฐบาล ราคาดีเซลลิตรละ 8 บาท เบนซินลิตรละ 13.74 บาท ต่ำสุดในอาเซียน ราคารถยนต์ถูก รถญี่ปุ่น เกาหลี ขนาดกลางครองตลาดสูงสุดนำโดยโตโยต้าวีออส ไม่ค่อยใช้รถคันใหญ่

รถโดยสารประจำทาง ค่าโดยสารถูกเที่ยวละ 1 ดอลลาร์บรูไนหรือ 25.6 บาทไทย เทียบกับรายได้ของชาวบรูไนนับว่าถูกมากๆ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม ป้ายรถประจำทางไม่แออัดยัดเยียด ไม่ต้องแย่งกันขึ้นจนอลหม่าน

ถนนคราคร่ำไปด้วยรถเก๋งแต่วิ่งสบาย ใช้เวลาเดินทางไม่นานถึงที่หมาย ทั้งประเทศประกอบด้วย 4 เขตปกครอง ได้แก่ Brunei-Muara g เขตเมืองหลวง ท่าเรือและการขนส่ง ประชากรมากสุด Tutong เขตเกษตรกรรม Belait เขตแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และ Temburong เขตพื้นที่ป่าไม้และแหล่งน้ำ

คนขับรถเคารพกฎ มีระเบียบวินัยจราจร ไม่ได้ยินเสียงบีบแตรให้หนวกหูและกวนประสาท มารยาทน่าชื่นชม ขณะมีคนข้ามถนน คนขับรีบหยุดรถก่อนและรอจนกว่าคนเดินเท้าจะผ่านไปด้วยความปลอดภัย

ระหว่างทาง ตามสี่แยกหัวมุมถนน แทบไม่เห็นตำรวจจราจร นอกจากเกิดอุบัติเหตุรถชนกันซึ่งสถิติค่อนข้างต่ำมาก เพราะการทำความผิด ละเมิดกฎหมายแทบทุกเรื่องกำหนดโทษรุนแรง

สังคม สิ่งแวดล้อมปลอดภัย บ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ไม่มีรั้ว ริมทางไม่เห็นคนไร้บ้าน จรจัด แอบซ่อนหลับนอนระเกะระกะ ถนนหนทางสะอาด ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง

ผู้คนสัญจรไปมาหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ชีวิตสะดวกสบายไม่เร่งรีบ เคร่งเครียด สอดส่ายสายตามองหาหมา แมวจรจัดแทบไม่พบเห็นอีกเหมือนกัน

“คนจนบรูไน หน้าตาเป็นอย่างไร ความทุกข์ของบรูเนียนคืออะไรครับ”

ผมทวนความจำถึงคำถามกับ ดร.ทินสิริ ขณะเธอบรรยายสรุปข้อมูลพื้นฐานระบบการศึกษาและวิถีชีวิตคนบรูไนอย่างน่าฟัง ที่ร้านเบอร์เกอร์คิงส์ สนามบินสุวรรณภูมิ

ก่อนย้ำภารกิจที่ทุกคนต้องร่วมกันทำให้บรรลุเป้าหมายการเดินทาง ในนามของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ตามลำดับ

เริ่มด้วยพบผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการบรูไน พบเอกอัครราชทูตไทย เยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2566 ดูโรงเรียน สาธิตการสอน ติดตามความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างครูไทยกับครูบรูไนเกี่ยวกับการสร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ พบผู้แทนภาคธุรกิจไทยในบรูไน และสื่อมวลชนบรูไน

คณะประธานมูลนิธิเดินทางถึงที่หมายตามเวลา Dr. Shamsiah Zuraini Kanchanawati Haji Tajudin ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หญิงเก่งและแกร่ง รอต้อนรับอยู่ก่อนแล้ว

เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาราม ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Durham สหราชอาณาจักร ปริญญาเอกด้านการศึกษา จาก U of Southern California USA

ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จนเป็นอธิการบดีของ Sultan Hassanal Bolkiah Institute of Education (SHBIE) ผู้อำนวยการสถาบันด้านความเป็นผู้นำ นวัตกรรมและการพัฒนา (ILIA) ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวง

บรรยากาศแห่งมิตรภาพ ดำเนินไปด้วยความอบอุ่น เจ้าภาพให้เวลาสนทนากับเพื่อนร่วมวิชาชีพจากเมืองไทยเต็มที่

 

ดร.กฤษณพงศ์ นำเสนอภาพการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หนังสือเกี่ยวกับครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ 1 และ 2 รวม 2 เล่ม และกำลังจัดทำเล่มที่ 3 และ 4 ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อแจกในงานพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 วันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ประเทศไทย

เล่าถึงครู Lim Soh Ngo ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่น 2 ปัจจุบันเกษียณอายุแล้วแต่ยังทำวิจัยการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้โรงเรียน

ล่าสุด Mr.Mohamad Irwan ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 ได้รับรางวัลในวันครูบรูไนปี 2564 เคยสอนโรงเรียนในชนบทถึง 6 วิชาในระดับที่แตกต่างกัน แต่ละปีได้นำเสนอผลงานระดับชาติหลายครั้ง เป็นงานที่มาจากการวิจัยเชิงปฏิบัติ สอดคล้องกับเป้าหมายของบรูไนในปี พ.ศ.2573

ปลัดกระทรวงบอกว่า ศูนย์นวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship and Innovation Centre) หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ สามารถรองรับโครงการความร่วมมือระหว่างครู Wahab และครูประทินของไทย ต่อจากที่ได้ดำเนินการมาแล้ว รวมทั้งสนับสนุนให้โรงเรียนมัธยมศึกษาได้เรียนรู้ถึงการเป็นผู้ประกอบการด้วย

“กระทรวงกำลังดำเนินโครงการด้านการศึกษาพิเศษ จะมุ่งเน้นไปที่การระดมทรัพยากรในศูนย์การเรียนรู้อย่างเฉพาะเจาะจง แนะนำให้ริเริ่มทำโครงการ ‘โรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง’ ‘โรงเรียนคู่แฝด’ และโครงการใหม่จะให้ครูการศึกษาพิเศษของบรูไนที่ได้รับรางวัลครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำรวจความเป็นไปได้ ทำโครงการร่วมกับครูการศึกษาพิเศษของไทย”

“วันที่ 26 ตุลาคม เป็นวันครูของบรูไน ทุกปีสมเด็จพระราชาธิบดีจะพระราชทานรางวัลครูดีเด่น มีหลายประเภท รางวัลสูงสุดก่อนหน้านี้ตกเป็นของอดีตรัฐมนตรี” เธอกล่าวด้วยความชื่นชม

 

ก่อนลากลับ คณะไทยแจ้งว่าการพิจารณาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งต่อไปจะเพิ่มอีก 3 ประเทศได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย

ท่านทูตบุศราเล่าเพิ่มเติมถึงบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษา (MOU) ระหว่างไทยกับบรูไน ลงนามกันไว้ตั้งแต่ 19 มกราคม พ.ศ.2552 ครบกำหนด 5 ปียังไม่ได้ทำใหม่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการบรูไนเห็นด้วย รับจะติดตามดำเนินการต่อ

“ถึงแม้ยังไม่ได้ต่อ แต่ความร่วมมือปกติคงดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่ว่าไม่มีกรอบ ถ้ามีกรอบจะทำได้เต็มที่ เพื่อความชัดเจน สบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย” เธอว่า

ฟังจบ คนหิวข่าวยังไม่หิวข้าวเปิดเว็บไซต์สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการไทย รายงานข้อตกลงความร่วมมือทั้งสองฝ่าย ไทย บรูไนไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง

การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษา การศึกษาด้านเทคนิคและสายอาชีพ การถ่ายโอนหน่วยกิตและการเคลื่อนย้ายนักเรียน การยอมรับในคุณวุฒิร่วมด้านการศึกษาและอาชีวศึกษา การศึกษาพหุภาษา การฝึกหัดครูและการพัฒนาวิชาชีพ การศึกษาด้านค่านิยม

“สองฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้เพิ่มสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริม สร้างทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เข้าไปในข้อตกลง ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ในการจัดการศึกษาของทั้งสองประเทศ” ดร.ทินสิริ หนึ่งในทีมไทยที่เข้าพูดคุยกับปลัดกระทรวงศึกษาธิการบรูไน เล่าเสริมถึงความสำเร็จการพบปะเจรจาทั้งการศึกษาและการทูต อีกหมวกหนึ่งของเธอคือที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย องค์การยูนิเซฟประเทศไทย

 

ได้ฟังและชื่นชมผลการพูดคุยจบ ผมคิดถึงเหตุเกิดที่เมืองไทยในบ่ายวันเดียวกัน 22 พฤษภาคม 2566

แกนนำพรรคว่าที่รัฐบาล 8 พรรคร่วมลงนาม MOU 23 ข้อ ข้อ 21 เขียนว่า ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

MOU การศึกษาระหว่างไทยด้วยกัน กับ MOU ระหว่างไทยกับบรูไน ข้อตกลงไหนจะก้าวรุดหน้ากว่ากัน น่าติดตาม

ใต้ภาพ

Dr. Shamsiah Zuraini Kanchanawati Haji Tajudin ปลัดกระทรวงศึกษาธิการบรูไน ต้อนรับคณะประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และเอกอัครราชทูตไทย ประจำบรูไน