ทวงสิทธิหย่า ในประเทศที่การหย่าร้างผิดกฎหมาย

(Photo by JAM STA ROSA / AFP)

สิทธิที่จะรัก สิทธิที่จะเลิก ของบุคคลใด ก็ย่อมต้องเป็นสิทธิของบุคคลนั้น

สิทธิที่จะแต่งงาน เมื่อความรักสุกงอม หรือสิทธิที่จะหย่าร้าง เมื่อความรักมาถึงทางตัน ก็เช่นกัน

แต่เมื่อพูดถึงเรื่องประเด็นของการหย่าร้างในประเทศฟิลิปปินส์ ดินแดนที่มีประชากรทั้งสิ้น 110 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มากถึง 78% เป็นชาวคาทอลิกนั้น การหย่าร้างถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวในโลก นอกเหนือจากนครรัฐวาติกัน ที่การหย่าร้างถูกบัญญัติให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ยังมีกลุ่มพลังต่อต้านการหย่าร้างที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดอย่างศาสนจักรคาทอลิก ที่ยังต่อต้านการทำแท้งและการคุมกำเนิด ตามหลักคำสอนทางศาสนา เป็นอุปสรรคขัดขวางสำคัญที่ทำให้การทวงสิทธิการหย่าร้างให้กับชาวฟิลิปปินส์เป็นเรื่องยาก

แม้คู่สมรสในฟิลิปปินส์ที่ต้องการจะยุติการใช้ชีวิตคู่หรือแยกทางจากกัน จะสามารถกระทำได้ด้วยการเข้าสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อขอให้ศาลประกาศให้การแต่งงานของคู่สมรสดังกล่าวเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มแรก

แต่กระบวนการดังกล่าวนั้นก็ต้องใช้เวลาดำเนินการเป็นเวลาหลายปี เพื่อไม่ให้มีการคัดค้านทางกฎหมาย

 

อย่างที่ “สเตลลา ซีบงก้า” คุณแม่ลูกสาม วัย 45 ปี ที่ต่อสู้มาเป็นเวลานานหลายปีต้องเผชิญ กับความพยายามที่จะหย่าขาดกับสามีจากการแต่งงานที่เธอไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก เนื่องจากรัฐบาลสามารถยื่นคัดค้านคำประกาศให้การแต่งงานเป็นโมฆะได้

โดยการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายดังกล่าว มีอุปสรรคทั้งในแง่ของความเชื่องช้าในระบบและมีค่าใช้จ่ายสูง

หลายกรณีอาจต้องใช้เงินค่าดำเนินการทางกฎหมายสูงถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.5 แสนบาท) หรือมากกว่านั้น โดยที่ยังไม่มีเครื่องการันตีได้ว่าการหย่าร้างจะประสบผลสัมฤทธิ์

ซีบงก้า ซึ่งใช้เวลาต่อสู้เพื่อขอหย่าขาดจากสามีมาเป็นเวลานานถึง 11 ปีแล้ว บอกว่า เธอไม่เข้าใจว่าเหตุใดการจะขอหย่าสามีถึงได้ยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้

หลังจากต่อสู้มานานถึง 5 ปีและจ่ายเงินค่าดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ ในที่สุดผู้พิพากษาก็ได้ตัดสินเห็นชอบที่จะให้การแต่งงานของซีบงก้าเป็นโมฆะ

ทว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะตัวแทนทางกฎหมายของรัฐบาล ที่มีหน้าที่ปกป้องสถาบันครอบครัวและการสมรสของฟิลิปปินส์ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินดังกล่าวได้สำเร็จในปี 2562

ทำให้ซีบงก้าต้องต่อสู้ต่อด้วยการยื่นร้องขอต่อศาลอุทธรณ์ให้กลับคำตัดสิน ซึ่งเธอกำลังรอการพิจารณาอยู่

โดยซีบงก้าบอกว่าทั้งหลายทั้งปวงที่เราต้องการคือ “อิสรภาพ”

 

ด้านกลุ่มสนับสนุนสิทธิการหย่าในฟิลิปปินส์ โต้แย้งว่า การห้ามหย่าร้าง เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการจะตัดความสัมพันธ์ที่ไปต่อไม่ได้ และการแต่งงานใหม่ รวมถึงการจะหลีกหนีจากคู่สมรสที่ใช้ความรุนแรงเป็นไปได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ดี ได้มีความพยายามผลักดันการออกกฎหมายว่าด้วยการหย่าร้างในสภานิติบัญญัติของฟิลิปปินส์มาแล้วหลายครั้ง โดยในปี 2561 พรรคการเมืองส่วนใหญ่รวมถึงฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านความเห็นชอบในร่างกฎหมายหย่าร้าง แต่กลับต้องมาติดขัดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการหย่าร้างของฟิลิปปินส์ได้ผ่านมาไกลถึงขั้นตอนนี้

ขณะที่ทัศนคติของชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อการหย่าร้าง ยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป

โดยโพลสำรวจที่มีการจัดทำในปี 2548 พบว่า ชาวฟิลิปปินส์ 43% สนับสนุนให้การหย่าร้างเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย แต่ 45% ไม่เห็นด้วย

แต่การสำรวจในเรื่องเดียวกันนี้ในปี 2550 พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับการให้การหย่าร้างเป็นสิ่งถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็น 53% และมีเพียง 32% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

ตอนนี้มีการเคลื่อนไหวจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของฟิลิปปินส์อีกครั้ง ในการผลักดันให้การหย่าร้างเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

โดยมีการยื่นร่างกฎหมายหลายฉบับต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณา ที่ชาวฟิลิปปินส์ต้องรอลุ้นต่อไปอีกเฮือกใหญ่

 

แต่หากชาวฟิลิปปินส์ยังถูกปฏิเสธสิทธิในการหย่าร้าง ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรต้องได้รับ ก็อาจจะทำให้มีผู้คนอีกจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งต้มตุ๋น ที่ล่อลวงเหยื่อในโลกออนไลน์ว่าสามารถช่วยเร่งดำเนินการให้ศาลประกาศให้การแต่งงานของพวกเขาเป็นโมฆะได้

โดยผู้ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งยอมรับว่าได้เสียค่าโง่ครั้งหนึ่งให้กับแก๊งต้มตุ๋นเพื่อช่วยเดินเรื่องหย่าร้างไป 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.4 หมื่นบาท) แล้ว จนทำให้เธออับจนหนทางและมีความคิดที่จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามแทนที่อนุญาตให้หย่าร้างได้ภายใต้กฎหมายอิสลาม

เป็นการผ่าทางตันปัญหา หากฟิลิปปินส์ยังกดทับสิทธิหย่าร้าง!