ทราวิส บาร์กเกอร์ ศิลปินที่ใช้ไอเดียขับเคลื่อนจังหวะกลอง

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

 

ทราวิส บาร์กเกอร์

ศิลปินที่ใช้ไอเดียขับเคลื่อนจังหวะกลอง

 

รูปแบบในการแต่งเพลงมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดทำนองและฮัมมันออกมา, เขียนโน้ตเพลง หรือว่าการแต่งเนื้อเพลงขึ้นมาก่อน

แต่สำหรับ ทราวิส บาร์กเกอร์ ที่ทางนิตยสาร Rolling Stone ยกย่องว่าเป็นมือกลองซูเปอร์สตาร์แห่งวงการเพลงพังก์คนแรกของโลกและติด 1 ใน 100 อันดับมือกลองที่ดีที่สุดตลอดกาลบอกไว้สั้นๆ ว่า

“สำหรับผมแล้วเพลงเริ่มต้นจากจังหวะกลองเสมอ”

“การใช้ไอเดียสร้างสรรค์เพื่อทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเป็นสิ่งที่ศิลปินควรมี เพราะมันจะแสดงถึงตัวตนของศิลปินแต่ละคนได้ชัดเจนที่สุด สำหรับผมแล้วดนตรีไม่เคยมีกฎเกณฑ์ใดๆ มาขวางกั้นไอเดียส่วนตัว ถ้าหากคุณเอาถังมาให้ผมหนึ่งใบ ผมจะแต่งเพลงจากถังๆ นั้นให้คุณฟัง แต่ก่อนที่จะทำอย่างนั้นได้คุณจะต้องมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างหนัก”

ทราวิส บาร์กเกอร์ เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Drumeo ไว้เช่นนั้น

 

ทราวิส บาร์กเกอร์ มีชื่อเต็มว่า ทราวิส แลนดอน บาร์กเกอร์

เขาสร้างชื่อด้วยการเป็นมือกลองให้กับวงพังก์ร็อกขวัญใจแฟนๆ ทั่วโลกอย่าง Blink-182

นอกจากนี้ เขายังเป็นสมาชิกวงดนตรีแนวแร็พ ร็อก อย่าง Transplants

เป็นผู้ก่อตั้งวงป๊อปพังก์อย่าง +44

เคยเป็นสมาชิกของวงพังก์และโพสต์-ฮาร์ดคอร์ อย่าง Box Car Racer, Antemasque และ Goldfinger

ในส่วนของวง Blink-182 จังหวะกลองของวงในอัลบั้มแรกๆ อย่าง Cheshire Cat และ Dude Ranch ยังไม่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากสก็อต เรย์เนอร์ มือกลองคนเก่าของวงเน้นการตีกลองที่รวดเร็วแบบวงพังก์ทั่วๆ ไปโดยที่ไม่ได้ใส่ลูกเล่นหรือว่าเทคนิคใหม่ๆ เข้าไป

แต่พอทราวิส บาร์กเกอร์ เข้าไปเป็นมือกลองคนใหม่ในปี 1998 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

Enema of the State อัลบั้มชุดแรกที่ได้ทราวิส บาร์กเกอร์ มาเป็นสมาชิกในตำแหน่งกลองเป็นงานเพลงในแนวป๊อปพังก์และสเก็ตพังก์

ในปี 1999 ซึ่งเป็นปีที่งานเพลงชุดนี้วางจำหน่ายยังคงเป็นช่วงที่วงการเพลงอเมริกันป๊อปพังก์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากที่วงอย่าง Green Day และ The Offspring ได้ปูทางความสำเร็จของดนตรีแนวนี้มาตั้งแต่กลางยุค 90

ทราวิส บาร์กเกอร์ ใช้จังหวะกลองอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวในการปรับเปลี่ยนสไตล์ดนตรีของวงมาตั้งแต่นั้นด้วยการนำจังหวะกลองพื้นเมืองของชาวแอฟริกันในประเทศคิวบา, บอสซาโนวา, เร็กเก้ ไปจนถึงฮิปฮอป มาใช้ในการทำงานเพลง ซึ่งสร้างสีสันให้กับดนตรีพังก์ร่วมสมัยในเวลานั้นเป็นอย่างมาก

คล้ายๆ กับสมัยที่วงพังก์ร็อกระดับตำนานจากเกาะอังกฤษอย่าง The Clash ได้นำจังหวะของดนตรีเร็กเก้, นิวเวฟ, ร็อกอะบิลลี หรือแม้กระทั่งอาร์แอนด์บีมาผสมผสานไว้ในงานเพลงของวงมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 70

 

อัลบั้มเดี่ยวของทราวิส บาร์กเกอร์ ที่ได้รับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากทั้งแฟนๆ และนักวิจารณ์ดนตรีเป็นอย่างมากก็คือ Give the Drummer Some (วางจำหน่ายปี 2011)

โดยชื่ออัลบั้มหยิบยืมมาจากเพลงชื่อเดียวกับของกลุ่มศิลปินฮิปฮอป Ultramagnetic MCs ที่ตั้งชื่อเพลงเพื่อเป็นการให้เกียรติกับเพลง Funky Drummer ของราชาเพลงโซล เจมส์ บราวน์

ด้านทราวิสได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าอัลบั้มชุดนี้ “ไม่มีแนวเพลงมาจำกัด” ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ทักษะการตีกลองที่มีทางโน้ตเป็นของตัวเองในการเล่นแร่แปรธาตุทางดนตรีจนทำให้จังหวะกลองเป็นพระเอกของอัลบั้มชุดนี้ทั้งๆ ที่นี่คืองานเพลงที่ได้ศิลปินฮิปฮอป, เฮฟวี่เมทัล ไปจนถึง EDM ระดับแถวหน้าของวงการมาร่วมงานด้วยหลายคน

ไม่ว่าจะเป็น RZA, Lil Wayne, Rick Ross, Raekwon, ทอม มอเรลโล แห่งวง Rage Against the Machine, Slash แห่งวง Guns N’ Roses, ดีเจ สตีฟ อาโอกิ, Pharrell, Tech N9ne, Cypress Hill, Kid Cudi, Yelawolf, Snoop Dogg และอีกเพียบ

ทราวิส บาร์กเกอร์ เริ่มโปรเจ็กต์อัลบั้มชุดนี้ในช่วงที่ Blink-182 อยู่ในช่วงพักวงและงานของเขาส่วนใหญ่ในช่วงนั้นคือการทำเพลงรีมิกซ์ร่วมกับเพื่อนสนิท DJ AM

แต่อุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ทำให้ DJ AM เสียชีวิตและตัวเขาเองก็ได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้โปรเจ็กต์หยุดชะงักลงไปนานนับปี กว่าที่เขาจะได้กลับมาสานต่องานเพลงที่ค้างคาไว้

สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ทราวิสทำอัลบั้มนี้ในขณะที่กำลังทัวร์กับวง Blink-182 ทำให้เขามีเวลาไม่มากนัก โดยตัวทราวิสเองเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าเขาต้องแต่งเพลงบนเรือ (เพราะเข็ดขยาดการนั่งเครื่องบิน) ในระหว่างเดินทางข้ามหาสมุทรแอตแลนติก

นอกจากนี้ เขาได้สร้างสตูดิโอส่วนตัวบนเรือเอาไว้อัดเสียงกลองและใช้เวลา 6 วันในการทำงานเพลงระหว่างการเดินทางจากอเมริกาไปยังทวีปยุโรป

 

ในวัย 47 ปี ทราวิส บาร์กเกอร์ ยังคงตีกลองได้อย่างดุดันและไอเดียในการกระหน่ำกลองของเขาก็ยังคงสร้างความเซอร์ไพรส์ได้เสมอ

“สิ่งที่ผมทดลองอยู่ตลอดก็คือการเซ็ตกลองชุดเอาไว้ในห้องซ้อมชั่วคราวหลังเวทีคอนเสิร์ตเพื่อฝึกการตีกลองด้วยจังหวะใหม่ๆ จังหวะกลองที่ผมตีในอัลบั้มจะไม่เหมือนกับที่ผมตีบนเวทีเสมอไป และมันอาจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละโชว์ ผมรักดนตรีแจ๊ซและการอิมโพรไวส์ (การเล่นแบบด้นสด) เพื่อให้เข้ากับดนตรีทุกสไตล์คือสิ่งที่ผมชอบ”

ทราวิส บาร์กเกอร์ มีลายเซ็นในการตีกลองเป็นของตัวเอง ก่อนที่จะซ้อมกลองในแต่ละครั้งเขาจะวอร์มร่างกาย, ยืดกล้ามเนื้อแขนและมืออย่างสม่ำเสมอ การตีกลองจากช้าสุดไปเร็วสุดบนกลองเล็กหรือสแนร์ดรัมคือสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการสร้างความจำให้กับกล้ามเนื้อมือ

หลังจากนั้น ทราวิสจะฝึกตีกลองแบบแจ๊ซที่ใช้ความเร็วมากๆ ในการฝึกทักษะ เดิมที ทราวิสเป็นมือกลองถนัดซ้าย แต่ก็ฝึกตีกลองในแบบคนถนัดขวาจนเชี่ยวชาญ

ดังนั้น เขาจึงสามารถตีกลองอย่างคล่องแคล่วได้ด้วยมือทั้ง 2 ข้าง

ส่วนกลองทอมและสแนร์ดรัมของทราวิส จะตั้งแบบราบเพราะเขาชินกับการตีสแนร์ดรัมในวง Drumline ที่ตำแหน่งกลองจะอยู่ต่ำกว่าเอวลงไป ซึ่งจะแตกต่างจากมือกลองทั่วไปที่จะวางกลองทั้ง 2 ชนิดแบบเอียงเข้าหาตัว

ส่วนการนำสไตล์การตีกลองแบบพังก์มาผสมกับการตีกลองแบบ Drumline ในแบบวงโยธวาทิตทำให้สไตล์การตีกลองของทราวิสมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เห็นได้ชัดจากไลน์กลองในเพลง What’s My Age Again? และ Going Away to College ของวง Blink-182

 

สไตล์การตีกลองที่เต็มไปด้วยไอเดียและการใส่ทางโน้ตที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ ทำให้ทราวิส บาร์กเกอร์ เป็นมือกลองที่ปฏิวัติมาตรฐานวงการเพลงพังก์ร็อกที่โดยปกติแล้วจะเน้นการตีกลองตามจังหวะที่ไม่ซับซ้อนมากแต่มีความเร็วสูงให้กลายเป็นสไตล์ที่มีแต่ตัวเขาเท่านั้นที่จะตีแบบนี้ได้

โดยเพลงของวง Blink-182 ส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วยจังหวะกลองและหลายเพลงก็มีท่อน “ดรัม ฮุก” ซึ่งหาได้ยากสำหรับวงพังก์หรือวงร็อกทั่วๆ ไป

เพลงที่มีดรัม อินโทร สุดมันก่อนเข้าเพลงที่เจ๋งมากๆ ก็คือเพลง First Date

ส่วนความเร็วในการตีกลองของเขาถือเป็นความเร็วของปีศาจเลยทีเดียว โน้ตกลองที่แน่นปึ้กและตีด้วยความเร็วสูงมากๆ

ในเพลง Heart’s All Gone ถือเป็นเพลงที่มีจำนวนบีทต่อ 1 นาที (BPM) สูงสุดของวง Blink-182 และเป็นเพลงที่มีการเล่นกลองเบส 2 ใบหรือ Double Bass แทบทั้งเพลง

ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นการปฏิวัติเพลงพังก์ร็อกให้ไปไกลในอีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว

 

ในปัจจุบัน ทราวิส บาร์กเกอร์ ถูกเรียกตัวให้ไปเป็นมือกลองรับเชิญให้กับศิลปินมากมาย

และด้วยความที่เขาไม่ได้ยึดติดการเล่นกลองเอาไว้กับดนตรีแนวใดแนวหนึ่งก็ทำให้เขามีเครดิตการตีกลองทั้งในวงการเพลงพังก์, อัลเทอร์เนทีฟ ร็อก, เมทัล, อาร์แอนด์บี

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการเพลงอเมริกันฮิปฮอปร่วมสมัย โดยศิลปินที่ทราวิสเคยร่วมงานด้วยก็มี อาทิ Machine Gun Kelly, YUNGBLUD, 24kGoldn, Rozei, วิลโลว์ สมิธ (ลูกสาวของวิล สมิธ), KennyHoopla และอีกมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นแร็พเปอร์และวงร็อกทั้งในกระแสไปจนถึงนอกกระแส

โดยล่าสุด ทราวิสเพิ่งจะไปตีกลองให้กับดีเจหนุ่ม ILLENIUM และร็อกเกอร์สาว เอวริล ลาวีน ในเพลง Eyes Wide Shut

ด้วยฝ่าเท้าและสองมือ บวกกับไอเดียที่ไม่หยุดนิ่งทำให้ทราวิส บาร์กเกอร์ เป็นมือกลองที่มีศิลปินอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดคนหนึ่ง

และเชื่อได้เลยว่าเขาจะปล่อยงานเพลงผ่านการตีกลองที่น่าทึ่งออกมาให้ได้ฟังกันไปอีกนานแน่นอน