จรัญ พงษ์จีน : ปรับทัพ ครม. “ตู่ 5” กับการมาของ “ศิริ จิระพงษ์พันธ์”

จรัญ พงษ์จีน

ขอรายงานย้ำอีกครั้ง กับการปรับคณะรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในนามของ “ตู่ 5” ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนสำคัญสุด มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

จาก “ตู่ 4” ต้องพ้นจากตำแหน่ง เก็บฉากเก็บจอกลับบ้านจำนวน 9 คน ประกอบด้วย 1. “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” รองนายกรัฐมนตรี 2. “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” รองนายกรัฐมนตรี 3. “นายออมสิน ชีวะพฤกษ์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 4. “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

5. “นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6. “นางอรรชกา สีบุญเรือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 7. “ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 8. “นางอภิรดี ตันตราภรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ 9. “นายพิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

พ้นจากตำแหน่งเดิม เปลี่ยนย้ายกระทรวงใหม่ 7 คน ได้แก่ 1. “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นรองนายกฯ 2. “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 3. “พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

4. “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 5. “ชุติมา บุณยประภัศร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 6. “นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 7. “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

แต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ จำนวน 10 คน เป็น 8. “พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 9. “นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 10. “นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 11. “นายกฤษฎา บุญราช” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 12. “นายลักษณ์ วจนานวัช” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ 13. “นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

14. “นายศิริ จิระพงษ์พันธุ์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 15. “นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 16. “นพ.อุดม คชินทร” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 17. “นายสมชาย หาญหิรัญ” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ควบตำแหน่ง 1 ราย คือ 18. “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” รองนายกรัฐมนตรี กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ที่ยังคงดำรงตำแหน่งเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 19. “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 20. “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ 21. “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ 22. “นายดอน ปรมัตถ์วินัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 23. “นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ

24. “นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 25. “นายวิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 26. “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 27. “นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 28. “พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

29. “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 30. “นายสุธี มากบุญ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 31. “นายวีระ โรจน์พจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 32. “นายปิยะสกล สกลสัตยาทร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 33. “นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ 34. “นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กับ 35. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ทั้งหมดคือ “โฉมหน้า ครม.ตู่ 5” เต็มคณะ

 

ในการปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” บุคคลที่สร้างความฮือฮา พลิกล็อกวินาศสันตะโรได้มากกว่าใครเพื่อน คงไม่มีใครเกินไปกว่า “ด๊อกเตอร์ศิริ จิระพงษ์พันธ์” ม้ามืดนอกสายตา โผที่นำเสนอตามหน้าสื่อ หรือกูรูคาดเดากันออกมาหลายนาม ถูกหักปากกาเซียน พากันเงิบทุกสำนัก ชื่ออยู่นอกสารบบ แทงผิดกันราบคาบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตามไปดูโปไฟล์ “ด๊อกเตอร์ศิริ” ถือว่าไม่ธรรมดา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก California Institute of Technology สาขาวิศวกรรมเคมี เกียรตินิยม และเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

กลับมาเมืองไทยได้พักใหญ่ เป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพราะมีความรู้ในเรื่องปิโตรเลียมธรรมชาติ และปิโตรเลียมเคมี

ช่วงหนึ่ง “ดร.ศิริ” ถูกเชิญเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารกรุงเทพ ในเรื่องการวางแผนและแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อประกอบการวางแผนทางโครงสร้าง ซึ่งแบงก์กรุงเทพให้ความสนใจมากในขณะนั้น

นอกจากนั้น ยังมีประสบงการณ์ในการออกแบบโรงแยกก๊าซ-โรงกลั่นน้ำมันอีกด้วย

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เป็นคนที่มีความเข้าใจค่อนข้างดีเป็นพิเศษต่อข้อดี-ข้อเสียของระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมในประเทศ

แน่นอนเลยว่า จากคุณสมบัติส่วนนี้ ทาง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” น่าจะมีพรายกระซิบให้ดึงตัว “ดร.ศิริ” มาทำงานสำคัญที่คั่งค้างอยู่ นั่นก็คือ

การผลักดันให้เปิดสิทธิสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือ “รอบที่ 21” โดยเฉพาะกระบวนการให้สิทธิสำรวจแหล่งบงกช-เอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566

ซึ่งคณะรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” ให้ความเห็นชอบกับร่าง “พ.ร.บ.ปิโตรเลียม” ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 แต่กลับสะดุด ยังไม่สะเด็ดน้ำ

ดังนั้น เชื่อว่าภารกิจหลักในการดึง “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” มานั่งว่าการกระทรวงพลังงาน น่าจะเพื่อการนี้ มากกว่ากิจอื่นใดทั้งหมด

โปรดติดตามดูกันต่อไปว่า จะต้านแรงกระแทกจากเอ็นจีโอสายพลังงานไทย ไหวหรือไม่