อุษาวิถี (30) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (30)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

หยวนนับเป็นราชวงศ์แรกที่เป็น “ชาวต่างชาติ” ในสายตาของคนจีนฮั่น ถึงแม้จะอยู่ได้ไม่ถึงร้อยปีก็ตาม และภายใต้เวลาที่ไม่ยาวนานนี้เอง ที่ทำให้ราชวงศ์หยวนแทบไม่ได้แตะต้องกับหลักการปกครองที่ลัทธิขงจื่อได้ฝังรากลึกลงไปเมื่อก่อนหน้านี้

ครั้นเมื่อราชวงศ์หยวนถูกโค่นล้มลงโดยขบวนการชาวนาที่นำโดยชาวนาจนชื่อ จูหยวนจาง และเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty ค.ศ.1368-1644) พร้อมกับตั้งตนเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์นี้ โดยมีนามว่า “ไท่จู่” และมีนามรัชกาลว่า “หงอู่”

กล่าวสำหรับลัทธิขงจื่อแล้ว นับได้ว่าเป็นลัทธิที่ราชวงศ์นี้สนใจ และให้ความสำคัญมาตั้งแต่ก่อนที่จะโค่นล้มขับไล่พวกมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนออกไปได้ด้วยซ้ำ

กิจกรรมที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ การจัดตั้งสถาบันราชวิทยาลัยขึ้นมาเพื่อสอนหลักคิดของขงจื่อโดยเฉพาะ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นในหลักคำสอนของขงจื่ออย่างเป็นด้านหลัก

นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้ มีทั้งที่มาจากลูกหลานของขุนนางและสามัญชน เมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตแล้ว ก็จะได้รับการบรรจุเป็นขุนนางในราชสำนักต่อไป จะเป็นขุนนางชั้นสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความสามารถที่พิจารณาจากผลการสอบเป็นที่ตั้ง

ส่วนเนื้อหาหรือหลักสูตรนั้น ได้ถือเอาตำราที่จูซีปรับปรุงขึ้นมาตั้งในสมัยราชวงศ์ซ่ง

 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเท่ากับว่า ลัทธิขงจื่อถูกทำให้เคร่งครัดตายตัวมากยิ่งกว่าเก่า ดังเช่นที่จะเห็นได้จากวิธีการสอบไล่ ที่นักศึกษาจะต้องท่องจำตำราดังกล่าวให้ได้อย่างแม่นยำ และเมื่อสอบไล่ได้แล้วก็จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง

ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นว่า ราชสำนักหมิงได้แต่บรรดาขุนนางที่เป็นเอตทัคคะในทางลัทธิขงจื่อ พ้นไปจากนี้แล้วก็คือ หลักคิดหรือภูมิปัญญาที่อยู่นอกลัทธิขงจื่อจะถูกดูแคลน และไม่อยู่ในสายตาของขุนนางเหล่านี้แม้แต่น้อย

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาล่วงเลยไปจนถึง ค.ศ.1420 ลัทธิขงจื่อก็กลายเป็นเสมือนอีกศาสนาหนึ่งที่จักรพรรดิทรงให้การนับถือ กระทั่งเลยไปจนถึงให้มีการสร้างศาลขงจื่อขึ้นมาในกรุงปักกิ่ง อันเป็นราชธานีของรางวงศ์

พร้อมกันนั้น ขนบจารีตก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมายิ่งกว่าเมื่อก่อนหน้านี้ ตัวของขงจื่อจึงมีฐานะไม่ต่างกับเทพเจ้าตามไปด้วย

ที่สำคัญ ขนบจารีตได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของบรรดาวงศานุวงศ์ นักปราชญ์ในลัทธิขงจื่อ และบรรดาขุนนางหรือสาวกอื่นๆ เรื่อยมา จนอาจกล่าวได้ว่า ลัทธิขงจื่อได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในสังคมจีนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ศาสนาพุทธและลัทธิเต้า ที่แม้จะอยู่ในความเคารพนับถือของประชาชนอย่างต่อเนื่องเช่นเดิมก็ตาม แต่ก็ไม่ซึมลึกเท่ากับที่ลัทธิขงจื่อได้เป็น

ที่สำคัญ ผลแห่งสถานะเช่นนี้ของลัทธิขงจื่อหาได้หยุดยั้งเพียงเท่านี้ เพราะด้วยสถานะที่เอื้อต่อเสถียรภาพให้แก่สถาบันทางการเมืองของชนชั้นปกครองนี้เอง เมื่อกองทัพของพวกแมนจูสามารถโค่นล้มราชวงศ์หมิงลงได้ พร้อมกับสถาปนาราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ขึ้นมาแทนที่

ราชวงศ์นี้ก็ไม่ลังเลที่จะหยิบยืมเอาลัทธิของพวกฮั่นนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนบ้าง

 

ราชวงศ์ชิงตระหนักดีว่า คนจีนหรือพวกฮั่นนั้นไม่ได้มองตนเป็นพวกเดียวกัน และเห็นว่าตนเป็นชน “ต่างชาติ” ที่เข้ามายึดครองจีนไม่ต่างกับพวกมองโกลเมื่อก่อนหน้านี้

ดังนั้น การปกครองของพวกมองโกล ที่พยายามเอาวัฒนธรรมมองโกลมาใช้กับสังคมจีนจนประสบกับความล้มเหลว (เช่น ไม่อาจทำลายอิทธิพลของลัทธิขงจื่อลงไปได้) ในด้านหนึ่งจึงกลายเป็นบทเรียนให้แก่พวกแมนจูไปด้วย

จากเหตุนี้ จึงมีส่วนไม่น้อยในการทำให้พวกแมนจูต้องระมัดระวังในการปกครองคนจีนของตน ฉะนั้น พลันที่สถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นมาได้ไม่นาน เรื่องแรกๆ ที่ชนชั้นปกครองแมนจูได้กระทำลงไปก็คือ การดึงเอาบัณฑิตลัทธิขงจื่อมาเป็นพวก

ด้วยเหตุนี้ สถาบันทางการเมืองต่างๆ จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยบัณฑิตเหล่านี้ พร้อมกับการวางตนเยี่ยงชนชั้นผู้ดีตามคติลัทธิขงจื่อพึงเป็น ด้วยการให้ความสำคัญกับรีตหรือ “หลี่” อย่างเคร่งครัดและภูมิใจ

กระทั่งกล่าวได้ว่า ระบบการปกครองของพวกแมนจูนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ การปกครองที่ใช้ลัทธิขงจื่อมาเป็นรากฐานนั้นเอง

 

การที่ราชวงศ์ชิงใช้วิธีดังกล่าวในทางการเมืองนับว่าเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของพวกแมนจูอยู่ไม่น้อย เป็นอยู่แต่ว่า ลัทธิขงจื่อที่ถูกให้ความสำคัญอย่างสูงดังกล่าว ได้ดำรงอยู่โดยไม่แตกต่างกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อก่อนหน้านี้

นั่นคือ เคยเป็นไปเพื่อเสถียรภาพและผลประโยชน์แก่ชนชั้นปกครองอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้นเช่นเดิม และเมื่อผลดีเกิดขึ้นเช่นนี้ การที่จะเปิดรับโลกทัศน์ภายนอกที่แตกต่างไปจากลัทธิขงจื่อ ในด้านหนึ่งจึงอาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ของตนไปด้วย

และด้วยเหตุนั้น ราชวงศ์ชิงจึงเสมือนกับโชคดีอยู่ประมาณสองศตวรรษแรก เนื่องเพราะพลังโลกทัศน์จากภายนอกยังไม่กล้าแข็งพอที่จะเผชิญหน้ากับจีน

อย่างน้อยก็จนถึงราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ที่ราชวงศ์ชิงมีความมั่นคงเกรียงไกรโดยปราศจากพลังอื่นใดมาท้าทาย

 

ราชวงศ์ชิงเริ่มอ่อนแอลงเมื่อย่างเข้าสู่กลางศตวรรษดังกล่าว

โดยเหตุการณ์ภายหลังจากนั้น ประวัติศาสตร์จีนก็ถูกบันทึกลงไปด้วยความเร้าใจและหดหู่ สงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษ (ค.ศ.1840-1842) ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีนต่อชาว “ต่างชาติ” ที่แท้จริง

กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว (กบฏรัฐสวรรค์สันติ, ค.ศ.1850-1860) ของขบวนการชาวนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ที่แม้จะถูกปราบลงได้ แต่ก็ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลงมาก

หลักคิดของปัญญาชนนักปฏิรูปในราชสำนักชิงที่นำไปสู่การปฏิรูปร้อยวัน (ค.ศ.1898) ก่อนที่จะถูกล้มเลิก พร้อมกับการหวนกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งของฉือสี่ไท่โฮ่ว (ซูสีไทเฮา)

และการลุกฮือขึ้นของกบฏนักมวย (ค.ศ.1898-1900) ที่ต่อมาถูกกองกำลังต่างชาติรวมแปดชาติเข้าตอบโต้ปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด

และขบวนการปฏิวัติที่นำโดย ดร.ซุนยัตเซน ซึ่งเริ่มจัดตั้งองค์กรของตนขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และทวีความแข็งแกร่งเรื่อยมา

สถานการณ์ที่ยุ่งยากเหล่านี้ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากพลังโลกทัศน์ตะวันตกที่ถาโถมเข้ามาท้าทายจีนพร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม (ที่มีญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย) อย่างรวดเร็วและรุนแรง