ธุรกิจพอดีคำ : “หิ้งสู่ห้าง”

In this Sunday March 21, 2010 photo, Robinson's Place, a huge shopping mall in Manila, Philippines is shown. The Philippines is known for many things: beautiful beaches, overseas workers and the multitude of shoes owned by former First Lady Imelda Marcos but less known to the west is that the archipelago is a shoppers' dream, the home of three of the world's 10 largest malls. (AP Photo/Bullit Marquez)

ทุกวันนี้ วงการ “สตาร์ตอัพ” บ้านเราดูออกจะ “คึกคัก” เอามาก

หลายบริษัทใหญ่ๆ เริ่มจะมีการ “ลงทุน” ให้เห็นกัน

ทั้งบริษัทสื่อสารคมนาคม ธนาคาร บริษัทพลังงาน อสังหาริมทรัพย์

บริษัทที่มีรายได้พันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน

ตัดสินใจตั้งสิ่งที่เรียกว่า Venture Capital หรือกองทุนร่วมลงทุน เพื่อสนับสนุน “สตาร์ตอัพ” ที่จะมาช่วยให้งานของบริษัทก้าวกระโดดต่อไปได้

มีหลายบริษัท มีการทำโครงการช่วยผู้ประกอบการที่เรียกว่า accelerator ก็ไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็น DTAC หรือ SCB

สัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดเลย ก็มี “อีกแห่ง” ประกาศจะให้ “เงินทุน” กับสตาร์ตอัพอีกแล้ว

คราวนี้เป็นเงินถึง 100 ล้านบาทด้วยกันเลยทีเดียว

นั่นคือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นั่นเอง

สถาบันการศึกษาระดับชาติ ก็ออกโรงสนับสนุน “ผู้ประกอบการ” ยกใหญ่เลยทีเดียว

ผมเองในฐานะศิษย์เก่า และเคยได้รับเชิญไปสอนวิชา Design Thinking ในมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง

ก็ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมเป็น “โค้ชผู้ประกอบการ” กับผู้เชี่ยวชาญอีกหลายๆ ท่านครับ

ไม่ว่าจะเป็น พี่โบ้ต ไผท เจ้าของสตาร์ตอัพตลาดออนไลน์วัสดุก่อสร้างแนวหน้าของไทย ที่ชื่อ Builk

พี่ป้อม ภาวุธ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเจ้าแรกๆ ของไทย ชื่อ ตลาด.com

พี่นก ซีอีโอของบริษัท SEA ประเทศไทย

พี่แทป รวิศ เจ้าของแบรนด์ “ศรีจันทร์”

เป็นเกียรติและรู้สึก “ตัวเล็ก” อย่างมากครับ พูดเลย

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงจะพอเดาได้ว่า “เงินทุน” นั้นเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ในการทำ “สตาร์ตอัพ” เลยก็ว่าได้

แต่ถ้าถามว่า “อะไร” ที่เป็นปัจจัยทำให้สตาร์ตอัพไปไม่ถึงฝั่งฝันมากที่สุด

สิ่งนั้นไม่ใช่ “เงินทุน” มีไม่พอครับ แต่เป็น…

เราคงจะเคยได้ยินคำว่า “หิ้งสู่ห้าง” กันมาบ้าง ใช่มั้ยครับ

หิ้ง ก็คือ ชั้นวางของที่บ้าน

ห้าง หมายถึง ห้างสรรพสินค้า

หิ้งสู่ห้าง โดยนัย หมายความว่า เอาของที่เราสร้างขึ้นมาเสร็จแล้ววางไว้บนหิ้ง นำสิ่งนั้นไปปัดฝุ่นให้สะอาด แล้วนำออกไปวางขายที่ห้างสรรพสินค้า

คำว่า “หิ้งสู่ห้าง” นั้น ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในบริษัทเอกชนและภาครัฐ

หลายครั้งเป็นการสื่อว่า “งานวิจัย” ดีๆ ควรจะนำออกมาสู่ตลาด นำออกมาค้าขาย ให้เกิด “มูลค่า”

ใช่ครับ บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยหลายแห่ง มี “สถาบันวิจัย” เป็นของตัวเอง

คนที่เก่งๆ ในสายงานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็จะรวมตัวกันอยู่ที่นั่น

การศึกษาโดยเฉลี่ยมักจะ “สูงกว่า” ค่าเฉลี่ยขององค์กรส่วนอื่นๆ

มีงบประมาณปริมาณมาก ในการทำ “วิจัย” เพื่อหวังว่าจะมี “นวัตกรรม” เกิดขึ้น

ช่วยสร้าง “มูลค่า” ให้กับบริษัทในระยะยาว

หากแต่ว่า หลายครั้ง “หิ้งสู่ห้าง” ก็ไม่ได้ทำกันง่ายๆ

เราจะเห็นได้มากมายจาก “งานวิจัย” ในมหาวิทยาลัย

งานวิจัยที่ดี ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนต้องการเสมอไป

หรือถึงแม้จะมีคนต้องการ ก็ไม่ได้แปลว่า “เขา” จะซื้อ “สินค้า” ชิ้นนั้นทันที ที่ราคาเท่าไรก็ได้

การสร้าง “มูลค่า” ให้กับ “งานวิจัย” ที่เรียกว่า “หิ้งสู่ห้าง” นั้น

พูดง่าย แต่ ทำยาก

เพราะการทำงานวิจัยที่ดี ต้องคิดเอา “ผู้ใช้งาน” หรือ “ลูกค้า” มาวางไว้ตรงกลาง “หัวใจ” ตั้งแต่เริ่มทำงานแล้วด้วยซ้ำ

เป็นเรื่องยากมากที่จะเอา “งานวิจัย” ชิ้นหนึ่งที่ดูล้ำมากมาย แต่ “คนไม่ต้องการ” มาวางที่ “ห้าง” แล้วคาดหวังไปเองว่าจะมี “คนซื้อ”

และนี่คือ “กับดักราคาแพง” สำคัญขององค์กรในยุคใหม่ ที่ต้องการวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ

ไม่ให้ “ซ้ำรอยอดีต” ในการเสียเวลา “วิจัยเทคโนโลยี” ล้ำๆ แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ “ตลาดต้องการ”

บริษัท GE ผู้คร่ำหวอดด้านเทคโนโลยีพลังงานระดับโลก ก็ติด “กับดัก” นี้หลายครั้งหลายครา

เขาจึงจ้าง Eric Ries ผู้คิดค้นวิชา Lean Startup ขึ้นมาให้กับบรรดา “สตาร์ตอัพ” ทั้งหลาย

ให้นำวิชา Lean Startup มาใช้กับองค์กร

ถามว่า เจ้า Lean Startup เป็นอย่างไร ก็จะขอตอบง่ายๆ ดังนี้ครับ

ลองนึกดูว่า ถ้าเราจะสร้าง “เครื่องยนต์เครื่องบิน” แบบใหม่ เราต้องทำอย่างไร

วิธีเก่าๆ อาจจะเริ่มด้วย “การวิจัย” และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่างๆ

เครื่องยนต์แบบไหนถึงจะสร้างประสิทธิภาพได้สูงขึ้น

วัสดุแบบไหนนะที่น่าจะนำไปทำใบพัด ต่างๆ นานา

พอคิดได้แล้ว ก็ลงมือศึกษา ศึกษา ศึกษา

ทำต้นแบบขึ้นมา ทดสอบในโรงงาน ว่าใช้งานได้หรือไม่

ใช้ได้ก็ผ่านเข้าสู่การออกขายลูกค้าจริง ใช้ไม่ได้เริ่มทำใหม่

วนไปอยู่อย่างนั้น เป็นเส้นตรง ส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายปีด้วยกัน

กระบวนการแบบใหม่ที่เรียกว่า “Lean Startup” ของ Eric Ries นั้น ไม่เชื่อเรื่องการศึกษาในกระดาษ

แต่เชื่อเรื่องการ “สร้างต้นแบบ” ออกไป “ทดสอบกับลูกค้า” อย่างรวดเร็ว

เรียกกระบวนการนี้ว่า สร้าง (Build) – วัดผล (Measure) – เรียนรู้ (Learn)

สร้างต้นแบบขึ้นมาด้วยความรวดเร็ว ไม่ใช้งบประมาณมากมาย

นำออกสู่ตลาดเลยเพื่อ “ทดสอบ” ผลิตภัณฑ์ว่าตรงใจลูกค้าหรือไม่ ปรับปรุงตรงไหนได้บ้าง

และ “เรียนรู้” ผลลัพธ์ของการทดสอบ นำกลับมาสร้าง “ต้นแบบ” อันถัดไปอย่างรวดเร็ว

สร้างเครื่องยนต์คร่าวๆ หนึ่งอัน เพื่อนำไปให้ลูกค้าหนึ่งคนลองใช้

ให้เขา “ด่า” ให้เขา “ติ” เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้จากเขา ก่อนที่เราจะไปทำอะไรใหญ่โต

เสียเงินทองมากมาย ทำของที่ “คนไม่ต้องการ”

เป็นการจบหนึ่งวงโคจรการเรียนรู้ของ “ธุรกิจ”

บริษัท GE ที่มีพนักงานวิเคราะห์มากมาย ต้องเปลี่ยนจากใช้ “หัวคิด”

มาเป็นใช้ “มือคิด” มากขึ้น

คิดผ่านการ “ลงมือทำ”

กลายเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “ฟาสต์เวิร์ก (FastWork)” ในที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น จะเห็นว่าจุดประสงค์เดียวของการนำ “Lean Startup” มาใช้ในองค์กรใหญ่

ก็เพื่อป้องกันปัญหา “หิ้งสู่ห้าง”

ถ้าเราพูดถึง “นวัตกรรม” แล้วละก็

การ “ทดลองตลาด” เพื่อนำไปปรับปรุงเป็น “กระบวนการ” ที่สำคัญ

และต้องทำให้ “บ่อย” และ “เร็ว” ที่สุด

หลายครั้งเมื่อขึ้นชื่อว่า “หิ้ง” แล้ว ก็อาจจะต้อง “หิ้ง” เลย

ปัดฝุ่นอาจจะไม่พอ สร้างของใหม่โดยเอา “ตลาด” มาเป็นที่ตั้งแต่แรก

อาจจะง่ายกว่า

ปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพล้มเหลวมากที่สุด

ไม่ใช่ “ขาดเงินทุน”

ทุกท่านสามารถสืบค้นอินเตอร์เน็ตได้เลยตอนนี้ครับ

สิ่งนั้นคือ “ทำของที่คนไม่ต้องการ (Build a product nobody wants)” นั่นเอง

เป็นโรค “หิ้ง” นี้กันหมดทั้งองค์กรใหญ่ และสตาร์ตอัพ

จง “หลีกเลี่ยง” ให้ดี จะมีชัย