กองเชียร์ตะโกน ‘หยวน’ พร้อมจะท้าชิง ‘ดอลลาร์’ | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

เงินหยวนจะมาแทนดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศได้ไหม?

ถ้าไม่ได้เพราะอะไร?

ถ้าได้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่…และอย่างไร?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจของจีนก้าวกระโดดอย่างน่าประทับใจในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 17.7 ล้านล้านดอลลาร์

เป็นรองก็แต่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น

อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีการค้าใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐ และสหภาพยุโรป

แต่ถ้าถามว่าเงินหยวนจะก้าวสู่สถานะที่จะเป็นเงินสกุลเงินสำรองหลักได้หรือไม่อย่างไร

คำตอบคือมันไม่มีกระบวนการที่เป็นทางการ หากแต่เป็นชัยชนะที่ได้มาจากการประกวดความนิยมชมชอบของประเทศต่างๆ มากกว่า

พูดง่ายๆ คือ สกุลเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับการค้าโลกและการค้าข้ามพรมแดนก็จะกลายเป็นสกุลเงินสำรองโดยพฤตินัย

“ความนิยม” ของสกุลเงินนั้นขึ้นอยู่กับการรับรู้ถึงความปลอดภัยและความยืดหยุ่นของประเทศที่ออกเงินสกุลนั้น

นั่นแปลว่าจะต้องเป็นสินทรัพย์หรือสกุลเงินที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลกต้องการถือครองเป็นทุนสำรอง

 

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1450 เป็นต้นมา มียุคสกุลเงินสำรองหลักหกยุค

โปรตุเกสครอบครองทุนสำรองทั่วโลกจนถึงปี ค.ศ.1530 เมื่อสเปนแข็งแกร่งขึ้น

สกุลเงินที่ออกโดยเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสมีอิทธิพลเหนือการค้าโลกในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18

แต่การเกิดขึ้นของอาณาจักรอังกฤษทำให้เงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นสกุลเงินสำรองจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

เงินดอลลาร์สหรัฐมาแทนที่เงินปอนด์ในขณะที่อเมริกาได้รับอำนาจที่เหนือกว่าทางเศรษฐกิจเหนืออังกฤษ

เป็นจังหวะที่กว่า 75% ของธุรกรรมทั่วโลกใช้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ดอลลาร์ยังคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของการออกตราสารหนี้ต่างประเทศ

และ 59% ของเงินสำรองของธนาคารกลางทั่วโลก

แม้ว่าเงินดอลลาร์ที่ถือครองในตลาดและตราสารเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีสกุลเงินอื่นใดที่เข้าใกล้ระดับเหล่านี้

จีนมีแผนที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น…แม้จะไม่ได้หมายถึงการ “โค่นแชมป์” ที่ชื่อดอลลาร์ในวันนี้

แต่ก็จะเสนอหยวนเป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจทางหนึ่ง

และทิศทางกับแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคก็ดูเหมือนจะส่งเสริมสนับสนุนการไต่เต้าของหยวนอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

เรียกว่าถ้าเป็นเรื่องของมวย นักสู้ที่สู้ “หยวน ณ ปักกิ่ง” ก็ซ้อมทุกวันอย่างแข็งขัน

และข้างสนามก็มีกองเชียร์ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ

 

แม้ว่าแชมป์เก่าอย่าง “ดอลลาร์ ณ วอชิงตัน” ยังเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของเซียนพนันมวยก็ตาม

แต่ปักกิ่งมีแผนที่จะชิงมงกุฎจากแชมป์เป็นขั้นๆ อยู่เหมือนกัน

ปีที่แล้ว ผู้นำจีนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้องการเพิ่ม “โปรไฟล์” เงินหยวนเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ

โดยเชื่อว่ากระแสเศรษฐกิจและการค้าของจีนมีขนาดใหญ่พอที่จะสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้

โจทย์แรกคือปักกิ่งจะต้องโน้มน้าวให้ธนาคารกลางต่างประเทศเริ่มถือเงินสำรองเป็นสกุลหยวน…หรือถ้าถืออยู่แล้วก็ให้ถือมากขึ้น

ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ธนาคารกลางของจีนได้ประกาศความร่วมมือกับห้าประเทศและธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และชิลี ต่างฝ่ายต่างบริจาคเงิน 1.5 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์ ให้กับ “ข้อตกลงสภาพคล่องหยวน”

ก่อนอื่นก็ต้องให้ “เพื่อนซี้” เริ่มกระบวนการนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนอื่นๆ

เริ่มด้วยหยวนได้กลายเป็นสกุลเงินสำรองโดยพฤตินัยในรัสเซียแล้ว

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียหันไปหาจีนหลังจากเผชิญกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกหลังการบุกยูเครน

ถึงวันนี้ 17% ของทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียอยู่ในสกุลเงินหยวน

และมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนว่าหยวนยังเป็นสกุลเงินที่มีความต้องการมากที่สุดเป็นอันดับสามในตลาดหลักทรัพย์มอสโก

หากมองจากด้านตะวันออกก็จะมีนักวิเคราะห์ที่ศึกษาเรื่องนี้ตั้งประเด็นถึง “หนทางอันเต็มไปด้วยขวากหนาม” สำหรับหยวนที่จะฝ่าข้ามอุปสรรคหลายประการก่อนจะมาจืนจังก้าท้าทายดอลลาร์ได้

นักวิจัยของธนาคารกลางของฝรั่งเศสได้ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์ที่ยืนยันว่าการที่เงินสกุลอื่นใดจะมาแทนที่ดอลลาร์ไม่ใช่เรื่องง่าย

หรือแม้จะเป็นไปได้ในอนาคตก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้รวดเร็วนัก

แต่นักวิเคราะห์ตะวันตกบางสำนักก็ยอมรับว่ามีหลักฐานว่าเงินสำรองหยวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นกับจีน

อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นนี้อาจทำให้หยวนอาจเป็นทางเลือกแทนเงินดอลลาร์สหรัฐในโลกที่ “มีหลายขั้ว”

เรียกว่าหากสถานะภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีนยังก้าวย่างไปอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องก็อาจจะสามารถ “เซาะกร่อน” ดอลลาร์ไปทีละเล็กละน้อยได้เหมือนกัน

มองในบางแง่ สถานะปัจจุบันของเงินหยวนมีความคล้ายคลึงกับดอลลาร์สหรัฐในทศวรรษที่ 1950

ถ้าไม่มีปัญหาที่คาดไม่ถึงมาขัดขวางเสียก่อน ก็มีความเป็นไปได้ว่าเงินหยวนจะเข้าสู่ “ภาวะเสมอภาค” กับดอลลาร์ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

คนที่เชียร์จีนก็จะบอกว่าการวางกรอบเวลา “อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า” อาจจะเป็นการประเมินศักยภาพของจีนต่ำไป

มังกรยักษ์กำลังผงาดเต็มตัว และเงินหยวนกำลังเป็นที่เรียกร้องต้องการกันอย่างกว้างขวาง

 

ขณะที่คนที่ชื่นชมแนวร่วมปักกิ่ง-มอสโกกำลังบอกว่าอีกไม่ช้าไม่นานดอลลาร์ก็จะกลายเป็น “กงเต๊ก” แล้ว มิใช่หรือ?

แต่ข้อเท็จจริงวันนี้คือหยวนยังถูกใช้เป็นสกุลซื้อขายคิดเป็นเพียง 3% ของการค้าโลกเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนแบ่งการตลาด 87% ของเงินดอลลาร์

แต่ความเป็น “พี่เบิ้ม” ของดอลลาร์ในฐานะเป็นเงินสกุลสำรองระหว่างประเทศหดตัวลงแล้วมิใช่หรือ?

จากผลสำรวจของ IMF’s Currency Composition of Official Foreign Exchange Reserves (COFER) ส่วนแบ่งของเงินสำรองที่ถืออยู่ในสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยธนาคารกลางลดลงจาก 71% ในปี 1999 เป็น 59% ในปี 2021

เงินหยวนอยู่ที่ 2.76% ซึ่งก็คืออันดับ 5

ตามหลังยูโร 19.66% เยน 5.26% และปอนด์ 4.62%

นั่นแปลว่าหยวนยังต้องไต่อันดับขึ้นมาอีกหลายชั้นก่อนจะมาเจอกับแชมป์ดอลลาร์เพื่อท้าชิงความเป็นเบอร์หนึ่ง

จึงต้องถามก่อนว่าคุณสมบัติของแชมป์เดิมอย่างดอลลาร์ที่มายืนอยู่ตรงนี้ก่อนจะโค่นผู้นำคนเดิมนั้นมีอะไรบ้าง

ข้อแรก น่าจะเป็นเพราะอเมริกามีเศรษฐกิจใหญ่และแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ข้อสอง คือการที่เศรษฐกิจต้องเปิดกว้าง ไม่มีข้อจำกัดที่จะทำให้เป็นอุปสรรคของการเงินไหลเข้าออกอย่างคล่องตัว

ข้อสาม คือการเปิดเสรีอย่างเต็มเปี่ยมสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่ฝรั่งเรียกว่า fully convertible

ข้อต่อมา คือการมีตลาดการเงินที่มีสภาพคล่องสูง ไม่มีความกลัวว่าจะถูกปิดหรือสกัดกั้นด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือความผันผวนทางสังคม

และที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นความโปร่งใสชัดเจนของกฎกติกาของรัฐบาล

ถ้าจีนจะทำให้เงินหยวนกลายเป็น “เงินตราสากล” ที่ซื้อง่ายขายคล่อง, แลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีปราศจากอุปสรรค และมีกฎกติกาที่ “คาดการณ์ได้ล่วงหน้า” ก็คงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบระเบียบภายในครั้งใหญ่

จีนพร้อมแค่ไหนหรือไม่ – นั่นเป็นประเด็นใหญ่ที่ควรแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง