หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “เสบียง”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“เสบียง”

ชุดลาดตระเวนที่นำโดยเสือผอม ออกเดินทางตั้งแต่เช้า ถึงตอนบ่าย น้าชู หนึ่งในทีมโผล่เข้ามาในหน่วย เสื้อผ้าและหน้าขมุกขมอมด้วยเถ้าดำๆ

“เดินเข้าไปในทุ่งครับ หน้านี้เดินง่าย ไฟไหม้แล้ว ครึ่งวันก็ถึงแคมป์ที่เราเคยพัก” ชูศักดิ์ พูดพลางตักน้ำในกระติกขึ้นดื่ม

“แล้วกลับมาทำอะไรครับ” ผมสงสัย

“ลืมพริกแกง” เขาตอบสั้นๆ

พวกเขาลืมของสำคัญแม้ว่าจะเดินห่างจากหน่วยไปร่วมวัน แต่จำเป็นต้องส่งคนกลับมาเอา

ผมเข้าใจเรื่องนี้ดี

สำหรับคนทำงานในป่า ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์นั้น เมื่อออกเดิน ไม่ว่าจะเพื่อการลาดตระเวน หรือติดตามร่องรอย ศึกษาสัตว์ป่า ครึ่งหนึ่งของสัมภาระในเป้ คือเสบียง

อยู่ในป่า ใช่ว่าจะหาอาหารต่างๆ กินได้ตามใจชอบ นอกจากผัก อย่างผักกูด ผักหนาม ที่ขึ้นอยู่ตามที่ชื้นๆ ริมลำห้วย

ช่วงฤดูฝน ดีขึ้นบ้าง นี่คือฤดูเห็ด

อีกนั่นแหละ เห็ดจำนวนมากมายหลากชนิด มีที่กินได้ไม่กี่ชนิด ไม่ใช่เรื่องง่ายของผู้ไม่คุ้นเคยในการเก็บเห็ดมากิน

แม้แต่ผู้คุ้นเคยก็เถอะ โอกาสพลาดก็มีมาก

หลักการง่ายๆ ที่คนในป่าบอกต่อๆ กันมาว่าพวกเห็ดที่มีสีสวยๆ น่ะ อย่ากิน ส่วนใหญ่เป็นพิษ

ยาพิษมักเคลือบไว้ด้วยความสวยงาม มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

ช่วงเดือนตุลาคม เป็นช่วงพีกสุดของฤดูเห็ด

นี่คือช่วงเวลาของเห็ดโคน

ไม่แปลกอะไรที่ป่าในช่วงเวลานี้จะเต็มไปด้วยคน

เห็ดโคนขายคนมารับชื้อถึงชายป่า กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 300 บาท

ในช่วงของมัน เห็ดโคนหาไม่ยาก

แต่ถึงรสชาติจะอร่อย หรือเฝ้ารอให้ถึงฤดูสักเพียงไหน เมื่อกินทุกมื้อ ทุกวัน อาการเบื่อก็เริ่มปรากฏ

ผักกูดนั้น เราพูดกันเสมอว่า หากไปกินข้าวร้านอาหารในเมือง ผู้ใดสั่งอาหารที่มีผักกูดประกอบ อาจถึงขั้นโดนรุมลงไม้ลงมือ

ในป่ามีผลไม้ให้กินบ้าง

เช่น มะไฟ รวมทั้งคอแลน ซึ่งมีลักษณะคล้ายลิ้นจี่ แต่ลูกเล็กกว่า และไม่ค่อยมีเนื้อสักเท่าไหร่

รสชาติของผลไม้พวกนี้เหมือนๆ กัน คือ เปรี้ยวชนิดหน้าเบ้ และฝาด

แต่นี่คือรสชาติอันโอชะของเหล่าสัตว์ป่า

หลายคนเชื่อว่า อะไรก็ตามที่สัตว์ป่ากินได้ คนย่อมกินได้

ดูจะเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก คนยังไม่ฉลาดเท่าสัตว์ป่าในเรื่องนี้

มีผลไม้หรือใบไม้หลายชนิดที่เป็นพิษ แต่มีผลไม้ชนิดอื่นเปรียบเสมือนยาแก้พิษ

สัตว์ป่ารู้ว่าเมื่อกินอย่างนี้แล้วต้องไปกินอะไรด้วย

มีการศึกษาว่า พวกลิงรู้ด้วยซ้ำว่า พืชชนิดไหนคือสมุนไพร ใช้กินเพื่อรักษาโรคที่กำลังเป็นได้

ข้าวสาร พริก และเกลือ

จำเป็นในการเดินป่านานๆ

เมนูหลักๆ ของเราเมื่ออยู่ในป่ามากกว่าครึ่งเดือน มักประกอบด้วยน้ำพริก ผักต้ม เช่น กระทือ เร่ว หรือที่หาได้ตามฤดูกาล

อาหารกระป๋องต่างๆ คือทางเลือกสุดท้าย และเราพยายามหลีกเลี่ยง นอกจากน้ำหนักมาก ยังเพิ่มภาระในการขนกระป๋องเปล่ากลับอีก

ของแห้งสามัญยอดนิยม อย่างบะหมี่สำเร็จรูปนั้น มีติดเป้ไว้ใช้ในวันข้าวสารหมด หรือเริ่มเบื่อเมนูหลัก

ในวันแรก เมนูจะหรูไม่น้อย ส่วนใหญ่คือเนื้อหมู ซึ่งเราโขลกกระเทียมและเกลือ คลุกกับเนื้อหมู เราเรียกว่า หมูส้ม

เป็นวิธีถนอมอาหารง่ายๆ เก็บได้หลายวัน

คนล่าสัตว์ โดยเฉพาะค่าง ก็ใช้วิธีนี้ “ส้มค่าง” เป็นของกลางที่ชุดลาดตระเวนพบเวลาจับผู้ต้องหาได้บ่อยๆ

ข้อเสียของหมูส้มของผม คือ หลายวันเข้า มันจะเปรี้ยว และรสชาติก็เหมือนเดิม ไม่ว่าจะปรุงกับอะไร

ดังนั้น ในวันแรก หลังจัดการเรื่องแคมป์เสร็จ เราจะเอาหมูสดเสียบไม้ปักไว้ข้างกองไฟ รมควันให้ด้านนอกเกรียมๆ เก็บได้หลายวันเช่นกัน แม้ว่าวันท้ายๆ มันจะมีกลิ่นตุๆ สักหน่อย

สิ่งที่ต้องแบกไปพร้อมกับเสบียงคือ อุปกรณ์ประกอบอาหาร เราไม่ได้อยู่ในป่าชนิดต้องหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ หรือขุดหลุมหุงข้าวด้วยผ้าขาวม้า

หม้อสนาม คืออุปกรณ์ที่สมควรยกย่องผู้คิดทำมาก นี่คืออุปกรณ์ที่วิเศษและสำคัญที่สุด

เราใช้หม้อสนามทำสารพัด ตั้งแต่หุงข้าว แกง ผัด ต้มน้ำ และเป็นขันตักอาบน้ำ

หุงข้าวด้วยหม้อสนามไม่ยาก ข้าวมาก น้ำน้อย อย่างไร ขึ้นกับรสนิยมว่า ชอบข้าวนิ่ม ข้าวแข็ง

โดยปกติ ข้าวหนึ่งหม้อสนาม กินได้ 4 คน พอดีๆ ในหนึ่งมื้อ

นอกเสียจากจะมีคนกินจุ อาจได้แค่ 3 คน

หลังอาหาร เรามีขนมบ้าง ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ดูจะเป็นของหวานอมตะของคนเดินป่า

สาคูเปียก ข้าวเหนียวเปียก ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพราะกะทิกล่อง กะทิผง มีขายตามร้านชำทั่วไป

ข้อดีของการทำขนม ประการหนึ่งคือ ช่วยให้กลางคืนไม่ต้องขึ้นเปลเร็วเกินไป

และยังทำให้รู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่ในสภาพกันดารอะไรนัก

คนเดินป่าทุกคน หุงข้าวด้วยหม้อสนามเป็น ทำกับข้าวกินได้

แต่เอาเข้าจริง ในทีมจะมีคนหนึ่งชอบงานครัว และรับหน้าที่นี้อย่างเต็มใจ

การจัดเสบียงลงเป้ เสบียงจะถูกแบ่งเป็นส่วนๆ จำนวนเท่าๆ กัน และหมุนเวียนใช้เสบียงไป ไม่ใช้ของคนใดคนหนึ่งจนหมดก่อน

เมื่อศึกษาทำความรู้จักกับสัตว์ป่า

เราเดินไปตามเส้นทางของพวกมัน เรารู้ว่า การเคลื่อนย้ายที่ของสัตว์ป่า มีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด และแหล่งอาหารต่างๆ เหล่านั้น จะหมุนเวียนความเหมาะสมไปตามฤดูกาล

ทุกครั้งที่อยู่ในป่า ผมรู้สึกได้ถึงความ “มืออ่อน” ของตัวเอง ในการใช้ชีวิตในป่าเสมอ

ในช่วงหนาวๆ อดิเทพ ไม่นอนบนเปล แต่มาปูผ้ายางนอนข้างกองไฟ

เวลาเดิน เขาไปล่วงหน้า ถ้าไม่บอกให้ทำเครื่องหมายไว้บ้างผมจะไม่เห็นร่องรอยเขาเลย

เขาใช้เวลาไม่นาน ก่อไฟตอนฝนตก หรือมีแต่ฟืนเปียกๆ

ในพื้นที่อนุรักษ์เอาจริง และเข้มงวดกับงานดูแลป้องกันชีวิตสัตว์ป่า และแหล่งอาศัย อย่างมืออาชีพ

เพราะวันนี้ พวกเขาต้องรับมือกับคนล่าสัตว์อาชีพเช่นกัน

เสบียง

สำคัญสำหรับคนทำงานในป่า

ความสำคัญของเสบียง ไม่ใช่อยู่ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น

แต่ทำให้เราได้ “รู้” และ “เห็น” ความเป็นจริง

ความเป็นจริง ซึ่งมีสัตว์ป่าเป็นผู้สอน