เรือนร่าง ความเฟิร์ม และการปฏิวัติ : ร่างหญิงไทยกับการปฏิวัติ 2475 (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

เรือนร่าง ความเฟิร์ม และการปฏิวัติ

: ร่างหญิงไทยกับการปฏิวัติ 2475 (2)

 

“ร่างกายของมนุษย์จะสมบูรณ์แข็งแรงไม่อ่อนแอนั้น ก็เนื่องมาจากการรับประทานอาหารเป็นส่วนใหญ่ ถัดจากนั้นจึงถึงการบริหารร่างกาย แต่มนุษย์ในสมัยโบราณยังไม่ทราบถึงความจริงข้อนี้ เมื่อร่างกายอ่อนแอทรุดโทรม เจ็บป่วย ก็มักจะโทษภูตผีปีศาจหรือสิ่งลึกลับต่างๆ ว่าเป็นผู้ทำ…” (กองบริโภคสงเคราะห์, 2483, 13)

เรือนร่างของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เรือนร่างจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับระบอบการปกครองและการควบคุมโดยรัฐผ่านการทำให้เรือนร่างให้เป็นไปตามแบบแผนทางสังคมและการเมือง

ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ของพลเมืองจึงเป็นเป้าหมายของรัฐบาลคณะราษฎรนับแต่พระยาพหลฯ จนถึงจอมพล ป. มีการส่งเสริมให้พลเมืองช่วยกันสร้างเรือนร่างของตนเองขึ้นใหม่ให้มีพลนามัยและอนามัยที่ดี

ร่างกายของพลเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องการการรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เรือนกายอุดมคติของพลเมืองตามที่รัฐบาลปรารถนา

สตรีไทยโบราณไม่ดูแลสุขภาพ อ้วนอืดอาดเป็นแหล่งโรคภัยไข้เจ็บ กับสรีระใหม่ของสตรี

สร้างสตรีไทยสมัยใหม่

นับแต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลสมัยประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับการยกระดับสิทธิสตรีอย่างมาก โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลจอมพล ป.ที่มีนโยบายยกฐานะสตรีไทยตามหลักสตรีสมัยใหม่ ทั้งในด้านการแต่งตัว จิตใจที่ร่าเริง และรู้จักบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี เพื่อให้เป็นมารดาที่มีคุณภาพสร้างพลเมืองที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณต่อไป

เมื่อรัฐบาลต้องการยกระดับให้สตรีไทยให้สามารถทางสังคมตามแบบอย่างตะวันตก ในระดับครอบครัวโดยนั้น ขอให้สตรีเป็นกำลังใจให้สามี ร่วมประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัว

ในระดับชาตินั้น ยามสงครามรัฐบาลขอให้สตรีเป็นกำลังรบหรือสนับสนุนการรบ

สำหรับการส่งเสริมให้สตรีได้รับยกย่องและการปฏิบัติที่เท่าเทียมชาย ในระดับครอบครัวนั้น สามีต้องยกย่องให้เกียรติภริยา ภริยาต้องเป็นเพื่อนคู่คิดสามี มิใช่เป็นเยี่ยงทาสของสามี

ในระดับสังคมนั้น ทุกคนต้องยกย่องให้เกียรติสตรี ด้วยเปรียบสตรีเป็นดุจดอกไม้ของชาติและมารดาของชาติ เป็นต้น (นันทิรา ขำภิบาล, 2530, 67-69)

การนำเสนอเรือนร่างสตรีสมัยใหม่ ที่ได้ส่วนได้สัดสมทรงช่วงทศวรรษ 2480

จอมพล ป.เคยกล่าวไว้เมื่อ 2486 ถึงความสำคัญของการยกระดับสถานภาพสตรีเนื่องจาก “หยิงเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ก็ควนจะส้างตนและช่วยชาติด้วยในตัว ไนปกติ คือ ใครจะดูว่าชาตินั้นชาตินี้จเรินเพียงได ในเมื่อผ่านไปชั่วแล่นแล้วก็มักจะตัดสินความเจรินของชาตินั้นตามความจเรินของฝ่ายหยิง” (นันทิรา ขำภิบาล, 70)

รัฐบาลพยายามดึงสตรีให้เข้ามาเป็นกำลังทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยเรือนร่างที่ยังบอบบางจึงแนะนำให้ทำงานในร่มและเป็นงานเบาก่อน เช่น งานบริการ งานรับราชการ งานอุตสาหกรรมเบา

อาทิ งานหนังสือพิมพ์ งานแกะเมล็ดฝ้าย การปั่นเส้นปอกระเจา งานทำของเล่น การทำสุราผลไม้ งานทำอาหารสำเร็จขาย ทำผลไม้ดองขาย ตัดเย็บเสื้อผ้า สานหมวกขาย

สำหรับอาชีพรับราชการนั้น รัฐบาลตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู วชิรพยาบาล โรงเรียนนักสังคมสงเคราะห์เพื่อสนับสนุน ส่วนอาชีพบริการนั้น รัฐบาลตั้งโรงแรม วงดนตรี และโครงการจัดตั้งบริษัทแสดงละครเพื่อรองรับสตรีให้เข้ามาทำงานด้วย (นันทิรา ขำภิบาล, 73-74)

เรือนร่างและการแต่งกายสตรีไทยตามแบบสากล ช่วงทศวรรษ 2480

สYkหรับความสำคัญของการออกกำลังกายของสตรีให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวนั้น

จอมพล ป.กล่าวในคราเปิดสโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิง (2486) ว่า

การจัดตั้งสมาคม “…สำหรับเปนแหล่งสมาคมของหยิงไทยอีกแห่งหนึ่งจะได้ไปพบปะสนทนาหาความรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ปล่อยให้หยิงไทยต้องเฝ้าบ้านหย่างไม่มีชีวิติจิตไจในเวลานี้ อีกทั้งจะได้มีการกิลาเปนการเพิ่มพูนอนามัย ไม่ปล่อยไห้อนามัยเสื่อมหย่างเวลานี้ ซึ่งฉันได้ยินมาบ่อยๆ ว่า หยิงไทยอายุราว 35 ปีก็แก่ถึงขึ้นบันไดบ้านก็เหนื่อยหอบ ทำไห้ชีวิตสั้นมากกว่าที่ควนจะเปนหย่างอารยะประเทสอื่น…” (นันทิรา ขำภิบาล, 70-71)

สมุดคู่มือชีวิตอนามัย (2483) ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น เสนอบทความ “ความอ้วนและความผอม” ให้คำแนะนำแก่สตรีว่าทำอย่างไรจึงจะเลี่ยงความอ้วนและผอม

โดยกองบริโภคสงเคราะห์แนะนำว่า สังคมย่อมชื่นชม ผู้ที่มีเรือนร่างขนาดพอดี และมีสุขภาพสมบูรณ์ ผู้ที่มีร่างกาย “ได้ส่วนได้สัดสมทรง” ย่อมมีความสง่าในการสมาคมมากกว่า ทั้งความสุขใจและมีสมรรภาพในการทำงานดีกว่าอีกด้วย

นอกจากสตรีมีร่างกายสมส่วนทำให้คนอื่นๆ ชื่นชมเราแล้ว ยังมีความสุขใจ และสามารถทำงานได้คล่องแคล่วกว่าอีกด้วย

ในบทความนี้ ยังชี้ให้สตรีตระหนักว่า สตรีที่มีรูปร่างอ้วนนั้นไม่น่าดูเลย “เพราะความอ้วนทำให้รู้สึกเทอะทะ ไม่กระปรี้กระเปร่า จะลุกจะนั่งไม่กระฉับกระเฉง อุ้ยอ้าย อึดอาด

ถ้าจะมองในแง่สมรรถภาพในการทำงาน ความอ้วนกทำให้สมรรถภาพลดลง เพราะคนอ้วนจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยง่าย ไม่แคล่วคล่อง ความทนทานในการงานก็มีน้อย ทั้งนี้ก็เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปนั่นเอง เป็นเครื่องถ่วงและขัดขวางมิให้ร่างกายประกอบการงานต่างๆ ได้โดยสะดวก

แม้นความผอมก็ทำให้ความน่าดูน่าชม และสมรรถภาพในการงานลดลงเช่นเดียวกัน แม้จะไม่อืดอาด ไม่อุ้ยอ้าย แต่จะอิดโรย ความทนทานในการงานก็มีน้อยลงไปด้วย ทั้งอ้วนทั้งผอมต่างมีอำนาจต้านทานโรคได้น้อยเช่นเดียวกัน” (กรมสาธารณสุขและกรมประชาสงเคราะห์, 2483, 95)

ดังนั้น กองบริโภคสงเคราะห์จึงแนะนำเรือนร่างให้แก่เหล่าสตรีว่า “ทั้งอ้วนทั้งผอมไม่ดีทั้งสองอย่าง” แต่ร่างกายที่พึงปรารถนาคือรูปร่างขนาดพอดี ไม่อ้วนและไม่ผอม (กรมสาธารณสุขฯ, 95-96)

สำหรับหนทางในการสร้างร่างที่สมส่วน คือ “รู้จักกิน” ด้วยร่างกายของคนต้องการพลังงาน และพลังงานมาจากการเผาผลาญอาหารที่กินเข้าไป ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่กินมากแต่ออกกำลังกายน้อยในไม่ช้าก็จะมีร่างกายอ้วน

เรือนร่างสตรีไทยในสมัยสร้างชาติ

นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครั้งนั้นแนะนำว่า หนทางการเพิ่มน้ำหนักตัวให้กับคนผอม คือ การกินอาหารให้ได้พลังงานมากกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ตามปกติ

เช่น กินโปรตีน ไข่ ปลา เนื้อ ถั่วให้มาก กินคาร์โบไฮเดรต แป้ง ข้าว น้ำตาลให้มากขึ้น กินอาหารพวกไขมัน เนื้อติดมัน มันมะพร้าว ให้มากขึ้น กินวิตามินให้ครบถ้วน และที่สำคัญคือ การพักผ่อนให้มากที่สุด

หมายความว่า ต้องรู้จักเป็นคนเกียจคร้านสักพักหนึ่งจนน้ำหนักเพิ่มได้ตามที่ต้องการแล้ว จึงกลับทำงานดุจปกติ (กรมสาธารณสุขฯ, 96-97) ส่วนคำแนะนำในการลดความอ้วน คือ ลดการกินลง นอกจากการควบคุมการกินแล้ว ยังต้องออกกำลังกายด้วย

เมื่อสตรีเพศสมัยประชาธิปไตยเป็นเพศเคียงบ่าเคียงไหล่ รัฐบาลจึงต้องการส่งเสริมให้สตรีเข้ามาทำการบ้างอย่างแทนเพศชายด้วย เช่น ประกอบการทางเศรษฐกิจ เป็นกำลังรบทางการทหาร เช่น จัดตั้งกองยุวนารี นักเรียนนายร้อยหญิง นักเรียนนายสิบหญิง เป็นแนวหลังในการการสงคราม เช่น กองอาสากาชาดด้วย (นันทิรา ขำภิบาล, 77-78)

กล่าวโดยสรุป นโยบายการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นการเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่พลเมืองว่า พลเมืองผู้เป็นเจ้าของเรือนกายทุกคนสามารถสร้างเรือนกายใหม่ในฐานะที่เป็นการแสดงสิทธิเหนือเนื้อตัวและร่างกาย หรือจะปล่อยปละเรือนกายให้ขาดการดูแลอย่างไพร่-ทาสตามระบอบเก่านั่นเอง

สภาวะเสรีภาพในการเลือกเรือนกายจึงเป็นการต่อสู้กันระหว่างการเสรีภาพในการเลือกเรือนกายตามแบบที่พึงประสงค์ กับการปล่อยปละร่างอันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แตกต่างกันตามระบอบการปกครองด้วย (Raia Prokhovnik, 2014, 465)

การสวมชุดว่ายน้ำอวดเรือนกายของสตรีไทยสมัยใหม่ช่วงทศวรรษ 2480