การมีส่วนร่วมของซาอุดีอาระเบีย กับประเทศมุสลิม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (3)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

การมีส่วนร่วมของซาอุดีอาระเบีย

กับประเทศมุสลิม

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (3)

 

มาเลเซียและซาอุดีอาระเบียตกลงที่จะกระชับการติดต่อและความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนในทั้งสองประเทศ เพื่อขยายขอบเขตของความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

แถลงการณ์ร่วมที่ออกมา หลังจากการเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีตัน ศรี มุห์ฮัยยิดดิน ยัสซีน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ก่อนหน้าการขึ้นสู่อำนาจของอันวาร์ อิบรอฮีม) ไปยังซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า การเยือนของมุห์ฮัยยิดดีน ยัสซีน ตามคำเชิญของกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส อัล สะอูด สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง และความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและประชาชนของสองประเทศ

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการขยายระดับการประสานงานและการปรึกษาหารือเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ของความร่วมมือทวิภาคี รัฐมนตรีต่างประเทศดะโต๊ะ ซรี อิชามุดดีน ฮุสเซน (Datuk Seri Hishammuddin Hussein) และเจ้าชายฟัยซ็อล บิน อับดุลลอฮ์ อัลสะอูด (Faisal bin Farhan Al Saud) ซึ่งเป็นคู่เจรจาของซาอุดีอาระเบียได้ลงนามในรายงานการประชุมของสภาการประสานงานมาเลเซีย (SMCC)

ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นในการกระชับความสัมพันธ์และความพยายามของโลกอิสลามในการเผชิญหน้ากับลัทธิสุดโต่งและการใช้ความรุนแรง ปฏิเสธการแบ่งแยกสำนักคิดทางศาสนาและขับเคลื่อนโลกอิสลามไปสู่อนาคตที่ดีกว่าภายใต้กรอบขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) ในการแสวงหาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ทั้งสองประเทศยังย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันและการทหาร การพัฒนาพื้นที่สำหรับการฝึกและการฝึกร่วม และแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญทางการทหาร

ในแง่ที่เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ปี 2030 ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างและยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าด้วยการสำรวจพื้นที่การลงทุนและโอกาส ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอาหาร

ความคิดริเริ่มเหล่านี้ยังรวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันและบริษัทที่เกี่ยวข้องในทั้งสองประเทศ ในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรม

 

การต่อสู้กับการก่อการร้าย

และความสัมพันธ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม

หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 สถานการณ์ทางการเมืองทั้งหมดได้เปลี่ยนไปและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลกมุสลิม ความรุนแรงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในอัฟกานิสถานหรือแอฟริกาเหนือเท่านั้น เพราะโลกอิสลามเป็นภูมิภาคที่กว้างใหญ่และหลากหลายประกอบด้วยกลุ่มประเทศที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งทอดยาวตั้งแต่โมร็อกโกไปจนถึงภาคใต้ของฟิลิปปินส์

ควรกล่าวเอาไว้ในที่นี้ด้วยว่า ศาสนา การเมือง และวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกันในโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศมุสลิมจำนวนมากทั่วโลกมีส่วนร่วมอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง สงครามกลางเมือง และการปะทะกันอื่นๆ

อินโดนีเซียยังคงเป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษาแนวทางแบบพหุนิยมเอาไว้

ประชาธิปไตยในเวอร์ชั่นของอินโดนีเซียไม่เพียงแต่หักล้างความเชื่อผิดๆ ที่ว่าอิสลามกับประชาธิปไตยนั้นเข้ากันไม่ได้

แต่ยังแสดงให้เห็นว่าอิสลามสามารถจัดการและรักษารัฐชาติสมัยใหม่ไว้ได้อย่างไรอีกด้วย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ แต่อิสลามไม่ใช่ศาสนาประจำชาติ ในความเป็นจริงไม่มีศาสนาอย่างเป็นทางการที่กล่าวถึงในรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าตะวันออกกลางเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของศาสนาอิสลาม

ซึ่งแน่นอนว่าอิสลามมิได้ถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง และไม่ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นทางศาสนาแต่อย่างใด

อิสลามในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกที่มิใช่ตะวันออกกลางก็ได้พัฒนาคุณลักษณะของตนเองเช่นกัน ประเทศอินโดนีเซียเป็นดินแดนของชาวมุสลิมถึงร้อยละ 13 และมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซมากมาย

อย่างหลังสามารถช่วยให้อินโดนีเซียเทียบเคียงกับซาอุดีอาระเบียได้

ในขณะที่อดีตของอินโดนีเซียก็มีความโดดเด่นในด้านอำนาจศาล

ในประเด็นด้านความมั่นคง ซาอุดีอาระเบียและอินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหม (DCA) ในปี 2014 ซึ่งครอบคลุมการฝึกอบรม การศึกษา การต่อต้านการก่อการร้าย และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหม

ข้อตกลงอินโดนีเซีย-ซาอุดีอาระเบียมีความคล้ายคลึงกันกับข้อตกลงของซาอุดีอาระเบียกับปากีสถาน องค์ประกอบการต่อต้านการก่อการร้ายก็น่าสนใจเนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวทำหน้าที่ส่งเสริมการเป็นสมาชิกในเวทีการต่อต้านการก่อการร้ายของโลก (Global Counterterrorism Forum – GCTF) ของซาอุดีอาระเบียและอินโดนีเซีย ซึ่งออกแบบมาเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี

อินโดนีเซียตระหนักถึงภัยคุกคามจากลัทธิหัวรุนแรงและเป็นผู้นำคณะทำงานควบคุมตัวและการส่งกลับคืนสู่สังคมใน GCTF ความร่วมมือของซาอุดีอาระเบียและอินโดนีเซียจะยังคงมีความสำคัญในการยับยั้งภัยคุกคามข้ามชาติที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มก่อการร้าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการโจมตีในซีเรียและอิรักบ่งชี้ว่ากลุ่มไอเอส (IS) อาจกลับมาผงาดอีกครั้ง

 

หลังจากได้รับอิทธิพลเพิ่มขึ้นจากนักวิชาการชาวซาอุดีอาระเบียตลอดช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาแล้วทั้งสองประเทศได้พัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาอิสลามศึกษามากขึ้น

ในมาเลเซีย ซาอุดีอาระเบียยังบริจาคให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

มีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักวิชาการเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของซาอุดีอาระเบีย เช่น มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะฮ์ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์อิสลามแห่งมาเลเซีย (USIM) ได้รับเงินทุนจำนวนมากจากซาอุดีอาระเบียเช่นกัน

USIM ในมาเลเซีย มหาวิทยาลัย King Saud ในริยาด (ริยาฏ) และมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะฮ์จึงมีส่วนพัฒนาอิสลามศึกษาร่วมกัน

มาเลเซียได้รับเงินสนับสนุนที่เป็นทุนด้านการศึกษาจากซาอุดีอาระเบียอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อดำเนินการในสถาบันอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติแห่งมาเลเซีย (IIUM) และองค์กรเผยแผ่อิสลาม (Dahwa) หลายแห่ง

เช่นเดียวกับโรงเรียนสอนศาสนาในมาเลเซียที่จะทำงานควบคู่ไปกับการดำเนินการตามกระบวนการทำให้เป็นอิสลามในสถาบันของรัฐบาลและธนาคารเพียงไม่กี่แห่ง แทนที่จะใช้กฎหมายอิสลามทั้งฉบับในสถาบันต่างๆ ของมาเลเซีย