E-DUANG : บทบาท “คสช.” ต่อชาวบ้าน “ภาคใต้”

พลันที่เสียงตวาดดังขึ้นต่อหน้า”ชาวประมง” ณ ตลาดปลา ปัตตานี

ก็บังเกิดการเคลื่อนไหว

กลายเป็น”สงครามคลิป”ระหว่างทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับทีมงานนักเคลื่อนไหว”ภาคใต้”อย่างคึกคัก

ยิ่งสถานการณ์ที่แยกสำโรง สงขลา ยิ่งมากด้วยมุมมอง

แถลงจากคสช.และรัฐบาลเด่นชัดว่า ชาวบ้านทำร้ายเจ้าหน้าที่

แต่ภาพที่ปรากฏผ่าน “คลิป”ตรงกันข้าม

ยิ่งภาพที่แกนนำชาวบ้านนอนแผ่กลางสนามพร้อมให้ “อุ้ม” ยิ่งเด่นชัดว่าอะไรเป็นอะไร

1 ภาพที่ปรากฏยิ่งกว่า 1,000 คำ

 

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ภาคใต้ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือน กันยายน 2549 กับ ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

มากด้วยความโน้มเอียง

เห็นว่ารัฐประหารอันเกิดขึ้น 2 ครั้ง ถูกต้องและมีความชอบธรรม เป็นหนทางออก 1 ที่จำเป็นในการคลี่คลายสถานการณ์และ ความขัดแย้ง

ยิ่งก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มวลชนจากภาคใต้เดินทางเข้าร่วมกับ”กปปส.”อย่างคึกคัก

กระทั่งเกิดความรู้สึก “ร่วม”

เหมือนกับที่แกนนำกปปส.เคยออก “คำชี้แนะ” โดยเฉพาะ เกษตรกรชาวสวนยางมิให้เคลื่อนไหว มิให้เรียกร้อง กดดัน

เพราะเป็น “รัฐบาลของเรา”

 

แต่พลันที่เดือนพฤศจิกายน 2560 เดินทางมาถึงมีสภาพการณ์ทางการเมืองหลายอย่างปรากฏ

1 มีการอุ้มแกนนำ”สวนยาง” เข้าค่ายทหาร

ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดตรัง ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดพัทลุง ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดชุมพร

1 มีการตลาด”ชาวประมง”ที่ปัตตานี

และตามมาด้วยการสลายการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้านเทพา-ปัตตานีเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หัวร้างข้างแตกไปตามๆกัน

เหล่านี้สะเทือนใจ”ชาวใต้”และ”ผู้รักความเป็นธรรม”ยิ่ง