การเลือกตั้ง สะท้อน 9 ปีแห่งความเสียหาย

22 พฤษภาคม 2566 เป็นวันครบรอบ 9 ปีเต็ม เหตุการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ตลอด 9 ปีเต็มที่ประเทศไทยก้าวถอยหลังทีละก้าวอย่างช้าๆ ประชาชนจึงไม่รับรู้ผลกระทบของการรัฐประหารในช่วงแรก แต่พอผ่านไปนานวันเข้าแล้วลองย้อนหันหลังกลับมาดูช่วงเวลาก่อนรัฐประหาร จึงรู้ความจริงว่า 9 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นเลย และพัฒนาได้ช้ากว่านานาชาติ

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นเสมือนสิ่งสะท้อนการปลดแอกจากพันธนาการที่ฉุดรั้งประเทศไทยไว้อย่างยาวนานตลอด 9 ปีเต็ม

วันเลือกตั้ง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ จะเป็นวันกำหนดชะตาชีวิตของประเทศไทยในช่วงตลอด 4 ปีข้างหน้านับจากนี้

ก่อนจะถึงเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกนั้น เรามาย้อนทบทวนความเสียหายและสิ่งที่ประเทศไทยเสียโอกาสไปในช่วง 9 ปีเต็มที่ผ่านมากันครับ

 

เรื่องแรก เรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนถูกทำลายโดยสิ้นเชิง มีการใช้มาตรา 44 มากกว่า 200 ครั้ง เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง

ในช่วงแรกของการเข้าสู่อำนาจ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตาม ม.44 แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็นจำนวนมาก

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องมิชอบตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ใช้ ม.44 เรียกคู่แข่งทางการเมืองและฝ่ายที่มีความเห็นต่างจากฝ่ายของตนเองให้มารายงานตัวและปรับทัศนคติหรือข่มขู่นั่นเอง

และการใช้อำนาจตาม ม.44 ไม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยมิชอบได้เลย

เรื่องนี้เหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผลกระทบเป็นวงกว้างและใหญ่หลวงมากกว่าที่คาดคิด ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกถูกกดขี่ข่มเหง หวาดกลัวการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล สั่งสมวันละนิดวันละหน่อยเรื่อยมา

บวกกับการถูกลิดรอนสิทธิในการตรวจสอบการกระทำทุจริตของฝ่ายบริหาร จากทั้งองค์กรอิสระและประชาชน ข่มขู่สถาบันการเมืองพร้อมทั้งทำให้สถาบันการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนอ่อนแอลง

นานวันเข้าทุกคนจึงอยากระเบิดอารมณ์ออกมาผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อสั่งสอนรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าอย่าดูถูกเสียงของประชาชน

 

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการใช้อำนาจมาตรา 44 ตามอำเภอใจ สั่งปิดเหมืองทองอัครา หรือเหมืองทองคำชาตรี จนรัฐบาลถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท

สุดท้ายคณะกรรมการแร่แห่งชาติเห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรออกไปอีก 10 ปี เท่ากับว่าได้อายุสัมปทานเพิ่มเติมไปฟรีๆ เกือบ 5 ปี

ยังไม่จบเพียงเท่านี้ การยกเลิกสัมปทานของบริษัทร่วมลงทุนจากต่างชาตินั้น กระทบความเชื่อมันที่มีต่อการตัดสินใจลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก

ส่งผลให้การเจรจาอนุสัญญาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ต่างประเทศมีการเจรจาให้หยิบยกเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ (Investor – State Dispute Settlement: ISDS) ในการเจรจาทุกกรอบความตกลง

เหตุผลก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแค่นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของกระบวนการยุติธรรมของไทย จึงจำเป็นต้องหาแนวทางการระงับข้อพิพาทที่ได้มาตรฐานสากลในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

สถิติการลงทุนของต่างชาติ ดูจากตัวเลข Foreign Direct Investment หรือ FDI แบบ Netflow พบว่า ในปี 2556 ปีก่อนหน้าการรัฐประหาร มีการลงทุนจากชาวต่างชาติมากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ซึ่งปัจจุบันตัวเลขการลงทุนยังไม่กลับมาทีเดิม ไทยเสียโอกาสการลงทุนจากต่างชาติไปมากถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ซึ่งหากเงินจำนวนนี้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5-6 รอบก็ตกประมาณ 5-6 ล้านล้านบาท ที่ไทยเสียโอกาสในการพัฒนาไป

ซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงการลงทุนภายในประเทศของนักลงทุนภายในประเทศ

 

เรื่องที่สาม ภายหลังการรัฐประหาร ต่างชาติหลายประเทศยุติการเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA

บางประเทศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP บางประเทศแม้ไม่ตัดสิทธิพิเศษลงทันที แต่เมื่อความตกลงสิทธิพิเศษหมดอายุ ก็ไม่เจรจาเพื่อต่ออายุสิทธิพิเศษให้ เพื่อกดดันรัฐบาลที่ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย

ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อภาษีนำเข้าของประเทศปลายทางเป็นอย่างมาก

การเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ส่งออกไทยเป็นอย่างมาก

 

เรื่องที่สี่ ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งขอใช้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เป็นเครื่องชี้วัดความเติบโตของเศรษฐกิจ

สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การบริหารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร GDP ไทยเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี

ส่วนรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา GDP ไทยเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.7-1.8% ต่อปี

ความเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึงเกือบครึ่ง 9 ปีที่ผ่านมาเท่ากับโอกาสที่หายไปประมาณ 10% ของ GDP

หรือ 1.8 ล้านล้านบาท

 

เรื่องที่ห้า เรื่องสุดท้ายที่ขอฝากไว้ คือเรื่องหนี้สาธารณะ ที่บางท่านเรียกว่า “มรดกคุณลุงตู่” เลยทีเดียว ปัจจุบันทะลุ 10 ล้านล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนการรัฐประหารหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับประมาณ ร้อยละ 45 ของ GDP ปัจจุบันขยับมาที่ประมาณ ร้อยละ 61 ของ GDP

ซึ่งการเพิ่มหนี้สาธารณะหากนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเป็นประโยชน์สำหรับส่วนรวม ก็เป็นเรื่องที่ดี

แต่ตลอด 9 ปีเต็มที่ผ่านมา ลองถามใจตนเองดูกันครับว่าประเทศไทยมีอะไรพัฒนาขึ้นบ้างนอกจากยอดหนี้สาธารณะที่คุณลุงตู่ฝากไว้ให้ลูกหลานชาวไทยทุกท่าน

รวมๆ แล้ว 5 เรื่องนี้ฉุดรั้งประเทศไทยให้พัฒนาช้าลงไปไม่น้อยกว่า 20 ปี การที่ผู้คนฝ่ายประชาธิปไตยออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตของเขาเหล่านั้นเองไม่ใช่เรื่องที่ผิด

อนาคตประเทศไทยอยู่ในมือทุกท่าน พบกันวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ณ คูหาเลือกตั้งครับ

“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”