เสียง ‘โห่’ หน้าเวทีดีเบต

คนมองหนัง

มองในฐานะมหรสพประเภทหนึ่ง “เสียงโห่” ของกองเชียร์ (บาง) พรรคการเมือง ที่มีต่อนักการเมืองที่ตนเองไม่นิยมชมชอบหรือเห็นต่าง ซึ่งปรากฏขึ้นทั่วไปตามเวทีดีเบตในฤดูกาลการเลือกตั้งหนนี้ นั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

ในหลักการพื้นฐานที่สุด “เสียงโห่” ย่อมไม่ใช่ “เสียงเฮ” ถ้า “เสียงเฮ” คือความพออกพอใจกับเนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมดีเบตจากบางพรรค “เสียงโห่” ก็คือ การแสดงออกซึ่งความขุ่นข้องหมองใจต่อบางคนบนเวที

มองในภาพกว้างขึ้นอีกนิด “เสียงโห่” บ่งบอกเราว่าความขัดแย้ง-การแบ่งขั้วทางการเมืองไทยยังคงดำรงอยู่ ไม่ได้เลือนหายไปไหน หรือมิได้ทุเลาอาการลง

อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่าความขัดแย้งที่สำแดงผ่าน “เสียงโห่ตามเวทีดีเบต” ดูจะกินความตั้งแต่ช่วงวิกฤตเสื้อสี มาจนถึงการรัฐประหารปี 2557 เห็นได้จากการที่กองเชียร์พรรคการเมือง “ขั้วประชาธิปไตย” พากันโห่ใส่ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์บางราย ขณะที่เป้าหมายหลักของการถูกโห่ในหลายเวทีนั้นอยู่ที่คนของพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติของ “2 ลุง”

ทั้งนี้ ความขัดแย้งในโซเชียลมีเดียร่วมสมัยระหว่างกองเชียร์พรรคการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ด้วยกันเอง ที่เรียกขานกันว่าสงครามระหว่าง “นางแบก-นายแบกแดงกับติ่งส้ม” กลับยังไม่ปรากฏออกมาผ่าน “เสียงโห่” หน้าเวทีดีเบต

 

ถ้าพิจารณาความหมายในเชิงลึก “เสียงโห่” บ่งบอกถึงความโกรธแค้นอันล้นปรี่ จนต้องปลดปล่อยออกมา ขณะเดียวกัน ก็บ่งชี้ถึงความหวัง ว่าประชาชนคนธรรมดาสามารถกดข่ม “คนที่ยึดอำนาจของพวกเรา” เอาไว้ได้ และเราจะชนะพวกเขาโดยเด็ดขาดในสักวันหนึ่ง

“เสียงโห่” จะไม่ถูกแปรสภาพไปเป็นการลงไม้ลงมือใส่อริทางการเมือง ตราบใดที่ผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการเลือกตั้งจะไปลงเอยที่ผลคะแนนอันเป็นธรรม ซึ่งสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแม่นยำ

ทว่า หากเกิดการกระทำใดที่พยายามจะเบี่ยงเบนเจตจำนงทางการเมืองดังกล่าว หรือถ้าเกิดการฉ้อโกงทุจริตอย่างน่าเกลียดจนรับไม่ได้ในกระบวนการเลือกตั้ง

“เสียงโห่” ก็อาจแปรสภาพกลายเป็นการใช้ความรุนแรงในเชิงกายภาพได้

นี่คือ ความหมายคร่าวๆ ของ “เสียงโห่” จากมุมของ “ผู้โห่”

 

ในอีกมุมหนึ่ง ปฏิกิริยาตอบกลับต่อ “เสียงโห่” ของเหล่านักการเมือง “ผู้ถูกโห่” ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

เข้าใจว่าเมื่อ “เสียงโห่” กลุ่มแรกๆ ถูกเปล่งออกมาหน้าเวทีดีเบตของฤดูกาลเลือกตั้งรอบนี้ ความรู้สึกของคนบนเวทีที่ถูกโห่ใส่ ย่อมต้องตกใจ ผิดหวัง โกรธ ตั้งตัวไม่ถูก พูดไม่ออก สูญเสียความเชื่อมั่น

นักการเมืองรายแรกๆ ที่พยายามตั้งสติสู้ แล้วพุ่งเป้าโต้ตอบต่อ “เสียงโห่” หน้าเวทีอย่างจริงจังเคร่งเครียด คือ “สันติ พร้อมพัฒน์” แห่งพรรคพลังประชารัฐ ที่ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนประชาชนที่โห่ใส่เขา ให้เงียบเสียงลง

ปฏิกิริยาเช่นนี้จะกลายเป็นแบบแผนหลักที่ “ผู้ถูกโห่” รายอื่นๆ ในอีกหลายเวที นำไปใช้ (ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ผล เพราะยิ่งอบรมสั่งสอน “คนโห่” มากเท่าใด พวกเขาก็ดูจะพร้อมใจกันส่งเสียงโห่ให้ดังมากขึ้นไปอีก)

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

แต่ก็มีนักการเมืองบางคนที่เลือกตอบสนองต่อ “เสียงโห่” อย่างผิดแผกออกไป ดังกรณีของ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แห่งพรรคพลังประชารัฐ

ถ้า “น.ต.ศิธา ทิวารี” คือ สายปั่นของ “พรรคการเมืองขั้วประชาธิปไตย” ชัยวุฒิก็คงเป็นตัวปั่นของ “ปีกรัฐบาลเดิม/พรรคการเมืองขั้วอนุรักษนิยม” ประจำเทศกาลดีเบตระลอกนี้

ไม่แน่ใจว่า ปฏิกิริยาครั้งแรกสุดที่ชัยวุฒิมีต่อ “เสียงโห่” หน้าเวทีดีเบตนั้นเป็นอย่างไร แต่ช่วงหลังๆ จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า เขามีท่าทีตอบกลับต่อ “เสียงโห่” ที่แตกต่างจากนักการเมืองขั้วเดียวกันรายอื่นๆ

กล่าวคือ ชัยวุฒิได้ทำตัวให้เลยพ้นไปจากความโกรธ ความรู้สึก “เฟล” หรือการให้การศึกษา-อบรมมารยาทแก่บรรดา “ผู้โห่”

ทว่า เขาพยายามทำตัวให้เหมือนเอ็นจอย รู้สึก “ฟิน” ไปกับ “เสียงโห่” เหล่านั้น ยิ่งถูกต่อต้านจากมวลชนมากเท่าไหร่ เขายิ่งยืนกรานความคิดเห็นของตนเอง (ที่บางคนมองว่าไม่ค่อยเป็นระบบหรือไม่ค่อยมีตรรกะรองรับ) ด้วยเสียงที่ดังขึ้น ไปพร้อมๆ กับการปรบมือ-หัวเราะชอบใจใส่ “คนโห่”

อย่างน้อย การ “เลือกบทเล่น” แบบนี้ ก็คงช่วยให้ชัยวุฒิสามารถยืนระยะบนเวทีดีเบตได้ยาวนานกว่าคนที่รู้สึกโกรธหรือเครียดกับ “เสียงโห่”

มิหนำซ้ำ ไปๆ มาๆ เขายังกลายเป็น “นักการเมืองที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักมากที่สุด” ของพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ (ส่วนการได้รับคะแนนนิยมหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาแยกออกไป)

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของเนื้อหาส่วนนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรจากเนื้อหาส่วนแรก คือ ชัยวุฒิและนักการเมืองผู้ถูกประชาชนโห่ใส่รายอื่นๆ จะยังสามารถเอ็นจอยหรือฟินกับ “เสียงโห่” ไปได้ ตราบใดที่กระบวนการทางการเมืองทุกอย่างในช่วง 1-2 เดือนนี้ จะไปลงเอยที่การจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และการที่ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายยอมรับเจตจำนงของประชาชนเสียงส่วนใหญ่

แต่หากกระบวนการหันเหไปจากทิศทางที่ควรเป็น “เสียงโห่” หน้าเวทีดีเบตก็ย่อมแปรเปลี่ยนกลายเป็นพฤติกรรมชนิดอื่น ที่อาจส่งผลให้ใครหลายคนไม่สามารถ “แกล้งสนุก” กับมันได้อีกต่อไป •

 

| คนมองหนัง