E-DUANG : บทเรียน กรณี “น้องเมย” ด้าน “สื่อ”

มีความเด่นชัดว่า กรณีการเสียชีวิตของ “น้องเมย” สะท้อนอิทธิพล ของ “โซเชียลมีเดีย” อย่างเด่นชัด

เด่นชัดว่า โซเชียล มีเดีย ครองสถานะ “นำ”

นำทั้งในด้านการนำเอา “รายละเอียด” ซึ่งสื่อเก่าไม่สามารถนำเสนอได้ และที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ กำหนดทิศทางการดำเนินไปของเรื่องราว

ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงตกเป็นเป้า ทำไม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงตกเป็นเป้า

ตอบได้เลยว่า เพราะ”คำพูด”

ขยายความต่อไปอีกว่า เพราะ”คำพูด”เหล่านั้นเผยแพร่ผ่านคลิป ปรากฏทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียง

เท่ากับ”โซเชียล มีเดีย”เล่นบท “ชี้นำ”

 

หากติดตามการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ “น้องเมย” เหมือนยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ไม่ว่าในเรื่องของ “แพทย์” ไม่ว่าในเรื่องของ “ทหาร”

แต่หากเข้าไป “ส่อง” ในแวดวง “โซเชียล มีเดีย”จะปรากฏบทสนทนา 3 ตอนบนเวบเพจทางสังคมชื่อดังเพจ 1 โดยเป็นการแสดงความรู้สึกจากคน”วงใน”

เป็นนักเรียน”เตรียมทหาร”ที่มีส่วนกับ”การซ่อม”

แหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลประเภทนี้ยากเป็นอย่างยิ่งที่สื่อหนังสือพิมพ์จะสามารถนำไปรายงานได้

เพราะหวาดเสียวอย่างยิ่ง

แต่คลิป “เสียง” นี้ก็ได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง เข้าลักษณะจากปากต่อปาก

เชื่อได้เลยว่า อีกไม่นานคงขึ้น”บนดิน”

 

มีความต้องการจะนำเอากฎหมายคอมพิวเตอร์มาบังคับใช้อย่าง เข้มงวดจริงจัง

ดังท่าทีของ “นายกรัฐมนตรี”

ดังการขานรับของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น”อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์”

โดยให้แต่ละกระทรวงตั้งตนเป็น “โจทก์”

กรณีการเสียชีวิตของ”น้องเมย”อาจเป็นกรณีศึกษา 1 ถึงการเข้ากำกับ ควบคุม กระบวนการทางด้าน”ข่าวสาร”ว่าจะสามารถจำกัดกรอบ ขอบเขตได้หรือไม่

กับการรุกคืบและขยายอิทธิพลของ”โซเชียล มีเดีย”