หลังเลือกตั้ง เรื่องที่น่าห่วงมาก | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ถึงแม้ผลการเลือกตั้งจะยังไม่ออกมา ถึงแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะการยื้อยุดไปมาจากหลายฝ่าย ผมก็ยังอดห่วงการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งไม่ได้

เรื่องที่ผมห่วงก็ดูง่ายๆ จาก นโยบาย ที่พวกเขาสัญญากันไว้มากมายนั้น จะปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและพัฒนาในทิศทางที่ควรจะเป็นได้อย่างไร

ผมขอยกตัวอย่าง นโยบายของพรรคการเมืองที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะได้เป็นรัฐบาล นั่นคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง

 

หลากนโยบาย แต่ตอบโจทย์ผิดๆ

เมื่อไม่นานนี้เอง วันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติได้แถลงถึงนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ ท่านได้กล่าวว่า1

“…สิ่งที่พูดวันนี้เป็นสิ่งที่ได้ทำมาแล้วหลายปี หลายอย่างสำเร็จ หลายอย่างยังไม่สำเร็จ หลายอย่างอยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งมีอุปสรรคมากมาย ในส่วนของพรรค (พรรครวมไทยสร้างชาติ-ขยายความโดยผู้เขียน) ทำแบบมีระบบมีวิธีคิด คำนึงถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่พูดแล้วไม่มีวิธีการทำ…”

“…สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นได้จริง มีการหาข้อมูลสำรวจ เป็นข้อมูลจากหลายภาคส่วน ใช้วิธีการอย่างไร มาจากไหน พร้อมยืนยันว่า นโยบายที่แถลงในวันนี้ทำได้อย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ประเทศที่มีรายได้ 4 ล้านล้านบาท (เน้นโดยผู้เขียน) เพื่อที่จะสามารถดูแลคนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย…”

นี่เป็นคำแถลงที่มาของนโยบายพรรคพลังประชารัฐที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยออกมา

ฟังดูดี แต่ก็สะท้อนวิธีคิดเบื้องหลังของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ได้ดีอย่างแจ่มแจ้ง

กล่าวคือ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลของท่านได้ทำอะไรหลายอย่างมากมาย ตัวท่านและรัฐบาลยังทำอะไรอยู่อีกมากมาย และจะทำต่อไป สมกับสโลแกนของท่านและพรรคคือ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อไป

วิธีคิดเช่นนี้ นอกจากย้ำปกป้องผลงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่บริหารประเทศมานานกว่า 8 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า แล้วทำไมเศรษฐกิจไทย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจึงไม่ดีขึ้น

เรื่องที่ชัดเจนที่สุดในความคิดของชาวบ้านทั่วไปคือ ทำไมค่าไฟจึงแพง แล้วตอนนี้ออกมาประกาศว่า หากพรรครวมไทยสร้างชาติได้เป็นรัฐบาลแล้ว จะลดราคาค่าไฟฟ้า

 

คราวนี้มาดู ประเด็นหลักของนายกรัฐมนตรีและพรรครวมไทยสร้างชาติคือ การเพิ่มรายได้ของประเทศไทย ในขณะที่ท่านนายกรัฐมนตรีเย้ยยันพรรคอื่นๆ ว่า การเพิ่มรายได้ของประเทศที่พรรคเหล่านี้ต้องการจะเพิ่มนั้นทำไม่ได้ในความเป็นจริง มีแต่คำสัญญาที่ไม่เป็นจริง

ในทางตรงกันข้ามท่านนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและพรรครวมไทยสร้างชาติมีวิธีการหาเงินหารายได้ให้กับประเทศได้

ตรงนี้นี่เอง ที่ผมฟังและอ่านวิธีการของท่านด้วยใจจดใจจ่อและอดเชียร์พรรคของท่านไม่ได้ เมื่อดูนโยบาย 16 นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ข้อที่ 1 คือเพิ่มรายได้ประเทศไทย ปีละ 4 ล้านล้านบาทคือ เศรษฐกิจโตปีละ 5% รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 20,000 บาท สร้างงานเพิ่มขึ้น 6.25 แสนตำแหน่ง (เน้นโดยผู้เขียน)

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการ ตั้งเป้าหมาย การเพิ่มรายได้ของประเทศไทยมากกว่าจะบอกวิธีการหาเงินตามที่โฆษณาเอาไว้

หลังที่กวาดสายตาดู วิธีการเพิ่มศักยภาพของประเทศอันอาจนับรวมเป็นการเพิ่มรายได้ของประเทศก็นับว่า เป็นนโยบายเก่าๆ และกว้างๆ เท่านั้น

กล่าวคือ มีการกล่าวถึงการเพิ่มศักยภาพประเทศไทยคือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) และระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค รวมถึงเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ประเทศสู่อาเซียนและจีนตอนใต้ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ2

การเพิ่มศักยภาพของประเทศเหล่านี้นับเป็นทั้งกรอบคิด นโยบายและวิธีการที่เก่าและล้าสมัยมาก

นอกจากไม่มีอะไรใหม่แล้ว โครงการต่างๆ ก็ไม่ได้เพิ่มศักยภาพประเทศไทย

หากเพิ่มศักยภาพจริงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจคงดีกว่าที่เป็นอยู่

ไม่เพียงแต่เท่านั้น หากเราย้อนกลับไปดู คลิป ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่น่าจะตรงกับ หาเงินเป็น มากที่สุดคือ คลิปมือยาว คือรัฐบาลของท่านจะเอาเงินตราต่างประเทศเข้ามาโดยผลักดันเรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยอาศัยบีโอไอ

น่าประหลาดใจมาก บทบาทของการส่งเสริมการลงทุนเช่นนี้เก่าและล่าสมัยมาก

มาตรการด้านสิทธิประโยชน์ ด้านภาษี ให้กับนักลงทุนต่างชาติของไทยไม่ได้จูงใจนักลงทุนต่างประเทศแล้ว

นักลงทุนต่างประเทศเห็นว่า ไทยมีต้นทุนพลังงานแพงกว่าที่อื่น แรงงานมีฝีมือก็หายาก นับเป็นปัญหาของระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้น จึงมีแต่การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยมากกว่า

การหาเงินและใช้เงินเป็นเช่นนี้จึงเป็น ความรู้เรื่องการหาเงินจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงมากกว่า คือไม่เคยหาเงิน มีแต่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแบบเดิมๆ นั่นเอง

 

โจทย์เศรษฐกิจ
ของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง

โจทย์หลักของชาติของผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงคือ ปกป้องสถาบันหลัก 3 สถาบันของชาติ ซึ่งไม่มีใครเถียงเลย นี่คือหน้าที่หลักของฝ่ายความมั่นคง

แต่การเพิ่มศักยภาพของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคง ยังมองโจทย์ที่แท้จริงไม่ออก

เราจะเห็นได้ในรายงานการศึกษาด้านความมั่นคงของเกือบทุกหน่วยงานด้านความมั่นคง และที่สะท้อนแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงที่สุดคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ชาติฉบับแก้ไขไม่เคยมีการกล่าวถึงวิกฤตการณ์ที่กระทบต่อไทยก่อนหน้านั้นเลย (2561-2565) คือ ผลจากโรคระบาดโควิด-19 ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งหมดกระทบโดยตรงต่อ ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) ที่กระทบห่วงโซ่อุปทานของไทยด้วย กระทบรายได้ของประเทศ กระทบต่องบประมาณรายจ่ายเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่โควิด-19

ที่สำคัญมาก หลังจากระบบเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจากวิกฤตการณ์โรคโควิด-19และสงครามรัสเซีย-ยูเครนสงบลงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงของเราไม่ได้คิดหรือคิดไม่ออกกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันและในอนาคตคือ สังคมไทยก้าวสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ภายใต้สังคมสูงอายุนี้ ใครที่เป็นรัฐบาลจะเพิ่ม ผลิตภาพ (productivity)3 ต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร

ผลิตภาพที่ลดลง งบประมาณรายจ่ายเพื่อสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น จำนวนคนวัยทำงานที่ลดน้อยลง และหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก ในอนาคตคนไทยวัยทำงานแต่ละคนจะต้องหาเงินดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งดูแลทางตรง (ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและตัวเองในวัยชรา) และทางอ้อม (ผ่านการเสียภาษีให้รัฐบาลเพื่อเอาไปดูแลคนชรา)

ตลาดในประเทศก็มีแนวโน้มเล็กลงตามจำนวนประชากรและโครงสร้างประชากร

ในอนาคตงบประมาณของภาครัฐที่จะลงทุนเรื่องใหม่ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงก็มีแนวโน้มลดลง เพราะงบรายจ่ายสวัสดิการเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันกับประเทศอื่นที่เข้มข้นมากขึ้น หลายประเทศคู่แข่งมีโครงสร้างประชากรหนุ่มสาวและกำลังเพิ่มผลิตภาพหลายด้าน4

เพิ่มรายได้ประเทศไทย ปีละ 4 ล้านล้าน ของพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นยิ่งกว่า โม้ ไม่เคยบอกว่าวิธีการเพิ่มรายได้ประเทศคืออะไร ถึงมีคนบอกให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอธิบายก็ไม่เข้าใจ ได้แต่พล่าม สั่งการ ชี้นิ้ว

อย่างดีก็ตั้งคณะทำงาน แล้วบอกว่า ทำแล้ว ทำอยู่และทำต่อไป เป็นอย่างนี้มาตลอดการบริหารประเทศเกือบทศวรรษแล้ว

ตลกร้ายคือ ถึงไม่เลือกเขา เขาก็พยายามจะมาเป็นรัฐบาลให้ได้

 


1“บิ๊กตู่ นำทัพ รทสช. เปิด 16 นโยบาย ปั๊มจีดีพีปีละ 5% จัดเต็ม หาเงินเข้า ปท.ปีละ 4 ล้าน ล.” มติชน 26 เมษายน 2566

2เพิ่งอ้าง

3วิรไท สันติประภพ “เศรษฐศาสตร์พเนจร” 16 เมษายน 2566

4เพิ่งอ้าง