จริงตนาการ : ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 ที่ต้อง Must Have “ม.44”

คอลัมน์เขย่าสนาม

เหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือน “ฟุตบอลโลก 2018” รอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซียจะโม่แข้งกันแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ชมกันเลย

ไม่นานมานี้ “บิ๊กเสือ” “สกล วรรณพงษ์” ผู้ว่าการ “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) ออกมายืนยันเองว่า คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลก 2018 อย่างแน่นอน

โดย กกท. จะรับหน้าที่เป็นโต้โผในเรื่องนี้ ด้วยการให้ “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย” (ทีวีพูล) เจรจาขอซื้อลิขสิทธิ์กับทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เอาไว้ก่อน กกท. จะเดินหน้าหาช่องทางในเรื่องงบประมาณ

การที่ไม่มีภาคเอกชนทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์เหมือนที่ผ่านมา เกิดจากปัญหาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ “บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)” เจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2014 ในประเทศไทย ถูก “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) สั่งให้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแบบฟรีๆ เพราะเป็นกีฬาที่ได้รับความสนใจของคนทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องถ่ายทอดสดตามข้อบังคับ” “Must Have” ที่ กสทช. ระบุไว้

Must Have กีฬาสำคัญๆ ของ กสทช. มีดังนี้ 1.ซีเกมส์ 2.อาเซียนพาราเกมส์ 3.เอเชี่ยนเกมส์ 4.เอเชี่ยนพาราเกมส์ 5.โอลิมปิกเกมส์ 6.พาราลิมปิกเกมส์ และ 7.ฟุตบอลโลก

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น จบลงด้วยการที่อาร์เอสยอมให้มีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีได้ 22 นัด จากการแข่งขัน 64 นัด บ้านไหนครัวเรือนใดไม่มีกล่องรับสัญญาณและไม่ได้จ่ายเงินซื้อแพ็กเกจจากอาร์เอสก็จะได้ดูเพียง 22 นัดเท่านั้น

เมื่อเห็นคำสั่งของ กสทช. ที่ให้อาร์เอสต้องถ่ายทอดสดฟรีๆ ทั้งที่เสียเงินซื้อลิขสิทธิ์มาเป็นหลักพันล้านบาทแล้ว ทำให้มีการวิจารณ์ กสทช. กันอย่างหนักหน่วง เหมือนกับว่ามีแม่ค้าซื้อหมูมาแบ่งขาย แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองห้ามขาย ต้องแจกให้ชาวบ้านได้กินกันฟรีๆ เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐาน แม่ค้าก็เลยไม่ยอม เพราะใช้เงินของตัวเองมาลงทุน แบบนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

นี่คือบทเรียนที่ทำให้ไม่มีใครกล้าจะไปซื้อลิขสิทธิ์ “เวิลด์คัพ 2018” มาลงทุนอีก กสทช. ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะทำอะไร ปล่อยให้หน่วยงานกีฬาด้านอื่นๆ ดิ้นรนหาทางกันเอง

 

ค่าลิขสิทธิ์ที่ผู้ถือสิทธิถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในไทยต้องจ่ายให้ฟีฟ่าอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท การประมูลปกติจะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกรวดเดียว 2 ครั้ง สำหรับในครั้งนี้จะเป็นฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย และฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ควบคู่กันไป และจะได้สิทธิยิงสดการแข่งขันปรีอีเวนต์อย่างคอนเฟเดอเรชั่นส์คัพด้วย นอกจากนั้น ฟีฟ่าอาจจะแถมรายการเล็กรายการน้อยให้ได้มาทำการค้าอีกพอสมควร

ความหวังเดียวที่คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกก็คือเงินของประเทศเท่านั้น โดยเบื้องต้นทีวีพูลได้ดำเนินการประสานกับทางฟีฟ่าไว้แล้ว และ กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีการนำเอาเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหาหนทางในการที่จะถ่ายทอดสดให้ได้ เพราะอาจจะเป็นการใช้เงินผิดกฎหมายหรือเปล่า อีกทางหนึ่ง คือให้ กสทช. เป็นเจ้าภาพซื้อลิขสิทธิ์ด้วยตัวเอง ตามกฎ Must Have ที่หน่วยงานตัวเองได้ระบุไว้

น่าสนใจจริงๆ ว่า กสทช. จะเดินหน้าลุยซื้อลิขสิทธิ์แบบเอาจริงเอาจัง เหมือนตอนที่บีบอาร์เอสให้ถ่ายทอดสดฟรีหรือไม่?

แต่เท่าที่ติดตามข่าวตอนนี้ มีเพียงแต่ประโยคที่ว่า “หมายเลขที่ท่านเรียกไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้”

หรือท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องใช้ไม้ตาย ม.44 จาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ก็เป็นได้

จะถือเป็นการใช้ ม.44 ที่เข้าท่าที่สุดและคืนความสุขให้ประชาชนคนไทยมากที่สุดครั้งหนึ่งของ คสช. เลยทีเดียว

 

เพื่อนบ้านในอาเซียนและเอเชียไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องนี้ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนามได้บริษัทยักษ์ใหญ่จ่ายเงินสอยสัญญาณกันมาเรียบร้อยตั้งนานแล้ว ที่จีนเอง ซีซีทีวี สถานียักษ์ใหญ่ของประเทศก็เพิ่งได้มาเช่นกัน อาจจะมีที่สหรัฐอเมริกาที่ผู้ประมูลลิขสิทธิ์บาดเจ็บกว่าใคร

“ฟ็อกซ์ สปอร์ต” ได้ประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018, 2022 จากฟีฟ่าด้วยมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,200 ล้านบาท แต่ปัญหาคือ ทีมชาติสหรัฐอเมริกาไม่ได้ไปเตะฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

เมื่อไม่มีทีมชาติตัวเองลงเตะ จำนวนแฟนบอลที่จะจ่ายเงินดูการถ่ายทอดสดจะน้อยลงไปมากทีเดียว ถึงขั้นใช้ประโยคที่ว่า “มูลค่าของลิขสิทธิ์ครั้งนี้มูลค่าต่ำลงกว่าที่เคยจินตนาการไว้”

ส่วนที่อังกฤษ บีบีซีและไอทีวียังคงประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1966 รวมแล้วก็ 14 ครั้งเข้าไปแล้ว ที่สำคัญชาวอังกฤษยังคงได้ชมฟุตบอลโลกฟรีๆ เหมือนเดิม

 

สําหรับเจ้าภาพรัสเซียก็ยังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่คาราคาซัง เพราะฟีฟ่าจะขายลิขสิทธิ์ให้เจ้าภาพด้วยเงินสูงถึง 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,630 ล้านบาท แต่กลุ่มผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในรัสเซียยืนยันว่ารับราคาได้ที่ไม่เกิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,320 ล้านบาทเท่านั้น

“วิตาลี่ มุตโก้” รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย บอกว่า ค่าโฆษณาของสถานีโทรทัศน์รัสเซียไม่ได้มีมูลค่ามหาศาลเหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าลิขสิทธิ์ได้มากมายขนาดนั้น หลายๆ สถานีโทรทัศน์จะช่วยกันซื้อลิขสิทธิ์แล้วหาโฆษณาเพื่อชดเชยเงินที่จ่ายไป และคาดว่าปัญหาเรื่องนี้จะแก้ไขจบลงก่อนสิ้นปีนี้

ฟุตบอลโลกเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกมาอย่างยาวนาน ทำให้ค่าลิขสิทธิ์พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เงินที่ฟีฟ่าได้จากการขายสัญญาณการถ่ายทอดสดและการนำเอาลิขสิทธิ์ไปหารายได้ต่างๆ นั้น ฟีฟ่าต้องนำไปใช้ในหลายๆ ด้าน เช่น มอบเงินชดเชยให้กับสโมสรที่มีนักเตะมาลงแข่งขันในฟุตบอลโลกทั้งหมด เนื่องจากสโมสรยังต้องจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ แต่ไม่ได้ทำงานให้ต้นสังกัดในช่วงนั้น

รวมทั้งต้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเจ็บของนักเตะที่เกิดขึ้นช่วงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายด้วย ค่าเดินทาง การจัดแฟนเฟส ลานกิจกรรมให้แฟนบอล รวมทั้งเงินรางวัลของทุกทีม

แต่เมื่อคิดออกมาแล้ว ฟีฟ่ายังได้กำไรจากฟุตบอลโลกแบบแทบจะไม่มีธุรกิจไหนเทียบได้

 

เงินรางวัลของฟุตบอลโลก 2018 รวมกันทั้งหมดจะอยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 23,100 ล้านบาท ทุกทีมที่เข้ารอบมาจะได้ไปก่อน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (66 ล้านบาท) ตกรอบแรกได้อีกทีมละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (330 ล้านบาท) ทีมแชมป์โลกหนนี้รับไปเหนาะๆ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,650 ล้านบาท) เพิ่มจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (495 ล้านบาท)

ฟุตบอลโลก 2014 ฟีฟ่ามีรายได้ 4,800 ล้านดอลลาร์ (158,400 ล้านบาท) รายจ่าย 2,700 ล้านดอลลาร์ (89,100 ล้านบาท) กำไรอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ (69,300 ล้านบาท) และคาดว่ากำไรในฟุตบอลโลก 2018 จะต้องมากขึ้นอีกพอสมควร

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเหตุผลว่าทำไมลิขสิทธิ์ฟุตบอล 64 นัด ถึงแพงหูฉี่ขนาดนี้ เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมดูแลการถ่ายทอดสดเห็นแบบนี้แล้วก็ควรจะควักกระเป๋าจากเงินรายได้จากการประมูลทีวีดิจิตอลมาช่วยเหลือด้านนี้บ้าง เพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้กับฟุตบอลโลกหนต่อๆ ไปให้ไม่มีปัญหาแบบนี้อีก

ไม่ใช่อ้างแต่ “ต้องถ่าย ต้องถ่าย” แต่ “ไม่ยอมจ่าย” แล้วนั่งชี้นิ้วสั่งไปวันๆ นะขอรับ