ระบอบประยุทธ์! 9 ปีของอำนาจนิยมพันทาง “จะผิด จะถูก ผมรับผิดชอบผู้เดียว”

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ระบอบประยุทธ์! 9 ปีของอำนาจนิยมพันทาง “จะผิด จะถูก ผมรับผิดชอบผู้เดียว” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557)

 

ผลของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นความท้าทายอย่างมาก

เนื่องจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 นั้น เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557 จึงแทบไม่ต้องคาดเดาเลยว่า คณะรัฐประหารจะแพ้การเลือกตั้ง เพราะเป็นที่รับรู้กันดีว่า การเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารนั้น ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของระบอบทหาร

หากเปรียบเทียบแล้ว จะเห็นถึงแตกต่างจากระบอบทหารหลังรัฐประหาร 2549 อย่างสิ้นเชิง

เพราะเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2550 นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการยึดอำนาจนั้น ตัดสินใจที่จะไม่ลงแข่งทางการเมือง และปล่อยให้การเมืองเดินไปตามครรลอง

“พรรคพลังประชาชน” ที่เคยเป็นรัฐบาลในนามของ “พรรคไทยรักไทย” และเพิ่งถูกโค่นจากการรัฐประหาร หวนกลับมาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้เกิดวาทกรรมในกลุ่มปีกขวาที่เป็นแนวร่วมในการยึดอำนาจว่า รัฐประหาร 2549 คือ การ “เสียของ” เพราะไม่สามารถยับยั้งการกลับมาเป็นรัฐบาลของฝ่ายนิยมทักษิณ

 

รัฐประหารต้อง “ไม่เสียของ”

ดังนั้น เมื่อคณะรัฐประหาร 2557 ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจอีกครั้ง จึงไม่แปลกที่กลุ่มทหารขวาจัดที่ร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดจะต้องออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อ “ไม่ให้เสียของ” และรองรับการกลับสู่อำนาจของผู้นำรัฐประหารหลังการเลือกตั้ง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นช่วยในการแปลง “รัฐบาลทหาร” ที่มาจากการยึดอำนาจให้เป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง”

ในภาวะเช่นนี้ สังคมไทยจึงเห็นวิธีการต่างๆ ที่ไม่ว่าจะฝืนกฎกติกาอย่างไร หรือไม่ว่าจะฝืนความรู้สึกของผู้คนในสังคมอย่างไร แต่พวกเขาต้องทำเพื่อพาผู้นำรัฐประหารกลับสู่การมีอำนาจด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้ง

ผลจากการเลือกตั้งนำในภาวะเช่นนี้ทำให้เกิด “รัฐบาลพันทาง” หรือเรียกในทางทฤษฎีว่า “ระบอบไฮบริด”

ระบอบนี้อาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลอำนาจนิยม การเลือกตั้งไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อให้เกิดการ “เปลี่ยนผ่านทางการเมือง” อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

เพราะการเลือกตั้งถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการคงอำนาจของระบอบทหารเดิม อันทำให้เกิด “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ดังที่กล่าวแล้ว การเมืองในภาวะเช่นนี้ถูกออกแบบเพื่อ “ปิดประตู” ไม่ให้ฝ่ายค้านชนะ (ซึ่งมีทั้งฝ่ายนิยมประชาธิปไตย และฝ่ายนิยมทักษิณ) แต่ขณะเดียวกัน ก็ “เปิดประตู” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยภาพลักษณ์ที่ผ่านการเลือกตั้ง ทั้งที่ทุกฝ่ายรับรู้เป็นอย่างดีว่า การเลือกตั้ง 2562 มีภาวะ “เสรีแต่ไม่เป็นธรรม”

แต่บางฝ่ายอาจมีความเห็นว่าทั้ง “ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม”

ทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยามองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นสภาวะ “ครึ่งๆ กลางๆ” ที่รัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่เป็นรัฐบาลทหารเต็มรูปเช่นในช่วงรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีทางเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มรูป เพราะคณะรัฐประหารได้ออกแบบ “รัฐธรรมนูญแบบพันทาง” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง “ระบอบพันทาง” ที่ต้องอาศัยอำนาจของกองทัพเป็นปัจจัยค้ำจุนทางการเมือง และระบอบนี้คือการคงอำนาจของคณะรัฐประหารไว้ภายใต้กรอบการเมืองแบบการเลือกตั้งนั่นเอง

เราอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า การเลือกตั้งภายใต้ “รัฐธรรมนูญแบบพันทาง” นั้น คือการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารในตัวเอง

ฉะนั้น ความสำเร็จในการจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” จึงเป็นการ “สร้างภาพลักษณ์ใหม่” เพื่อบดแรงกดดันจากเวทีสากล ที่เรียกร้องให้รัฐบาลพาประเทศไทยกลับสู่การเลือกตั้ง และความเป็นประชาธิปไตย การสร้างระบอบพันทาง จึงกลายเป็น “ความเจ้าเล่ห์” ทางการเมืองของฝ่ายอำนาจนิยม แต่กระนั้นทุกฝ่ายก็ยอมรับว่า การเลือกตั้งเป็นหนทางที่ดีที่สุด

การเลือกตั้ง 2562 จึงไม่ใช่ “การเปลี่ยนผ่าน” อย่างที่คาดหวัง หากเป็นการทำให้ “โครงสร้างอำนาจเก่า” ดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้าง “ภาพลักษณ์ทางการเมืองใหม่”

ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจจาก “รัฐบาลทหารแบบยึดอำนาจ” ไปสู่การเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ซึ่งในการนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยผู้นำรัฐประหารคนเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสร้างภาพของความเป็นผู้นำของฝ่ายขวาจัด จนทำให้เกิด “ระบอบประยุทธ์” (The Prayuth Regime) ในการเมืองไทย

ฉะนั้น การสืบทอดอำนาจเพื่อสร้างระบอบประยุทธ์คือ การเปลี่ยนเสื้อผ้าของผู้นำรัฐบาล จาก “นักการเมืองในเครื่องแบบ” สู่การเป็น “นักการเมืองนอกเครื่องแบบ”

 

การสร้างระบอบประยุทธ์

การสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์นั้น เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 9 ประการหลัก คือ

1) การดำรงบทบาททหารไว้ในการเมือง เพื่อเป็นฐานค้ำจุนอำนาจของผู้นำรัฐประหารที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักการเมือง และเปลี่ยนจากระบอบรัฐประหารไปสู่ระบอบพันทาง ในภาวะเช่นนี้ กองทัพยังต้องมีบทบาทเป็น “ไม้ค้ำยัน” ให้แก่รัฐบาลพันทางต่อไป

2) การดำรงทิศทางของการพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามที่ผู้นำรัฐประหารต้องการ ด้วยการออกข้อกำหนดที่เรียกกันว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่งยุทธศาสตร์เช่นนี้กลายเป็น “ภาคบังคับ” เพราะมีมาตรการทางกฎหมายกำกับ และไม่อนุญาตให้ฝ่ายที่มีความเห็นแย้งไปยกเลิกและไม่ปฏิบัติตาม

3) การดำรงอำนาจของผู้นำรัฐประหารด้วยการสร้างและออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย เช่น อำนาจของวุฒิสภา และใช้วุฒิสภานี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมทิศทางทางการเมือง และปกป้องรัฐบาล

4) การดำรงการควบคุมทางการเมืองผ่าน “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการที่คณะรัฐประหารเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีบทบาทในองค์กรเหล่านี้ จนเกิดคำถามถึงความเป็นอิสระขององค์กร และทำให้องค์กรอิสระขาดความเชื่อถือในสังคม แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ดีในการควบคุมทางการเมือง เพราะจะไม่มีทางที่ฝ่ายเห็นต่างจะฟ้องร้องเอาชนะรัฐบาลได้เลย แต่สิ่งนี้ก็แลกมาด้วยการไร้ประสิทธิภาพของการ “ตรวจสอบและถ่วงดุล”

5) การขยายบทบาทของทหารในสังคม ผ่านการออกกฎหมาย กอ.รมน. เพื่อให้คณะรัฐประหารที่แปลงร่างเป็นรัฐบาลนั้น ยังมีกลไกในการจัดการกับปัญหาแรงต้านทางการเมืองในสังคม การขยายอำนาจเช่นนี้ทำให้การมีบทบาทของทหารในเวทีการเมืองมี “คำสั่งทางกฎหมาย” รองรับไว้โดยตรง

6) การสร้างความอ่อนแอด้วยวิธีการต่างๆ ให้เกิดแก่ระบบรัฐสภา ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำรัฐบาลไม่เคยต้องรู้สึกใส่ใจกับกระบวนการทางรัฐสภา จนปรากฏเป็นภาพว่า ผู้นำรัฐประหารที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแบบเลือกตั้งนั้น ไม่ค่อยให้ความเคารพต่อการเมืองแบบรัฐสภา

7) การสร้างความเข้มแข็งของระบอบประยุทธ์ ที่มีความเป็นไฮบริดอย่างมากนั้น จึงต้องใช้วิธีด้อยค่าระบอบประชาธิปไตย และลดทอนบทบาทของพรรคการเมือง หรือสร้างให้เห็นด้านลบของนักการเมือง ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนที่หาได้ไม่ยากในการเมืองไทย

8) ระบอบพันทางแบบรัฐบาลประยุทธ์ต้องสร้าง “รัฐราชการอำนาจนิยม” (Bureaucratic Authoritarianism) ระบอบนี้จึงต้องอาศัยกลไกราชการเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะผู้นำรัฐประหารมีข้อจำกัดในความเป็นทหาร ที่ไม่ได้ถูกผลิตในทางการศึกษาเพื่อการ “บริหารรัฐสมัยใหม่” และรัฐสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่าที่ผู้นำรัฐประหารเรียนรู้จากโรงเรียนทหาร

9) ระบอบประยุทธ์ถูกสร้างให้เป็นศูนย์รวมของบรรดากลุ่มปีกขวาที่ต่อต้านประชาธิปไตย และไม่ยอมรับกลุ่มนิยมทักษิณ หรือเป็นอุดมคติของกลุ่มชนชั้นกลางขวาจัด (กลุ่มสลิ่ม)

 

ดังนั้น ผลพวงจากการจัดตั้ง “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ที่ผนวกเข้ากับระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ในปัจจุบัน ได้กลายเป็นการสร้างฐานอำนาจที่เข้มแข็งของ “ระบอบประยุทธ์”

ดังจะเห็นได้ว่า จากปี 2557 จนถึงปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งบุคลากรในองค์กรอิสระ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ตุลาการ และพลเรือน อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีคนเดียว

อีกทั้งเกิดการสร้างวัฒนธรรมการเมืองไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะต้องเรียกว่า “วัฒนธรรมการเมืองแบบประยุทธ์” ที่ไม่สนใจกระบวนการเมืองแบบรัฐสภา ไม่ให้ความสนใจกับการพัฒนาประชาธิปไตย พร้อมกับการสร้างความอ่อนแอให้เกิดแก่ระบบรัฐสภาและพรรคการเมือง

อีกทั้งอยู่ในอำนาจโดยปราศจาก “ความรับผิดชอบทางการเมือง” (political accountability) เพราะไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีจะลอยตัวอยู่เหนือความผิดเหล่านั้นทั้งปวง หรือเกิดสภาวะ “นายกรัฐมนตรีที่โค่นไม่ได้” ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

ระบอบนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของ “ระบอบอำนาจนิยมไทยยุคปัจจุบัน” ที่อำนาจไม่ได้ถูกสร้างผ่าน “อำนาจทหาร” เท่านั้น หากแต่ยังถูกสร้างผ่าน “อำนาจตุลาการ” ที่อยู่ในรูปแบบขององค์กรอิสระ

และอำนาจเช่นนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจาก “อำนาจทุนใหญ่” ที่ทำหน้าที่เป็น “เสาค้ำ” อย่างแข็งแรงให้แก่ระบอบการเมืองแบบไฮบริด หรือเป็นการประสาน 3 พลังใหญ่ที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ ที่วันนี้ ปรากฏตัวในรูปแบบของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า แล้วพรรคนี้จะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ แต่แม้จะไม่ชนะเลือกตั้ง มรดกที่ระบอบประยุทธ์ทิ้งไว้ยังคงเป็นโจทย์สำคัญในอนาคต

 

อนาคต

หากเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าการเลือกตั้ง 2566 เกิดขึ้น และหากพรรคการเมืองฝ่าย “อำนาจเก่า” ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ชนะ การจัดวางอนาคตของประเทศอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องขบคิดมากมาย เพราะประเทศจะไม่ไปเกินกว่าสิ่งที่ระบอบเก่าได้กำหนดไว้แล้ว

แต่ถ้าพรรคการเมืองในฝ่ายค้านชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 ได้จริง ก็จะเป็นความท้าทายอย่างมากว่า พวกเขาจะเปลี่ยน “มรดกระบอบประยุทธ์” ได้หรือไม่

ถ้าพวกเขาตัดสินใจทำแล้ว “รัฐราชการอำนาจนิยม” ซึ่งเป็นการรวมกลไกทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน และตุลาการ จะทำตัวเป็น “ต้นไม้ใหญ่ล้มขวางถนน” ขัดขวางการ “ปฏิรูประบอบเก่า” ที่อยู่ภายใต้อำนาจและวัฒนธรรมทางการเมืองของระบอบประยุทธ์ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาอย่างไรหรือไม่ เพราะระบอบนี้กุมอำนาจรัฐมาอย่างยาวนาน

ฉะนั้น การเลือกตั้ง 2566 จึงท้าทายอย่างมาก… ผู้ชนะจะมาจากฝ่าย “เปลี่ยนสถานะเดิม” หรือจะมาจากฝ่าย “ดำรงสถานะเดิม” ถ้าฝ่ายผู้เปลี่ยนชนะแล้ว พวกเขาจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เพียงใด

แน่นอนว่า การยุติของระบอบประยุทธ์มิใช่การสิ้นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น หากแต่ต้องเปลี่ยนสิ่งที่เป็นมรดกจากตัวระบอบนี้ให้ได้ด้วย!