นกนางนวลแกลบขั้วโลก ผู้เชื่อมสองขั้วโลก | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
นกนางนวลแกลบขั้วโลก ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Arctic_tern

ในบทความเรื่อง ขั้วโลกเหนือ vs ขั้วโลกใต้: หนาวทั้งคู่…แต่ต่างกันมากมาย ผมได้เกริ่นไว้ว่ามีนกชนิดหนึ่งซึ่งเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่สุดขอบโลก 2 แห่งนี้ นั่นคือ นกนางนวลแกลบขั้วโลก (Arctic tern)

นกนางนวลแกลบขั้วโลกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sterna paradisaea มีลำตัวสีขาว ปีกสีเทาและกระหม่อมสีดำ เมื่อกางปีกเต็มที่วัดขนาดได้ 75-85 เซนติเมตร น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กรัมเล็กน้อย นกพันธุ์นี้กินกุ้ง ปู ปลาเป็นอาหาร และมีอายุยืนยาวราว 30 ปี (แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุ 32 ปี) นกนางนวลแกลบขั้วโลกดูคล้ายคลึงกับนกนางนวลแกลบธรรมดา (S. hirundo) ที่พบเห็นกันได้บ่อย

นกนางนวลแกลบขั้วโลกบินอพยพย้ายถิ่นประจำปีเป็นระยะทางไกลที่สุด ในฤดูร้อน (ของซีกโลกเหนือ) นกชนิดนี้ผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณขอบมหาสมุทรอาร์กติก

พอถึงฤดูหนาว (ของซีกโลกเหนือ) ก็จะบินอพยพย้ายถิ่นลงไปอาศัยหากินบริเวณทวีปแอนตาร์กติกา และบินกลับไปทางเหนือใหม่ในฤดูร้อน รวมระยะทางไปกลับไกลถึง 70,900 กิโลเมตร!

แต่หากคิดตลอดชีวิตซึ่งนกพันธุ์นี้บินไปกลับขั้วโลกเหนือ-ใต้ในช่วงโตเต็มวัยแล้ว ระยะทางจะพอๆ กับการเดินทางไปกลับโลก-ดวงจันทร์ราว 3 รอบเลยทีเดียว!

แล้วเส้นทางการเดินทางระหว่างขั้วโลกทั้งสองของนกพันธุ์นี้เป็นยังไง?

 

เพื่อตอบคำถามนี้ ทีมนักวิจัยหลายสัญชาติ นำโดย Carsten Egevang แห่งสถาบันทรัพยากรธรรมชาติกรีนแลนด์ (Greenland Institute of Natural Resources) ได้ติดอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋ว น้ำหนักเพียง 1.4 กรัม เรียกว่า จีโอโลเคเตอร์ (geolocator) เข้ากับนกนางนวลแกลบขั้วโลกจำนวน 11 ตัว

อุปกรณ์ที่ว่านี้ทำหน้าที่บันทึกความเข้มของแสงเป็นระยะ ซึ่งข้อมูลนี้สามารถนำมาคำนวณหาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ได้สองตำแหน่งในแต่ละวัน ผลการศึกษาเผยแพร่ในบทความชื่อ Tracking of Arctic terns Sterna paradisaea reveals longest animal migration ตีพิมพ์ใน U.S. journal PNAS (Proceedings of the National Academy of Sciences)

มหากาพย์แห่งการเดินทางเริ่มต้นขึ้นดังนี้ ราวเดือนสิงหาคมหรือกันยายน นกนางนวลแกลบขั้วโลกจะบินออกจากกรีนแลนด์ ไปแวะพัก “เติมพลัง” กลางมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ห่างจากหมู่เกาะอะซอร์ส (Azores) ไปทางเหนือราว 1,000 กิโลเมตร พวกมันหม่ำปลาและซูแพลงค์ตอนเป็นอาหารอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมเดินทางไกลแสนไกล

แง่มุมน่าสนใจยิ่งก็คือ บริเวณดังกล่าวเป็นจุดสุดท้ายที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ก่อนที่พวกมันจะบินเข้าสู่เขตเหนือน่านน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อยกว่า

เปรียบไปก็คล้ายๆ กับป้ายที่บอกว่า “ปั๊มน้ำมันสุดท้ายก่อนขึ้นภูเขา” อะไรทำนองนั้น เรื่องนี้ทำให้นึกถึงสำนวนไทยที่ว่า “นกรู้” นั่นเลย!

พอเติมพลังกันเต็มที่ บรรดานกทั้งหลายก็บินลงใต้ แต่พอถึงหมู่เกาะเคปเวิร์ด (Cape Verde Islands) หรือประเทศการ์บูร์เวดี ก็มีแง่มุมชวนฉงนยิ่งนัก

อุปกรณ์จีโอโลเคเตอร์เทียบขนาดกับไม้ขีดไฟ (ซ้าย) และ
หัวหน้าทีมวิจัย Carsten Egevang แสดงอุปกรณ์จีโอโลเคเตอร์ชิ้นแรกที่นำกลับมาศึกษาข้อมูลได้ (ขวา)

ทั้งนี้เพราะนกราวครึ่งหนึ่งเลือกเส้นทางที่ 1 บินเลาะเลียบชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกามุ่งลงใต้ ในขณะที่นกอีกครึ่งหนึ่งเลือกเส้นทางที่ 2 บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางทวีปอเมริกาใต้ และบินเลาะเลียบชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้มุ่งลงใต้

แต่ไม่ว่าจะเลือกเส้นทาง 1 หรือ 2 ก็มีจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่เดียวกันคือ ทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) บนชายฝั่งของทวีปแอนตาร์ติกา

นกนางนวลแกลบขั้วโลกจะอาศัยอยู่แถบขั้วโลกใต้ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน (รวมระยะเวลานาน 4-5 เดือน) จากนั้นก็จะมุ่งหน้ากลับสู่ขั้วโลกเหนือ

แต่เส้นทางกลับขึ้นไปไม่ได้ย้อนรอยเส้นทางขาลงมา เพราะคราวนี้นกทั้งหมดจะใช้เส้นเป็นรูปคล้ายตัว S กล่าวคือ เส้นทางเป็นแนวโค้งทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ และเป็นแนวโค้งตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ

หมู่เกาะเคปเวิร์ด
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Geography_of_Cape_Verde

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหล่านกทั้งหลายใช้รูปแบบลมแน่ทิศ (prevailing winds) ในแต่ละบริเวณเพื่อให้ตัวเองใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น ตอกย้ำความเป็น “นกรู้” อย่างน่าทึ่งอีกครั้ง!

ชมคลิปเรื่อง Arctic Tern Migration Google Earth Tour Video ที่ https://www.youtube.com/watch?v=bte7MCSBZvo หรือ สแกน QR Code ที่ให้ไว้ได้ครับ

สำหรับนกตัวเล็กๆ เหล่านี้ วิถีชีวิตที่เล่ามาคงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกมัน แต่หากมองภาพใหญ่ พวกมันได้เชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าด้วยกันไว้อย่างน่าทึ่งไม่น้อยเลยนะครับ!

แผนภาพอย่างง่ายแสดงเส้นทางการอพยพของนกนางนวลแกลบขั้วโลก
(วันที่และเดือนที่ระบุไว้ ณ แต่ละตำแหน่งเป็นช่วงเวลาโดยประมาณ)
ที่มา: http://www.arctictern.info/carsten/images/highres/tern_migration_month.jpg

คลิปเรื่อง Arctic Tern Migration Google Earth Tour Video