ส่องโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ห้ำหั่นนโยบาย ‘สายเปย์’ สู้ศึกบริโภคเฉา-ลามท่องเที่ยววูบ

บทความเศรษฐกิจ

 

ส่องโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

ห้ำหั่นนโยบาย ‘สายเปย์’

สู้ศึกบริโภคเฉา-ลามท่องเที่ยววูบ

 

จากนี้ 2 สัปดาห์เศษ การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็จะเกิดขึ้น ประกอบกับเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะชี้ชะตาเก่าไป ใหม่มา หรือเก่ายังเหนียว ดังนั้น ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง เราจะเห็นทุกพรรคการเมือง ต่างงัดนโยบายออกมาสู้กันแบบสุดฤทธิ์สุดเดช ฟาดฟันดุเดือดอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนนโยบายใดจะดลใจประชาชน ก็จะชี้ขาดด้วยคะแนนเลือกตั้ง!!

ย้อนดูโจทย์ของปัญหาต้นทาง ที่กำลังสร้างความกังวลไปทั่ว และเกิดเสียงสะท้อนของทุกฝ่าย จี้รายวันให้รื้อโครงสร้างที่เป็นต้นเหตุก่อภาระและต้นทุนพุ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาจากปัจจัยสาธารณะ ทั้งปัจจัยอากาศร้อนส่งผลบิลค่าไฟค่าเอฟทีแพงตาม ค่าน้ำประปาจ่อปรับตาม ราคาน้ำมันทรงตัวสูง แนวโน้มการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ

ตอนนี้จึงได้ยินเสียงโอดครวญจากทุกฝ่าย

 

ภาคบริการอย่าง “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า สถานการณ์ค่าไฟฟ้าในตอนนี้ถือว่าปรับขึ้นมาสูงมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ จากการสอบถามร้านอาหารแห่งหนึ่งพบว่า ค่าไฟฟ้าเดือนล่าสุดปรับขึ้นมาเป็น 1.7-1.8 ล้านบาท จากเดิม 1.1-1.2 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากว่า 70% แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถปรับราคาขายขึ้นตามได้ทันที ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องเข้าไปอยู่ในการบริหารจัดการแทน ทำให้ค่าไฟที่แพงขึ้นส่งผลกระทบทั้งต่อธุรกิจ ที่มีต้นทุนมากขึ้น รายได้น้อยลง กำไรลดลง รวมถึงกระทบกับผู้บริโภคในส่วนของการจ่ายเท่าเดิม แต่ปริมาณที่ได้รับลดลง หรืออาจต้องจ่ายแพงขึ้นด้วย

ฐนิวรรณเสริมอีกว่า การปรับตัวของธุรกิจร้านอาหาร หรืออย่างภัตตาคาร ก็จะไม่เพิ่มกำลังคน หรือพนักงานในการทำงานมากขึ้น เพราะแรงงาน 1 อัตรา ถือเป็นต้นทุนที่สูงมากในแง่ของภาคธุรกิจ ซึ่งหากมองในอดีตก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด หรือช่วงที่เศรษฐกิจดีๆ เราจะเห็นการจ้างงานเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองการใช้จ่ายและความต้องการได้รับบริการในภาคธุรกิจบริการจำนวนมาก โดยตอนนี้เราอาจเห็นธุรกิจที่มีกำลังในด้านเงินทุน หันไปใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือเทคโนโลยีแทนการจ้างแรงงานมนุษย์มากกว่าเดิม

ทำให้ภาคการบริโภคเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านเทศกาลการใช้จ่ายหนักๆ มาอย่างสงกรานต์ เข้าสู่เดือนพฤษภาคม ที่ถือเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ซึ่งปกติแล้วจะถือเป็นเดือนที่มีความพิเศษหลายอย่าง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

 

ภาคท่องเที่ยวอย่าง “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ เริ่มเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ของตลาดไทยเที่ยวไทยแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงเด็กนักเรียนปิดเทอม และใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งตามธรรมชาติคนไทยมักไม่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่มีฝน ทำให้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะชะลอตัวลง โดยมองว่าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จะต้องจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น เพื่อให้มีเงินสะพัดช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม

อุปสรรคของภาคการท่องเที่ยว ตอนนี้อยากให้มีการเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาตั๋วเครื่องบินมีราคาแพงด้วย เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะตลาดระยะไกล ต้นทุนสำคัญจะอยู่ที่ราคาตั๋วเครื่องบินเป็นหลัก เมื่อตั๋วแพง การเดินทางเที่ยวแบบระยะไกลก็จะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร

เมื่อการบริโภคชะลอตัวพร้อมกับภาคการท่องเที่ยว ความกังวลจึงลามไปถึงหนี้ครัวเรือนด้วย เพราะรายได้ของประชาชนที่นอกจากจะไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นช้าแล้ว ยังต้องลดลงอีก

 

ภาคการเงิน “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวที่ 3.6% และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2566 จะขยายตัวที่ 4.3% มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 16 ล้านคน และทั้งปีคาดว่าจะเข้าไทยถึง 28 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 2.6 ล้านคน เป็นโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ขณะที่การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกที่ 4.2%

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน แม้จะปรับตัวลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 86.9% ขณะที่เงินทุนสำรองของไทย ณ เดือน เมษายน 2566 อยู่ที่ 252,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูงถือเป็นปัจจัยถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง โดยระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมองว่าไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับในฝั่งของเจ้าหนี้อย่างสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะไม่ลุกลามไปเป็นปัญหาของระบบการเงินอย่างแน่นอน

ซึ่งยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเติบโตได้น้อยกว่าที่ควรเป็น

 

ขณะที่ ” สุจิต ชัยวิชญชาติ ” ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุถึงภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันถึงอนาคตว่า ฝ่ายวิจัยกรุงศรีฯ ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจโลกในระยะนี้จะได้แรงสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีน และการขยายตัวของภาคบริการในหลายประเทศ แต่เศรษฐกิจและการค้าโลกในภาพรวม มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) โดยสัญญาณเชิงลบล่าสุดมาจากตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตของหลายประเทศที่อ่อนแอในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นความเสี่ยงที่ยังรออยู่อีกมากมาย

เศรษฐกิจไตรมาสแรกได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 6.46 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 2.56 แสนล้านบาท

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 56.8% ด้านนักท่องเที่ยวยุโรปมีสัดส่วน 26.5% และที่เหลืออื่นๆ (อาทิ อินเดีย สหรัฐ ออสเตรเลีย อิสราเอล แคนาดา และซาอุดีอาระเบีย) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยสูงสุด 5 อันดับแรกในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ได้แก่ มาเลเซีย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย

ข้อมูลวิจัยกรุงศรีฯ ระบุอีกว่า กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลายลง และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 11 เท่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลรายสัปดาห์ล่าสุด (27 มีนาคม ถึง 2 เมษายน 2566 ) รายงานนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนสูงสูดเป็นอันดับหนึ่ง อยู่ที่ 68,177 คน

แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มเติบโตต่ำ (น้อยกว่า 3%) ปัจจัยลบจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวในไตรมาส 1-2/2566 ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ซึ่งล่าสุดดัชนีภาคการผลิตของทั้งสหรัฐและยูโรโซนเข้าสู่ภาวะหดตัวต่อเนื่อง

วิจัยกรุงศรีฯ ประเมินมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาด 3-4 เดือน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่า 2%

สะท้อนว่าเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปีอาจจะต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 2.4% นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตล่าสุดเดือนมีนาคม หดตัวที่ 1.7% ชี้ถึงแรงกดด้านต้นทุนที่ปรับลดลงอีก

จากสถานการณ์ที่ประเดประดังเข้ามาพร้อมกันอย่างที่หลายฝ่ายสะท้อนมานั้น ปลดล็อกได้เร็วและแค่ไหน คงต้องมาลุ้นฝีมือรัฐบาลใหม่