เทศกาลประชานิยม โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง

เดือนเมษายนปีนี้ช่างร้อนระอุกว่าปีไหนๆ ร้อนจนต้องร้องขอชีวิต ร้อนจนอยากออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ทุกวัน อยู่บ้านหากไม่เปิดแอร์ เปิดพัดลม เหงื่อคงชุ่มจนนึกว่าไปเล่นสงกรานต์มา แยกไม่ออกเลยว่าเปียกชุ่มจากอากาศร้อนหรือเล่นน้ำมา

ครั้นจะเปิดพัดลม เปิดแอร์ พอได้เห็นบิลเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าเดือนมีนาคมที่เรียกเก็บเงินช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่างกายก็หนาววาบขึ้นมาทันที

เจอค่าไฟแพงแบบนี้ยอมทนร้อนต่อก็ได้

ช่วงเมษายน นอกจากสภาพอากาศร้อนเร่าเป็นประจำทุกปีแล้ว ปีนี้พิเศษกว่าทุกปีเนื่องจากการเมืองอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งก็ร้อนรนไม่แพ้กัน

ผู้ชมทางบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ น่าจะได้รับชมรับฟังนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองมาไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะพรรคการเมืองเยอะแยะไปหมดจนจำชื่อกันไม่ไหว

เป็นธรรมชาติของการหาเสียงในช่วงเลือกตั้งที่ทุกพรรคการเมืองจะนำเสนอนโยบายแก่ประชาชน

ซึ่งนโยบายที่เป็นหัวใจสำคัญและเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงเรียกความสนใจจากพี่น้องประชาชน คงหนีไม่พ้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุกพรรคพร้อมใจกันประเคนให้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้งนี้

และมีการทบทวนนโยบาย ปรับเปลี่ยนแปลงโฉม และเตรียมความพร้อมเปิดตัวนโยบายในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันลงคะแนนเสียงครั้งนี้

 

หากมองการเลือกตั้งเป็น ตลาด ในทางเศรษฐศาสตร์ พรรคแต่ละพรรคเปรียบเสมือน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการที่ต้องขายนโยบายของตนเองจึงเปรียบเสมือน ผู้ผลิต ในระบบ สร้าง อุปทาน (Supply) ให้แก่ประชาชน พ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกท่าน ในการเลือกซื้อเลือกช้อปปิ้งกัน

ส่วนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปรียบเสมือน ผู้บริโภค มี อุปสงค์ (Demand) สามารถเลือกหย่อนบัตรคะแนนเสียง ให้แก่ คนที่รักและพรรคที่ชอบ หรือ ผู้ผลิตในระบบที่ตนเองคิดว่ามีประโยชน์ต่อตนเองสูงสุด มีสินค้าตรงตามความต้องการของตนมากที่สุด

พอเห็นภาพไหมครับว่า พรรคแต่ละพรรคจึงต้องแข่งขันกันทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนไว้วางใจยอมมอบคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมือง

เมื่อมีการแข่งขันกันในระดับสูง ประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน

ส่วนพรรคแต่ละพรรคในฐานะผู้ผลิตก็ต้องทำงานทำการบ้านอย่างหนัก จะหวังพึ่งบุญเก่าเหมือนสมัยที่เคยผูกขาดอำนาจ คงเป็นไปได้ยากมากๆ ในปัจจุบัน

 

พอมีการพูดคุยถกเถียงกันเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ กลิ่นความเจริญก็ลอยมาแต่ไกล ทั้งที่ 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนอย่างเราๆ ไม่อาจเอื้อมคิดถึงความเจริญได้เลย ก้มหน้ายอมรับชะตากรรมกินข้าวคลุกน้ำปลากันไป

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทุกพรรค ออกมาในทิศทางเดียวกันหมด คือ ลด แลก แจก แถม เพราะแต่ละพรรคสามารถดำเนินนโยบายได้โดยไม่มี “ต้นทุน”

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีอะไรให้เสีย จึงเกิดปรากฏการณ์ เกทับ วนเวียนกันไม่จบไม่สิ้น สุดท้าย “ต้นทุน” อยู่ที่ประชาชนผู้เสียภาษีทุกท่านเองมิใช่ใครอื่น

เมื่อกล่าวถึงเทศกาลเลือกตั้ง 4 ปีมีครั้ง ยาวนานกว่าเทศกาลกินทุเรียนที่เราได้กินทุกปี เราในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงควรต่อรองให้มากที่สุดเพราะเทศกาลนี้มีระยะเวลาเพียง 45-60 วัน หลังจากนั้นต้องรออีก 4 ปี จึงจะได้สัมผัสกลิ่นความเจริญอีกครั้งหนึ่ง

นักการเมืองเป็นอาชีพหนึ่งที่มีทักษะพิเศษคือเป็นนักเลือกตั้ง เขาเหล่านั้นจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชนะเลือกตั้งและอยู่ให้ครบวาระ 4 ปี จนบางครั้งอาจจะลืมเรื่องราวหลังจาก 4 ปีว่าภาระและหนี้สาธารณะจะบริหารจัดการอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ นโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาโฆษณาจึงเป็นเพียงนโยบายประชานิยมที่มุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเพียงในวาระ 4 ปีเท่านั้น

แต่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในรอบต่อไป เพราะมุ่งเน้นการลด แลก แจก แถม เพื่อการใช้จ่ายด้านการบริโภคเท่านั้น ซึ่งได้ผลดีในระยะสั้นแน่นอน แต่ในระยะยาวประเทศจะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลยจากนโยบาย ลด แลก แจก แถม เหล่านี้

หากทำแต่พอเหมาะพอควร เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เราไม่ว่ากันครับ

แต่หากทำเกินพอดีประเทศชาติจะขาดโอกาสในการพัฒนาะในระยะยาว

ขาดเงินทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น ถนนหนทาง รางรถไฟ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบสาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภค

ทุกอย่างที่กล่าวมาจะเหมือนเดิมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเราต้องเอาอนาคตเหล่านี้ไปแลก หรือ trade-off กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแทน

 

ทฤษฎีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามหลักวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น เซอร์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ บิดาของหลักเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบเคนส์ เคยนำเสนอแก่ประเทศอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

คือ การตั้งงบประมาณลงทุนของภาครัฐเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ หรือ Infrastructure เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ลดต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้แก่ภาคเอกชน รวมถึงการใช้วัตถุดิบสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากประเทศเมืองขึ้น นำมาผลิตสินค้าที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่สูงกว่า พร้อมทั้งขายสินค้าที่ผลิตเหล่านั้นในตลาดประเทศเมืองขึ้นเป็นที่ระบายสินค้าดังกล่าว (หากประเทศอยากร่ำรวยต้องค้าขายให้เก่ง รัฐบาลจะได้มีเงินไปบริหารประเทศไม่ใช่เก็บภาษี)

ปัจจุบันเลิกระบบอาณานิยมไปแล้ว แต่หลักการที่เซอร์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นำเสนอ ยังคงได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจึงควรออกแบบสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

โดยในระยะยาวต้องคำนึงถึงการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้าในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การขนส่ง การส่งออก และการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ

โครงการพัฒนาประเทศ 2 ล้านล้านบาท หรือ 3 ล้านล้านบาท จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ท้ายที่สุดในวันหนึ่งก็ต้องทำอยู่ดี

แต่หากมองในมุมกลับกัน โครงการ “ลด แลก แจก แถม” วันนี้เจ้าของนโยบายชนะการเลือกตั้ง เศรษฐกิจดีขึ้นในระยะสั้น

แต่ในระยะยาวประเทศจะล้าหลังหมดโอกาสในการแข่งขันบนเวทีโลก

 

ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ ก็คือ ปัญหาการตัดสินใจเลือกอย่างหนึ่ง และไม่เลือกอีกอย่างหนึ่ง (หรือหลายอย่าง) ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้ผลลัพธ์มีประสิทธิภาพสูงสุด

การเลือกนั้นต้องเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) กล่าวคือ ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป

เพราะแม้จะเลือกนโยบายได้ถูกต้องหากมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ผลลัพธ์ย่อมไม่ดีที่สุด กลายเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องได้เช่นกัน

อาชีพนักการเมืองต้องหาเสียง อาชีพนักเขียนอย่างกระผมต้องวิพากษ์วิจารณ์ไปตามหน้าที่

ขอได้โปรดอย่าโกรธกันเลย