เทคโนโลยี เพิ่มดีกรีความโรแมนติก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

เทคโนโลยี

เพิ่มดีกรีความโรแมนติก

 

แหวนแต่งงานเป็นสิ่งที่คู่แต่งงานแลกเปลี่ยนกันสวมใส่เพื่อเตือนให้ระลึกถึงความรักและการอุทิศตนให้แก่กัน

เมื่อเราเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีที่ทุกข้อมูลสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้ตลอดเวลาก็ไม่มีอะไรมาจำกัดอีกต่อไปว่าแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงานจะต้องทำมาจากเพชร ทอง หรือทองคำขาว

แต่เราสามารถแลกแหวนแต่งงานที่เป็นเทคโนโลยีสวมใส่ได้เพื่อให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับคนรักของเราเสมือนได้ยินเสียงหัวใจเขาเต้นเป็นหนึ่งเดียวกับหัวใจเรา

เราอาจจะคุ้นเคยกับสมาร์ตวอตช์ที่สวมใส่เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพกันดีอยู่แล้ว แต่แวร์เอเบิลอีกประเภทที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมียอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 21 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็คือ สมาร์ตริง

แหวนที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ตโฟนและช่วยเก็บข้อมูลสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็นของผู้สวมใส่ได้

สมาร์ตริงโดยทั่วไปจะมาพร้อมกับเซ็นเซอร์ที่ช่วยวัดค่าด้านสุขภาพ อย่างเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจน ระดับความเครียด ข้อมูลการเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย การนอนหลับ

และยังช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเช่นการใช้แตะเพื่อจ่ายเงินด้วยเทคโนโลยี NFC

ข้อดีของมันก็คือขนาดที่กะทัดรัด น้ำหนักเบา และไม่ดูเทคโนโลยีจ๋าจนเกินไป

นอกจากความสามารถด้านสุขภาพและการช่วยจ่ายเงินแบบไร้สัมผัสแล้ว ก็ยังมีสมาร์ตริงที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความโรแมนติกระหว่างคู่รัก กระชับสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิม

ทำให้สมาร์ตริงถูกนำมาใช้ทดแทนแหวนแต่งงานในแบบดั้งเดิมมากขึ้น

บทความของ BBC พูดถึงคู่รักคู่หนึ่งที่ตัดสินใจสวมแหวนแต่งงานเป็นสมาร์ตริง แหวนแต่ละวงจะเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนผ่านทางบลูทูธ

และคู่รักก็สามารถจับคู่แหวนของตัวเองเข้าหากันได้

ฟีเจอร์ที่แสนจะโรแมนติกของแหวนวงนี้ก็คือเมื่อคนใดคนหนึ่งกดลงไปบนแหวน แหวนทั้งสองวงที่ถูกเชื่อมเข้าหากันจะสั่นเป็นจังหวะเดียวกับเสียงหัวใจของคนที่กด และจะมีเส้นสีแดงเล็กๆ แสดงการเต้นของหัวใจปรากฏขึ้นมา

เรียกได้ว่าได้ยินเสียงหัวใจคนรักแบบเรียลไทม์ได้ตลอดเวลาตราบใดที่สมาร์ตโฟนของทั้งสองคนเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอยู่

ฉันจำได้ว่า Apple เองก็เคยทำอะไรคล้ายๆ กันแบบนี้ด้วยฟีเจอร์ที่ผู้สวมใส่ Apple Watch สามารถส่งจังหวะหัวใจของตัวเองไปให้คนอื่นได้เพียงแค่กดปุ่มไอคอนบนหน้าจอนาฬิกาแล้ววางนิ้วสองนิ้วลงไปบนหน้าจอ ถึงกราฟิกหัวใจสีแดงเต้นตุบๆ จะน่ารักดี

แต่ตัวฉันเองก็ทดลองเล่นหนึ่งครั้งแล้วก็ลืมฟีเจอร์นี้ไปเสียสนิท อาจจะเพราะรู้สึกว่ามันก็คือการส่งเมสเสจชนิดหนึ่งที่อาจจะไปรบกวนผู้รับให้ต้องยกนาฬิกาขึ้นมาดู

พอได้มาเห็นว่าสมาร์ตริงสามารถส่งจังหวะเต้นของหัวใจให้ไปสั่นอยู่ที่นิ้วของคนรักได้ฉันกลับรู้สึกว่าน่าสนใจไม่เบา

ฉันมีนิสัยชอบจับและกดแหวนแต่งงานอยู่แล้วโดยเฉพาะเวลาใช้ความคิดหรือรู้สึกประหม่า อย่างเช่น เวลาก่อนจะเดินขึ้นเวที หรือต้องถ่ายทำอะไรสักอย่าง

ฉันว่ามันก็คงจะโรแมนติกดีนะถ้าหากว่าฉันจะสามารถแตะแหวนเพื่อให้มันส่งจังหวะหัวใจที่เต้นเร็วตุบๆๆ ไปให้คนรักเพื่อให้เขารู้ว่าฉันกำลังตื่นเต้นมากๆ แล้วให้เขาส่งจังหวะหัวใจปกติของเขากลับคืนมา

มันก็น่าจะเป็นอะไรที่ถ้าได้สัมผัสแล้วคงช่วยให้หัวใจของเราเต้นช้าลงและเรียกสติกลับคืนมาได้ดีขึ้น

 

BBC ยังเล่าอีกว่า ตอนนี้คู่รักยุคใหม่หันมาใช้เทคโนโลยีในการจัดงานแต่งงานกันมากขึ้น เพราะไหนๆ เราทุกคนก็อยู่กับสมาร์ตโฟนกันจนแทบแกะแทบแงะไม่ออกแล้ว แถมบางคู่ก็ยังพบรักกันจีบกันอยู่บนสมาร์ตโฟนมาตั้งแต่แรกด้วย

คู่รักหลายคู่เลือกตัดลดการพิมพ์การ์ดเชิญแต่งงานให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ อย่างการ์ดเชิญที่จะต้องไปมอบให้ผู้ใหญ่ด้วยตัวเอง ส่วนที่เหลือก็ส่งเป็นการ์ดเชิญอิเล็กทรอนิกส์แทนทั้งหมด ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

อีกหนึ่งอย่างที่ฉันคิดว่าเป็นไอเดียที่เจ๋งดีก็คือการที่คู่แต่งงานให้ AI ช่วยแนะนำการเขียนคำสาบานตนหรือช่วยเขียนสุนทรพจน์ที่ต้องพูดในงานแต่งงานให้

ซึ่งสำหรับหลายๆ คนแล้วนี่เป็นภารกิจที่ยากยิ่งกว่าการจัดงานแต่งงานทั้งงานอีก

 

เว็บไซต์อย่าง Joy ใช้พลังของ AI มาช่วยเขียนสารพัดงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงานให้ เราสามารถเลือกได้ว่าจะเขียนคำสาบานตน คำอวยพรงานแต่ง ไอเดียสำหรับแฮชแท็กงานแต่ง การ์ดขอบคุณสำหรับของขวัญงานแต่ง หรือเขียนปฏิเสธการเข้าร่วมงานแต่งงานอย่างสุภาพ โดยที่ผู้ใช้งานสามารถป้อนข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไป อย่างเช่น เขียนให้ใคร อยากเล่าเรื่องอะไรเป็นพิเศษ และให้เขียนสไตล์ไหน เพื่อให้ AI ร่างบทออกมาให้สมจริงและเหมาะกับสถานการณ์ที่สุด

ฉันลองให้ Joy เขียนคำอวยพรงานแต่งของเพื่อนให้แบบไม่คาดหวังอะไรมากมาย ปรากฏว่ามันเขียนได้ดีกว่าความคาดหวัง ภาษาที่ใช้สละสลวย เล่าเรื่องราวน่าประทับใจได้ราวกับมันสวมวิญญาณมาเป็นฉัน (แม้ว่าบางเรื่อง AI จะนั่งเทียนเขียนขึ้นมาล้วนๆ ก็ตาม)

จากประสบการณ์การเขียนคำสาบานตนในงานแต่งตัวเอง หรือการเขียนบทเพื่อขึ้นพูดอวยพรคู่แต่งงาน ฉันคิดว่าแม้เราจะมีเครื่องมืออย่าง AI มาช่วยเขียนให้ แต่เราก็คงไม่ได้หยิบทุกคำที่ AI เขียนมาใช้ทั้งหมด

สิ่งที่ฉันต้องการสำหรับงานเขียนที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษรแบบนี้ก็คือการได้ไอเดียมาเป็นแนวทางว่าควรจะขึ้นต้นและลงท้ายอย่างไรมากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ AI สามารถตอบโจทย์ได้แบบไม่ทำให้ผิดหวัง

ไม่ว่าจะเป็นแหวนแต่งงานแบบสมาร์ตริงหรือ AI ที่ช่วยเขียนคำสาบานตนที่ซาบซึ้งชวนหลั่งน้ำตา เทคโนโลยีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่าสามารถใช้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเราและคนที่เรารักให้แน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิมได้

โดยที่ยังรักษารูปแบบดั้งเดิมที่หลายๆ คนให้ความสำคัญเอาไว้ได้แบบไม่ตกหล่นด้วย