BANGKOK UTOPIA : มุมมองใหม่ต่อการออกแบบเมืองกรุงเทพฯ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

BANGKOK UTOPIA

: มุมมองใหม่ต่อการออกแบบเมืองกรุงเทพฯ

ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่

 

แนวคิดว่าด้วยการสร้าง “เมืองในอุดมคติ” (Utopian City) ที่จำลองสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาให้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นโลกนั้น เป็นวิธีการเก่าแก่ที่ชนชั้นนำไทยใช้ในการออกแบบวางผังเมือง และสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ มาตลอดหลายร้อยปี

ในวงวิชาการไทยศึกษา ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา มีงานศึกษาในประเด็นนี้มากมาย (ไม่ขอกล่าวในรายละเอียดนะครับ) แต่ในจำนวนงานศึกษาเหล่านั้น แทบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการศึกษาอุดมคติในการออกแบบวางผังเมืองใน “ยุคก่อนสมัยใหม่”

ส่วนงานศึกษาการออกแบบวางผังเมือง “ยุคสมัยใหม่” ของสังคมไทย งานกระแสหลักก็กลับมีแนวโน้มอธิบายการออกแบบว่ามุ่งเน้นพัฒนาไปตามแนวทางอย่างโลกตะวันตกอย่างสิ้นเชิง จนเสมือนว่าการออกแบบผังเมืองยุคสมัยใหม่ของไทยนั้น ละทิ้งแนวคิดว่าด้วยการสร้างเมืองในอุดมคติตามแบบจารีตไปจนหมดสิ้น

แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยจะสามารถละทิ้งความคิด ความเชื่อ และอุดมคติโบราณในการสร้างเมืองได้ทั้งหมดจริงหรือ?

โดยส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะการรับแนวทางทางพัฒนาแบบตะวันตกของสังคมไทยนั้นไม่เคยและไม่มีทางที่จะเป็นไปโดยปราศจากการปะทะ การต่อรอง การปรับเปลี่ยน และ การผสมผสาน ระหว่างความคิดสมัยใหม่และความคิดอันเป็นรากฐานดั้งเดิมของสังคม

แม้จะมีความเชื่อเช่นนี้มายาวนาน แต่ก็ไม่มีโอกาสศึกษาและพิสูจน์ด้วยตัวเองแต่อย่างใด

จนเมื่อได้มีโอกาสอ่านหนังสือ BANGKOK UTOPIA : MODERN ARCHITECTURE AND BUDDHIST FELICITIES, 1910-1973 เขียนโดย Lawrence Chua (อาจารย์ประจำที่ School of Architecture มหาวิทยาลัย Syracuse สหรัฐอเมริกา) ก็รู้สึกเหมือนว่าได้พบคำอธิบายที่เข้ามาเติมเต็มความค้างคาใจของตนเอง (แม้จะไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม)

หนังสือเล่มนี้ นำเสนอการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง บนฐานข้อมูลที่หลากหลาย ภายใต้การตีความที่น่าคิดและน่าทึ่ง ส่วนข้อเสนอจะน่าคล้อยตามแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ

หนังสือสามารถสร้างคำอธิบายใหม่ต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบวางผังเมืองของสังคมไทยในศตวรรษที่ 20 ว่าเกิดขึ้นอย่างมีลักษณะที่เป็น “ลูกผสม” (hybrid)

เป็นลูกผสมระหว่างแนวทางการพัฒนาทางสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ที่นำเข้ามาจากยุโรปและอเมริกา ผ่านสถาปนิก นักผังเมือง และชนชั้นนำไทยหัวก้าวหน้า

กับอุดมคติทางสังคมแบบจารีตบางประการที่หยั่งรากลึก บนฐานความคิดที่ยึดโยงกับพุทธศาสนาและการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นลำดับชั้นตามบาปบุญที่แต่ละคนสร้างมาในอดีตชาติ

BANGKOK UTOPIA เนื้อหาถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก (โดยจะแบ่งเป็นบทย่อย 9 บท) โดยเรียบเรียงอย่างเป็นระบบเข้าใจง่าย

ตั้งแต่การสร้างเมืองกรุงเทพฯ เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมาตามความเชื่อโบราณที่เชื่อมโยงกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

จนถึงการเปลี่ยนแปลงกายภาพของเมืองครั้งใหญ่ในต้นศตวรรษที่ 20 ภายใต้แนวคิดหลักที่ต้องการสร้างกรุงเทพฯ ให้ “ศิวิไลซ์” ตามอย่างเมืองใหญ่ๆ ของประเทศมหาอำนาจในยุโรปบนฐานอุดมการณ์ชาตินิยม (ผู้เขียนใช้คำว่า “Utopian Nationalism) ที่ยังยึดโยงอยู่กับรากฐานความเชื่อโบราณว่าด้วย “มหานครนิพพาน” (The city of Nibbana) ตามหลักคิดพุทธศาสนา

เรื่อยมาจนถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ที่การวางผังเมืองและรูปแบบสถาปัตยกรรมได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ใหม่ ที่มิใช่เป็นเพียงแค่การสร้างความทันสมัยแบบสากล แต่ยังเป็นไปเพื่อนำเสนอ “ความเป็นไทย” ในรูปแบบใหม่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้าง “ยุคพระศรีอาริย์” (The age of Sri Ariya หรือ the age of Maitreya) ให้เกิดขึ้น

เนื้อหาสุดท้ายของหนังสือ อธิบายจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในบริบทสงครามเย็นที่มีอุดมการณ์แบบโลกเสรีประชาธิปไตยบนการชี้นำของสหรัฐอเมริกาเป็นอุดมการณ์หลักของสังคมไทย ซึ่งส่งผลมหาศาลต่อทิศทางการพัฒนาเมืองและสถาปัตยกรรมของไทยอีกครั้ง

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ทิศทางการพัฒนาเมืองและสถาปัตยกรรมไปสู่สิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่าเป็น “modern vimana” หรือสรวงสวรรค์แห่งความสุขในโลกสมัยใหม่ บนฐานของเศรษฐกิจแบบ ตลาดเสรี การท่องเที่ยว และ กระแสบริโภคนิยม

 

ความน่าสนใจอีกประการของ BANGKOK UTOPIA คือ การวิเคราะห์การออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรมใน “ดุสิตธานี” เมืองจำลองของเล่นของกษัตริย์วชิราวุธ บนฐานแนวคิดแบบ Queer Studies ที่ช่วยสร้างความเข้าใจในอีกแง่มุมหนึ่งที่มีต่อเมืองในอุดมคติแห่งนี้ของรัชกาลที่ 6 ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งงานศึกษาที่ผ่านมา ไม่เคยมีการวิเคราะห์การออกแบบ “ดุสิตธานี” ในแนวทางนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ความพยายามอธิบายการวางผังเมืองและออกแบบสถาปัตยกรรมในลักษณะลูกผสม ของ BANGKOK UTOPIA จะนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ

แต่กระนั้นก็มีบางประเด็นที่ผมคิดว่าข้อเสนอในหนังสือยังไม่สามารถชี้นำให้เชื่อในข้อเสนอได้มากนัก

โดยเฉพาะการเลือกใช้คำเฉพาะทางพุทธศาสนา เช่น “นิพพาน” และ “วิมาน” ซึ่งทั้งสองคำ หากเราพิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏ เราจะแทบไม่พบการอ้างอิงที่สามารถยืนยันอย่างชัดเจนได้เลยว่า แนวคิดในการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมในยุคสมัยใหม่ของไทยจะย้อนกลับไปใช้แนวความคิดดังกล่าว

แม้เราจะพบการใช้คำศัพท์บางคำที่ดูเสมือนว่าเชื่อมโยงกับแนวคิดนี้

แต่ถ้าเราอ่านอย่างละเอียดก็จะพบว่า การใช้คำเหล่านั้น เป็นเพียงความต้องการที่จะใช้คำศัพท์เดิมที่มีความหมายดีๆ เท่านั้น โดยมิได้ต้องการเชื่อมโยงในทางความหมาย ที่ย้อนกลับไปสู่ความหมายในคัมภีร์ทางศาสนาเหล่านั้นแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดและอาจจะต้องวิเคราะห์ให้มากขึ้นหากต้องการจะให้ข้อเสนอมีความชัดเจนและน่าเชื่อถือ

 

อีกประเด็นคือ ในบทที่ 7 ผู้เขียนขาดการวิเคราะห์หลักฐานชิ้นสำคัญในยุคสมัยดังกล่าวที่จะช่วยเสริมข้อเสนอของหนังสือได้เป็นอย่างดี คือ เอกสารโครงการสร้างเมืองหลวงใหม่ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่สระบุรี ในช่วง พ.ศ.2484-2486

โครงการดังกล่าว ผมเคยเขียนไว้ในหลายที่แล้วว่า เป็นเมกะโปรเจ็กต์ทางผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่สำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยยุคสมัยใหม่ เป็นโครงการที่มีการวางผังเมืองใหม่ทั้งหมดอย่างสมบูรณ์แบบ บนเนื้อที่มากกว่า 400 ตร.ก.ม.

ด้วยรูปแบบผังเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิด The City Beautiful Movement ที่ผสมผสานกับความเชื่อโบราณของไทย โดยตั้งใจออกแบบเมืองโดยมีพระพุทธบาท สระบุรี (ศาสนาสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน) เป็นศูนย์กลางของเมืองหลวงใหม่

ซึ่งน่าเสียดายมากที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึงโครงการนี้เลย ทั้งๆ ที่โครงการนี้จะเข้ามาช่วยยืนยันข้อเสนอของหนังสือได้อย่างชัดเจน

 

ประเด็นสุดท้ายคือ ในบทที่ 8 ซึ่งว่าด้วยเมืองในยุคสงครามเย็นนั้น ผู้เขียนได้ละเลยกลุ่มงานสถาปัตยกรรมกลุ่มใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นอาคารราชการของรัฐในช่วงเวลาดังกล่าว ที่รู้จักกันในชื่อว่า “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์”

อาคารประเภทนี้ออกแบบวางผังการใช้งานตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่ออกแบบส่วนหลังคาด้วยการใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่อ้างอิงย้อนกลับไปสู่สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา รวมถึงใส่องค์ประกอบทางศิลปะไทยลงไปบนส่วนต่างๆ ของอาคารอย่างจงใจ เพื่อต้องการจะสื่อสารความหมายของความเป็นสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กับความเป็นไทย

การขาดหายไปซึ่งหลักฐานในกลุ่ม “สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์” ทำให้เนื้อหาในบทนี้ ในทัศนะส่วนตัว ไม่ครอบคลุมปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจริงในบริบทสงครามเย็นในสังคมไทย

และทำให้ข้อเสนอในบทนี้ลดพลังในการอธิบายลงไปอย่างน่าเสียดาย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ BANGKOK UTOPIA จะยังขาดการวิเคราะห์หลักฐานที่สำคัญในหลายส่วน แต่กระนั้น ก็มิได้ลดทอนความน่าสนใจของข้อเสนอในหนังสือแต่อย่างใด

หนังสือยังคงมีคุณค่าระดับสูงต่อวงวิชาการไทยศึกษา (รวมไปถึงวงวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่พยายามที่จะมองการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทย (ผ่านโครงการทางสถาปัตยกรรมและผังเมือง) ในรูปแบบที่เป็นการผสมผสานและต่อรองกันไปมาอยู่ตลอดเวลาระหว่างการนำเข้าแนวคิดจากภายนอกกับความพยายามที่จะรักษาแนวคิดดั้งเดิมบางอย่างของตนเองไว้ จนก่อเกิดเป็นลักษณะเฉพาะบางประการ

แนวทางที่หนังสือเล่มนี้ได้ริเริ่มเอาไว้ น่าเชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองของไทยใช้เป็นฐานในการต่อยอดทางความรู้ได้อีกมาก

และสามารถต่อยอดไปสู่การศึกษาการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ (ที่มีลักษณะเงื่อนไขทางสังคมที่คล้ายกัน) ด้วยเช่นเดียวกัน