หนุ่มเมืองจันท์ : ความเชื่อ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

…คนรุ่นก่อนเคยสอนว่าเวลาเจออะไรที่ไม่ชอบ ให้ “อดทน”

แต่วันนี้เด็กรุ่นใหม่ตั้งคำถาม

เมื่อเราไม่ชอบ

“ทำไมต้องทน”

แต่ละยุคสมัย มีหลักคิดที่แตกต่างกัน

ไม่มี “ผิด”

ไม่มี “ถูก”…

ผมโพสต์ข้อความนี้ลงในแฟนเพจด้วยความเชื่อเช่นนั้นจริงๆ

ไม่มีผิด-ไม่มีถูก

คนแต่ละยุคสมัยมีหลักคิดในการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน

นึกถึงสมัยก่อน รุ่นพ่อแม่ของเราที่เคยปากกัดตีนถีบ

บางคนมาจากโพ้นทะเล

คนรุ่นนี้ทำงานหนักมาก

เช้าจรดค่ำ

และไม่มีวันหยุด

ใครที่ค้าขายก็เปิดร้านทุกวัน

ถ้าท่านพุทธทาสบอกว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”

คนรุ่นพ่อแม่ก็คงปฏิบัติธรรมทุกวัน

ตอนที่รุ่นลูกทำงาน พอเห็นลูกมีวันหยุดก็สงสัยทำไมต้องหยุด

ทำไมต้องพักผ่อน

คงคิดในใจ “ทำไมไม่ปฏิบัติธรรม”

มายุคนี้คำถามคล้ายๆ กันก็เกิดขึ้น

“เด็กรุ่นใหม่” ส่วนใหญ่เปลี่ยนงานบ่อยมาก

ทำงานที่เดียวเกิน 2 ปี ถือว่าทำงานนานมาก

ไม่แปลกที่จะมีคำถามตามมาว่า “เด็กรุ่นใหม่” ไม่อดทน

เจอปัญหาก็หนี

ลาออก

เพราะคนรุ่นก่อนมีความเชื่อว่า ถ้าเจอปัญหา เราต้องอดทน

แต่ “เด็กรุ่นใหม่” กลับคิดอีกมุมหนึ่ง

เขาตั้งคำถามว่าถ้าเจอสิ่งที่เราไม่ชอบ

“ทำไมต้องอดทน”

ฟังตอนแรกก็อึ้งๆ

แต่คิดอีกทีก็จริงของเขา

ถ้าเขามีทางเลือก ทำไมเขาต้องทน

ในยุคก่อนที่เราต้องทน อาจเป็นเพราะเราไม่มีทางเลือกเยอะแบบเขาหรือเปล่า

แน่นอนว่าเมื่อมี “รายรับ” ก็ต้องมี “รายจ่าย”

เลือกที่จะ “ไม่ทน” เราจะไม่ทุกข์

แต่เราจะไม่ได้ “ความอดทน”

ดังนั้น เมื่อเจอปัญหาที่ไม่มีทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิม

บางทีเราก็จะทนไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อ “ความอดทน” ไม่ได้รับการฝึกฝน

แต่คนที่อดทนกับปัญหา

ช่วงนั้นเขาคงไม่มีความสุข

แต่เขาจะได้ฝึกความอดทน

ถ้าวันหนึ่ง เขาต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักกว่าเดิม

เขาก็จะสามารถฝ่าฟันไปได้

เพราะกล้ามเนื้อ “ความอดทน” เขารับไหว

ครับ คนแต่ละยุคสมัยก็มีวิถีของตัวเอง

อย่าเอา “ความสำเร็จ” ในอดีตมาตัดสิน “ปัจจุบัน”

ทางใคร-ทางมัน

ผมนึกถึงวันที่ได้สัมภาษณ์ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอนที่เชิญมาเป็นวิทยากรของ ABC

เขาเป็นนายกสมาคมฟินเทค

ลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพ

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใกล้เคียง ผมถามความเห็นของคุณกรณ์เกี่ยวกับเรื่องสตาร์ตอัพ

เพราะวิธีคิดของ “สตาร์ตอัพ” แตกต่างจากนักธุรกิจในอดีต

“สตาร์ตอัพ” พร้อมที่จะล้มเร็ว ลุกเร็ว กล้าทดลอง

เรื่องนี้ผมชอบ

แต่วิธีคิดเรื่องการปั้นธุรกิจขึ้นมา เผาเงินสร้างตลาด

และปลายทางคือการทำกำไรด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือขายกิจการให้รายใหญ่

Exit ออกจากธุรกิจเดิม

เอากำไรที่ได้ไปปั้นธุรกิจใหม่

หลักคิดแบบนี้ยังคาใจอยู่

คุณกรณ์บอกว่าเขาเติบโตมาจากวิธีคิดของการทำธุรกิจแบบเดิม ย่อมไม่อินกับวิธีคิดแบบสตาร์ตอัพ

แต่รู้ว่า “สตาร์ตอัพ” นั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

และบางธุรกิจก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทำลายล้างธุรกิจแบบเก่ายับเยิน

ในมุมหนึ่ง บางที “สตาร์ตอัพ” อาจจะถูกก็ได้

คุณกรณ์จึงลงทุนใน “สตาร์ตอัพ”

เป็นการกระจายความเสี่ยง

แต่วิธีคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงของเขาน่าสนใจมากครับ

เมื่อรู้ตัวว่าเขายังไม่เชื่อเต็มร้อยกับวิธีคิดแบบสตาร์ตอัพ

ถ้าไปลงทุนด้วยตัวเอง

เขาคงอดไม่ได้ที่จะใช้วิธีคิดแบบเดิมไปตัดสินสตาร์ตอัพ

“กรณ์” ใช้วิธีการลงทุนผ่านกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กครับ

คนบริหารคือ “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าพ่อสตาร์ตอัพเมืองไทย

กองทุนนี้ลงทุนโดย 500 สตาร์ตอัพจากซิลิคอนวัลเล่ย์

“เราต้องลงทุนผ่านคนเก่งที่เชื่อในแนวทางนี้”

วิธีคิดนี้น่าสนใจมากครับ

เพราะ “อนาคต” เป็นสิ่งที่เราไม่รู้

แต่ละคนมี “ความเชื่อ” แตกต่างกัน

ถ้าเชิงการลงทุน เราไม่รู้ว่า “ใหม่” หรือ “เก่า” ใครจะชนะในเกมแห่งอนาคต

เราก็ต้องกระจายความเสี่ยง

ในการลงทุนแบบเดิมที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เราก็ลุยเอง

แต่ในแบบ “ใหม่” ที่เราไม่คุ้นชิน เราก็ปล่อยให้คนที่รู้เรื่องดี

ให้คนเก่งที่สุดในแนวทางนี้ดูแล

อย่าไปยุ่งกับเขามาก

ถ้า “ใหม่” ถูก เราก็ได้

ถ้า “เก่า” ถูก เราก็ได้

แต่ในเกมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครทำนายได้

การกระจายความเสี่ยงแบบนี้ดีกว่าทุ่มหมดตัวในทางใดทางหนึ่ง

เกมนี้อาจได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก

แต่ก็ดีกว่าถ้าพลาดแล้วเสียหมด

หลักคิดนี้นำไปใช้กับการบริหารงานก็ได้ครับ

ถ้าใครต้องขยายงานไปสู่โลกใหม่ที่เราไม่รู้

อย่างเช่นเรื่องเทคโนโลยี หรือโซเชียลมีเดีย

งานเก่าที่ทำอยู่เราก็ดูแลไป

แต่งานใหม่เราควรจะใช้ “คนรุ่นใหม่”

เลือกคนเก่งให้เจอ

แล้วต้องกล้าปล่อยมือ

คุมหลวมๆ

เพราะถ้าเราเข้าไปยุ่งมากเกินไป เราจะอดใช้ “ความเคยชิน” เดิมไปตัดสินไม่ได้

ในมุมหนึ่ง นี่คือวิธีการบริหารงานแบบใหม่

แต่จริงๆ ก็เป็นวิธีคิดเก่า

…ใช้คนให้ตรงกับงาน

ครับ ใน “เก่า” มี “ใหม่”

และใน “ใหม่” ก็มี “เก่า”