10,000 บาท | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21/04/2023

 

ก่อนอื่น ผมต้องเตือนผู้อ่านว่า ผมไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เลย ส่วนความรู้ทางการเมืองก็เท่าหางอึ่ง เพราะเคยอ่านแต่งานเขียนของนักรัฐศาสตร์ดังๆ มาบ้าง เพียงไม่กี่เล่ม

ในบรรดาข้อเสนอของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถูกนักวิชาการและสื่อเรียกว่า “ประชานิยม” นั้น ผมกลับเห็นว่า ข้อเสนอแจกเงินดิจิทัลมูลค่า 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย มีความเป็นประชานิยมน้อย จนเกือบไม่เป็นเลย เพราะเป้าหมายนั้นเห็นได้ชัดว่าไม่ได้มุ่งจะ “แจก” เงิน เท่ากับมุ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ให้เวลาใช้เพียง 6 เดือน, ให้ซื้อสินค้าและบริการในรัศมี 4 ก.ม.จากที่อยู่อาศัย

ดังนั้น 10,000 บาทจึงไม่ใช่เงินออม แต่เป็นเงินที่มุ่งให้เอามาใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดกำลังซื้อในตลาดขึ้นเกือบ 5-6 แสนล้านบาทในระยะเพียงครึ่งปี (ถ้าทุกคนใช้หมด)

 

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันควรถูกกระตุ้นด้วยการเพิ่มกำลังซื้อด้วยจำนวนเงินมหาศาลอย่างฉับพลันรวดเร็วหรือไม่ ผมไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะไม่ได้ยินข้อเสนอซึ่งเป็นทางเลือกอื่นๆ จากใครเลย แม้แต่จากนักเศรษฐศาสตร์ (เขาอาจเสนอแล้ว แต่ผมไม่ได้ยินเองก็ได้นะครับ) เพราะฉะนั้น ก็ต้องสมมุติไว้ก่อนว่า ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยอาจทำงานได้ตามความมุ่งหวัง

แต่ไม่ว่าจะทำงานได้หรือไม่ได้ การเพิ่มกำลังซื้อในตลาดอย่างน้ำค่อยๆ หยดบ้าง อย่างสาดน้ำสงกรานต์บ้าง ก็เป็นวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวที่รัฐบาลไทย (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือใช้กองทัพปล้นแผ่นดิน) รู้จัก

ผมไม่ใช่แฟนพรรคเพื่อไทย และไม่ใช่แฟนคุณทักษิณ จึงไม่ได้คาดหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะทำอะไรที่แตกต่างจากรัฐบาลไทยที่ผ่านๆ มา เพียงแต่ทำแรงกว่า ออกลักษณะทุ่มเทจนระบบราชการไทยที่เฉื่อยชาต้องขยับตัวทำตาม และแน่นอนย่อมมีผลกระทบกว้างไกลในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากกว่านโยบายเดียวกันของรัฐบาลไทยอื่นๆ ซึ่งมักนิยมความเหยาะแหยะ เพื่อเปิดช่องให้เกิดการต่อรองจากพันธมิตรได้สะดวก

และถ้าการคาดเดาของผมถูก นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจไทย หรือจะไม่กระตุ้นได้กี่มากน้อย

 

ส่วนหนึ่งของ 10,000 บาทคงถูกใช้ไปซื้ออาหาร ไม่ใช่เพราะประชาชนจนไม่มีอะไรจะกินนะครับ จนอย่างนั้นก็มีจริงแต่เป็นส่วนน้อยครับ แต่คงจะซื้ออาหารโปรตีนมากขึ้น ซึ่งในระยะสั้นอาจทำให้ของเหล่านั้นขึ้นราคา ไม่ถึงกับเงินเฟ้ออย่างที่นักวิชาการบางท่านว่าล่ะครับ เพราะตลาดที่ขยายตัวเพราะกำลังซื้อมีอายุเพียง 6 เดือน เดี๋ยวหมูก็ลดราคามาเท่าเดิมอีก

แต่ปัญหามาอยู่ที่ว่า จะมีคนเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นเพราะเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทหรือไม่? ผมเดาว่าไม่มีกระมัง แต่อาจมีบางคนที่เพิ่มลูกปลาและลูกไก่ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล อย่างน้อยก็เพราะมันโตทันกำลังซื้อหนึ่งแว่บของตลาด

เมื่อเป็นเช่นนี้ 1 หมื่นบาทจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนหรือ? ตลาดเท่าเก่า ซ้ำยังหดตัวนิดหน่อยเพราะกำลังซื้อที่เสริมมาจบลงแล้ว ใครจะลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตอะไรแก่ตลาดนี้ล่ะครับ

เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคอื่นๆ ที่คนสมัยนี้ต้องใช้กันในทุกครัวเรือน ผมเดาว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินดิจิทัล 1 หมื่น คงพยายามใช้เงินให้หมดใน 6 เดือน ท้องกางไม่พอจะรับอาหาร ก็เอาไปซื้ออะไรที่เก็บได้สิครับ เช่น ผงซักฟอก, น้ำปลา, น้ำมันพืช, ข้าวสาร, มาม่า, กระดาษชำระ, ผ้าอนามัย ฯลฯ เงินส่วนนี้ก็จะไหลไปเข้ากระเป๋านายทุนเจ้าของโรงงานผลิตสินค้าเหล่านี้

 

ผมไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนาอะไรที่กำหนดให้ใช้จ่ายในรัศมี 4 ก.ม.จากที่อยู่อาศัย หากต้องการให้ 1 หมื่นบาทไหลเวียนอยู่ในกระเป๋าของคนในชุมชนให้มากที่สุด (ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกแนวหนึ่งที่รัฐบาลไทยไม่เคยทำ นอกจากรัฐบาลพรรค ทรท.) ผมคิดว่าจะไม่เกิดผลตามต้องการ

ชนบทของภาคเหนือตามที่ผมคุ้นเคย รัศมี 4 ก.ม. ในทุกหมู่บ้าน ย่อมรวมร้านชำซึ่งนำสินค้าเครื่องอุปโภคมาวางจำหน่ายด้วยเสมอ ผมไม่คุ้นเคยกับชนบทภาคอีสาน แต่เดาว่าไม่น่าจะต่างจากทางเหนือมากนัก ภาคกลางยิ่งแล้วใหญ่ นอกจากมีประชากรหนาแน่นแล้ว เขต “เมือง” ยังกระจายออกไปในชนบทอย่างมาก แม้แต่ภาคใต้ซึ่งนักสังคมวิทยาบอกว่าเป็นเขตเดียวที่ประชาชนตั้งภูมิลำเนาในแบบ homestead คือแยกกันอยู่ ไม่รวมเป็นชุมชน ผมเข้าใจว่าในรัศมี 4 ก.ม. ของบ้านเรือนทุกหลัง ย่อมเชื่อมต่อกับทุนนิยมในเมืองได้อย่างสะดวกผ่านร้านค้าอยู่นั่นเอง

แล้วโรงงานผงซักฟอกจะผลิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ คงผลิตแน่ครับ แต่อาศัยแรงงานโอทีมากกว่าจะจ้างแรงงานเพิ่ม เพราะรู้อยู่แล้วว่าตลาดขยายตัวเพียงแค่ 6 เดือน

อย่าลืมนะครับว่า ค่าแรงในประเทศไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านบนภาคพื้นทวีปทั้งหมด ฉะนั้น นายทุนหัตถอุตสาหกรรมในไทยจึงเน้นทุนมากกว่าแรงงาน พูดง่ายๆ คือลงทุนกับประสิทธิภาพของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์มากกว่าแรงงาน แม้ไทยผลิตสินค้าหัตถอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ใช้แรงงานเพียง 12% ของแรงงานไทยทั้งหมดเท่านั้น

ถ้าใช้ 5 แสนล้านบาทด้วยวิธีนี้ จึงไม่มีผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

แต่ต้องระวังนะครับ ผมพูดถึงนโยบายนี้ตามที่พรรคเพื่อไทยประกาศให้รู้ อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศอีกก็ได้ ผมไม่ทราบ แล้วทำไมพรรคจึงต้องกระมิดกระเมี้ยนกับนโยบายที่ตนเสนอ แทนที่จะทำให้โปร่งใสมาแต่ต้น ผมก็ไม่ทราบ แต่เอาเฉพาะเงื่อนไขที่ประกาศให้ทราบ ผมเก็งว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก หรือไม่กระตุ้นเลย แต่ไม่ “ประชานิยม” แน่ครับ

 

นอกจากไม่ “ประชานิยม” แล้ว นโยบายนี้ยังไม่เกี่ยวอะไรกับวินัยทางการเงินอีกด้วย

“วินัยทางการเงินการคลัง” เป็นคำที่ถูกนักวิชาการไทยใช้บ่อยมากเวลาที่คิดอะไรไม่ออกว่าจะวิจารณ์นโยบายอย่างไร พอๆ กับคำว่า “ศีลธรรม” ที่ผู้พิพากษาซึ่งหาความผิดตามกฎหมายไม่เจอมักนำมาใช้เพื่อลงโทษจำเลยแทนบัญญัติของกฎหมาย

ผมคิดว่าไทยมีงบประมาณพอจะใช้เงินก้อนใหญ่ได้ ถ้าจำเป็นและมีประโยชน์ อย่าลืมว่าปีหนึ่งๆ เราใช้เงินโดยไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์มากกว่า 5 แสนล้าน ไม่เชื่อก็หันไปดูกองทัพ, ระบบราชการ, มหาวิทยาลัย, งบฯ โฆษณาทุกชนิดของรัฐ ฯลฯ ผมไม่เคยได้ยินนักวิชาการพูดถึง “วินัยทางการเงินการคลัง” เลย เมื่อกองทัพจัดซื้อเรือดำน้ำ, พยายามหาทางซื้อ F35, ตั้งนายพลเป็นโหลๆ หรืองบประมาณจำนวนมหาศาลของกระทรวงกลาโหม

“วินัยทางการเงินการคลัง” ไม่ควรหมายถึงเพียงตัวเลขที่จำกัดอำนาจทางการเงินของรัฐ แต่ควรหมายถึงวิธีการใช้ที่สมเหตุสมผล, ตรวจสอบได้ทั้งโดยสภาและพลเมือง, สุจริต และประหยัด (ซึ่งแปลว่าใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด)

 

5แสนล้านจะกระทบต่อ “วินัยฯ” หรือไม่ เราไม่ทราบ จนกว่าจะได้เห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะแก้ไขงบประมาณที่รัฐบาลเก่าทำไว้อย่างไรบ้าง

แต่มีสิ่งที่เราควรรู้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็คือยังมีเงื่อนไขอะไรอื่นอีกบ้างในการรับและใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อจะเก็งได้ว่าน่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้สักเพียงไร

เช่น มีเงื่อนไขอะไรอื่นอีกบ้างนอกจากรัศมีของร้านค้าจากบ้านไม่เกิน 4 ก.ม. (ซึ่งผมเข้าใจว่าแฝงเจตนาที่จะทำให้เงินกระจายอยู่ในหมู่ชาวบ้านมากกว่าธุรกิจของนายทุน) เช่น ไม่ให้ซื้อสินค้าที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม

นี่ยกเป็นตัวอย่างเท่านั้นนะครับ เพราะควรทำหรือไม่ควรทำผมไม่ทราบ แต่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีคนรู้และเก่งในการตั้งเงื่อนไขที่เหมาะสมอยู่มาก ถ้าจุดมุ่งหมายชัดเจนว่า จะพยายามให้เงินกระจายในหมู่ประชาชนทั่วไปโดยไม่ไหลมารวมกันที่นายทุน ท่านเหล่านั้นก็คิดออกได้แน่ และดีกว่าตัวอย่างของผม

 

จุดมุ่งหมายที่สอง ซึ่งผมไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนาจะตั้งเป้าหมายเช่นนั้นหรือไม่ เพียงแต่ผมคิดว่าสำคัญแก่การกระตุ้นเศรษฐกิจแน่ นั่นก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ 10,000 บาทนี้เข้าไปเพิ่ม “ทุน” ในการผลิตของชาวบ้านร้านตลาด

เรามักจะเผลอเข้าใจผิดว่า ทุนเป็นเรื่องของนายทุนใช้ในการลงทุนเท่านั้น ที่จริงเราทุกคนไม่ว่าจะผลิตอะไร ล้วนต้องใช้ทุนทั้งนั้น ดังนั้น ในหลายกรณีทุนจึงไม่ใช่เงิน เพิงขายกล้วยแขกหน้าบ้านซึ่งตั้งอยู่บนหนทางที่มีผู้คนเดินผ่านมากขึ้น ก็เป็นทุนที่ทำให้ป้าเม้า (ปัจจุบันน่าจะชื่อป้าสุชาดาไปแล้ว) ซึ่งไม่มีรายได้จากอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสามารถผลิตสินค้าหากำไรได้

มอเตอร์ไซค์เก่าๆ ที่หากได้รับการซ่อมบำรุงให้ดีขึ้น ก็อาจทำให้ลุงแม้น (ปัจจุบันน่าจะชื่อลุงสาธิตไปแล้ว) สามารถผลิตด้านการขนส่ง, ค้าขาย หรือขยายตลาดรับซื้อแรงงานของตนเองได้

คิดไปเถิดครับ 10,000 บาทในมือชาวบ้านร้านตลาด คนเล็กคนน้อย หากถูกเงื่อนไขที่รัฐตั้งขึ้นชักจูงให้เอาไปพัฒนา “ทุน” ที่เขามีอยู่ ทั้งหมดหรือบวกกับเงินส่วนตัว แล้วทำให้เขาสามารถ “ผลิต” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จนพอใช้จ่ายได้มากกว่าที่เคยมาก่อน ซื้อกล้วยแขกได้เต็มถุง, กินก๋วยเตี๋ยวได้สองชาม, ซื้อเสื้อใหม่ให้ลูก, ซื้อบริการด้านอื่นๆ ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นให้แก่ครอบครัว ฯลฯ เงินจะสะพัดไปในตลาดมากขนาดไหน อย่างไรเสีย ส่วนหนึ่งของการใช้จ่ายเหล่านี้ย่อมทำกำไรให้ธุรกิจของนายทุนแน่ เป็นกำลังซื้อที่ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ทำให้นายทุนเองก็พร้อมจะลงทุนเพิ่มหรือจ้างงานเพิ่ม

กระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองไทย ส่วนใหญ่มักคิดถึงเพิ่มความเข้มแข็งให้ธุรกิจนายทุน เพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่ม หรือขยายตลาดส่งออก บางครั้งเพื่อการนี้ถึงกับยอมสละผลประโยชน์ของคนเล็กคนน้อยจำนวนมาก เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการแซงก์ชั่นของตลาดใหญ่ๆ เช่นสหรัฐหรือยุโรป

ส่วนการเทเงินมาพยุงชีวิตของคนขาดแคลนก็ใช่ว่าจะละเลยเสียทีเดียว นโยบายเงินผันของนายกฯ คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาลต่อมาก็ทำตามในรูปต่างๆ เสมอมา ที่สำคัญคือรัฐบาลเปรม ที่ขยายโครงสร้างพื้นฐานในชนบทขนานใหญ่ และสร้างโครงการต่างๆ ในกรมกองราชการ ก่อให้เกิดการจ้างงานในชนบทเช่นอาสาประเภทต่างๆ ซึ่งมีรายได้เป็นเงินเดือน แต่การผันงบประมาณสู่ชนบทนั้นยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสงเคราะห์มากกว่าเป็นเครื่องมือในการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ”

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยจึงมุ่งเทเงินและผลประโยชน์ไปสร้างความเข้มแข็ง (กำไร) ให้แก่ธุรกิจนายทุน แทนการใช้ฐานมหาชนอันกว้างใหญ่ไพศาลของชาวบ้านร้านตลาดเป็นหัวหอกให้เกิดความเข้มแข็งที่ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ของประเทศ ไม่ใช่ธุรกิจของใคร

 

ทั้งนี้ ยกเว้นรัฐบาล ทรท.ของคุณทักษิณ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของคุณทักษิณมีหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญและได้ผลดี (แต่คนอื่นมักไปเน้นการตอบสนองความพอใจของชาวชนบท เพื่อคะแนนเสียงทางการเมือง ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นส่วนหนึ่งด้วยแน่ แต่ประชาธิปไตยมันก็ควรทำงานอย่างนี้ไม่ใช่หรือครับ?) ก็คือการสร้างโครงการที่ชนบทได้รับส่วนแบ่งงบประมาณโดยตรงไปเป็นกอบเป็นกำก้อนใหญ่ๆ เช่น30 บาทรักษาทุกโรค แม้ไม่แจกเงินใครเลย แต่ค่ารักษาพยาบาลซึ่งทำลายทั้งเงินออมและทุนของชาวบ้านไปแทบหมดตัว ทำให้สิ่งเหล่านั้นถูกนำมาใช้จ่าย หรือเป็นทุนในการทำมาหากินต่อไปได้ กองทุนหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงเงินทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำเป็นครั้งแรก สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ถูกโกงบ้าง เป็นธรรมดาของโครงการใหม่ๆ ที่เพิ่งเริ่มจัดทำ เพราะประสบการณ์ยังน้อย

ผมน่ะเชื่อด้วยซ้ำว่า ส่วนหนึ่งที่ไทยสามารถใช้หนี้เงินกู้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนด ก็เพราะโครงการเหล่านี้ ที่เพิ่มกำลังซื้อของตลาดภายใน ทำให้การผลิตไม่ว่าในโรงงานอุตสาหกรรมหรือเพิงทอดกล้วยแขกมีกำไรสูงขึ้น ยิ่งเร่งการขยายตัวขึ้นไปอีก แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เราเก็บได้อาจไม่ชี้ชัดขนาดนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าส่วนใหญ่ของคนที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามโครงการของคุณทักษิณ คือคนที่อยู่นอกตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นทางการทั้งนั้น เช่น ไม่เคยเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลเลย

แม้กระนั้น ผมก็ยังเห็นว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ ไม่เหมือนโครงการของ ทรท.ที่มุ่งจะเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ชาวบ้านร้านตลาด ถ้าเงื่อนไขที่ตั้งไว้มีเพียงเท่าที่ได้ประกาศออกมา เพราะเงินส่วนใหญ่จะไหลกลับไปเป็นกำไรของธุรกิจนายทุน ไม่ผลักดันให้เพิ่มกำลังการผลิตแน่ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย… กำไรของนายทุนกลายเป็นกำไรของประเทศโดยอัตโนมัติ

ถ้าชาวบ้านร้านตลาดมีผงซักฟอกเก็บไว้ใช้ได้เกิน 3 เดือนข้างหน้า เขาจะกินก๋วยเตี๋ยวสองชามไหม ก็คงกินสักหนสองหน แต่เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะกินต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้น ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเกิดขึ้นได้จริง คงน้อยและอายุสั้นกว่า ๖ เดือนเสียอีก