ล้มทฤษฎี Manpo-kei เดินเร็วเต็มคาราเบล 10 นาทีก็อายุยืนได้ | จักรกฤษณ์ สิริริน

ทฤษฎี Manpo-kei ไม่มีอะไรมากไปกว่าแนวคิดของนายแพทย์ Yoshiro Hatano และ Yamasa Tokei Keiki Co., Ltd.

ที่ออกแคมเปญโฆษณาเพื่อโปรโมตเครื่องนับก้าวเดิน Manpo-kei เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ล้อไปกับการประชาสัมพันธ์มหกรรมโอลิมปิก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวในปี ค.ศ.1964

Manpo-kei มาพร้อมสโลแกนชวนเชื่อที่ว่า “สุขภาพดีได้ แค่เดินช้าๆ วันละ 10,000 ก้าว” หรือ Healthcare with 10,000 slow steps per day

Manpo-kei เป็นผลมาจากการวิจัยในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นทศวรรษ 1960 ที่บ่งชี้ว่า เมื่อชาวญี่ปุ่นเดินช้าๆ ได้ครบ 10,000 ก้าวต่อวัน จะเผาผลาญพลังงานได้ 3,000 แคลอรี

นำไปสู่การจัดจำหน่าย Manpo-kei ในปี ค.ศ.1965 และทันทีที่วางตลาด Manpo-kei ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และกลายมาเป็นเกณฑ์วัดสุขภาพตัวใหม่อย่างน่าตกใจ

เพราะ Manpo แปลว่า “หนึ่งหมื่นก้าว” ส่วน kei หมายถึง “พร” ปรากฏการณ์ Manpo-kei จึงดันค่าเฉลี่ยการเดินของคนญี่ปุ่น จากเดิม 4,000 ก้าวต่อวัน ขึ้นไปเป็น 10,000 ก้าวต่อวันในทันที

จากนั้นเป็นต้นมา ทฤษฎี Manpo-kei ได้ซึมลึกไปสู่แวดวงการเดินออกกำลังกาย เพราะทุกวันนี้ใครๆ ก็ต่างพากันเข้าใจเรื่อง “การเดินช้าๆ 10,000 ก้าวเพื่อสุขภาพดีทุกวี่วัน”

ปัจจุบัน แม้ Manpo-kei จะเลิกขายไปแล้ว แต่แนวคิดนี้ได้แปรเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นอุปกรณ์นับก้าวแบบ Digital ยี่ห้อต่างๆ

ความฝังใจเรื่อง “เดิน 10,000” ได้หยั่งรากลึกมาก เพราะกว่าจะล้มทฤษฎี Manpo-kei ได้ก็ต้องใช้เวลาถึงเกือบ 60 ปีเลยทีเดียว

เมื่อศาสตราจารย์ ดร. Robert Copeland แห่ง Sheffield Hallam University ได้ทำการทดลองด้วยการเปรียบเทียบระหว่าง ผู้ที่ออกกำลังกายด้วยวิธี Manpo-kei หรือ “เดินช้าๆ 10,000 ก้าวต่อวัน”

กับผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการ “เดินเร็วเต็มคาราเบล 10 นาที” ตามวิธี Active 10 ที่สำนักบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (National Health Service หรือ NHS) ได้แนะนำไว้

ซึ่งเทียบเท่ากับการปั่นจักรยาน การเดินขึ้นเขา การเต้นแอโรบิก หรือเล่นเทนนิส เป็นเวลา 75 นาทีต่อสัปดาห์

อาสาสมัครกลุ่มแรก จะได้รับคำสั่งให้เดินช้าๆ วันละ 10,000 ก้าว ซึ่งคิดเป็นระยะทางราว 8 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง

ขณะที่อาสาสมัครกลุ่มหลัง จะได้รับคำสั่งให้เดินเร็วเต็มคาราเบล ครั้งละ 10 นาที ซึ่งคิดเป็นระยะทางเพียง 2.4 กิโลเมตรเท่านั้น โดยให้เดินจำนวน 3 รอบต่อวัน

ผลการทดลองพบว่า อาสาสมัครกลุ่มแรก หรือ Manpo-kei มีเพียง 2 ใน 3 เท่านั้นที่สามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย

ขณะที่อาสาสมัครกลุ่มหลัง หรือ Active 10 สามารถออกกำลังได้สำเร็จตามเป้าหมายทุกคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาสาสมัครกลุ่มหลัง ได้ออกกำลังระบบปอด และหัวใจ ที่ดีกว่าอาสาสมัครกลุ่มแรกมากถึง 30%

ศาสตราจารย์ ดร. Robert Copeland ได้สรุปผลการทดลอง โดยกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการออกกำลังกายก็คือ ต้องให้อวัยวะสำคัญได้ทำงานมากขึ้น

“แม้คุณจะเดินมากถึง 10,000 ก้าว แต่หากไม่ออกแรงให้มากพอ ก็จะไม่มีผลดีต่อสุขภาพมากนัก ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายในระดับหนักหน่วงแค่ 10 นาที จะเกิดผลดีต่อสุขภาพมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด” ศาสตราจารย์ ดร. Robert Copeland กล่าว และว่า

“การเดินเร็วจนหัวใจเต้นแรง และหายใจเหนื่อยหอบ จะช่วยลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังช่วยควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. Robert Copeland สรุป

สอดคล้องกับศาสตราจารย์ ดร. Søren Brage แห่ง University of Cambridge ที่กล่าวว่า คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิ่งมาราธอน ก็สามารถมีสุขภาพที่ดีได้

“เพียงแค่เพิ่มการเดินออกกำลังกายอย่างกระฉับกระเฉง เข้าไปในกิจวัตรประจำวัน เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้” ศาสตราจารย์ ดร. Søren Brage กระชุ่น

งานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. Søren Brage ตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิชาการเวชศาสตร์การกีฬา British Journal of Sports Medicine แห่งสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่าการเดินออกกำลังกายในระดับหนักหน่วง เพียงวันละ 10 นาที จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ 1 ใน 10 ราย

 

ดังที่กล่าวไปว่า สำนักบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (National Health Service หรือ NHS) ได้แนะนำการออกกำลังกายระดับหนักหน่วงวันละ 10 นาทีเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

ซึ่งงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. Søren Brage ได้ทำการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยหลายร้อยชิ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของการออกกำลังกาย

โดยพบข้อมูลที่บ่งชี้ว่า แม้จะทำตามข้อแนะนำเรื่องการออกกำลังกายของ NHS แค่เพียงครึ่งหนึ่ง ก็ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดได้ถึง 1 ใน 20 ราย และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ถึง 1 ใน 30 ราย

ผลการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายในปริมาณดังกล่าว จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 17% และช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ 7%

นอกจากนี้ ยังช่วยลดไขมัน และความดันโลหิตสูง ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น และส่งผลดีต่อหัวใจในระยะยาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งศีรษะ และลำคอ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย หรือแม้แต่มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม ก็อาจช่วยได้

 

ศาสตราจารย์ ดร. S?ren Brage ชี้ว่า อันที่จริงแล้ว ทฤษฎี Manpo-kei หรือความเชื่อเรื่อง “เดินช้าๆ 10,000 ก้าว เพื่อสุขภาพดีทุกวี่วัน” เป็นแค่ “การรับชมสิ่งที่น่าสนใจ” หรือ “โฆษณา”

“อย่างไรก็ดี แม้ Manpo-kei จะเป็นเพียงสโลแกนในแผนประชาสัมพันธ์เพื่อขายอุปกรณ์นับก้าวเดินเพื่อสุขภาพ ในทศวรรษที่ 1960 แต่ก็ได้สร้างคุณูปการบางด้านให้กับวงการสุขภาพ” ศาสตราจารย์ ดร. S?ren Brage กล่าว และว่า

อย่างน้อย Manpo-kei ก็มีส่วนกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1960 และหลังจากนั้น ออกแรงเดินกันมากขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 4,000 ก้าวต่อวัน เพิ่มเป็น 10,000 ก้าวต่อวัน

“แถม Manpo-kei ยังแพร่ระบาดแนวคิดไปทั่วโลกเนิ่นนานเกือบ 6 ทศวรรษ” ศาสตราจารย์ ดร. S?ren Brage กล่าว และว่า

อย่างไรก็ดี คำถามมีว่า ได้มีการศึกษาเรื่องผลดีต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจริงจาก Manpo-kei มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมากหากมนุษย์ออกกำลังกายไม่ถูกวิธี

ศาสตราจารย์ ดร. S?ren Brage แนะว่า ถ้าคุณสามารถออกกำลังกายในระดับหนักหน่วงได้สัปดาห์ละ 75 นาทีแล้ว ควรปรับเพิ่มการออกกำลังกายขึ้นทีละน้อยจนถึงระดับที่กำหนด คือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

“ผู้ใหญ่ควรทำกิจกรรมเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เช่น การเล่นโยคะ พิลาทิส ยกน้ำหนัก รวมทั้งการทำสวน หรือการถือถุงช้อปปิ้งหนักๆ เป็นต้น” ศาสตราจารย์ ดร. S?ren Brage กล่าว และว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้นำการออกกำลังกายดังกล่าว มาทดแทนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น พยายามเดิน หรือปั่นจักรยานไปทำงาน หรือออกไปซื้อของ

แทนการใช้รถยนต์ หรือหากิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายที่ชอบทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ ศาสตราจารย์ ดร. S?ren Brage ทิ้งท้าย