รัฐสวัสดิการและรัฐความมั่นคง ลำดับความสำคัญที่ต่างกัน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

นโยบายรัฐสวัสดิการ VS. นโยบายอภิสิทธิ์ชน (3)
รัฐสวัสดิการและรัฐความมั่นคง
ลำดับความสำคัญที่ต่างกัน

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้การเลือกตั้ง เราย่อมจะเห็นได้ว่า ทุกอย่างฟังดูเป็นไปได้ทั้งสิ้น

จะเห็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่พูดถึงงบประมาณหลายแสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เราเห็นนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคก้าวไกล

แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ก็ยังมีการพูดถึงนโยบายสวัสดิการ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็จะพบว่า พรรคการเมืองฝั่งที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างอำนาจนิยมนั้น จะมีจุดขายด้านนโยบายที่มุ่งไปในด้านความมั่นคง มากกว่าการพูดถึงสวัสดิการของประชาชน

คำถามสำคัญคือ เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น การทำงานร่วมกันในรัฐสภาจะเกิดอะไรขึ้น ย่อมมีการโต้เถียงโต้แย้งกัน ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่สำคัญ

ความน่ากังวลคือ เมื่อม่านของการเลือกตั้งปิดฉากลงไป กลุ่มการเมืองต่างๆ จะมีแนวโน้มที่แนบชิดกับเครือข่ายชนชั้นนำ กับกลุ่มทุนและข้าราชการเหมือนเดิม

ถึงแม้ว่านโยบายด้านสวัสดิการจะถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงการเลือกตั้ง แต่จะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญลำดับท้ายๆ เมื่อต้องแข่งขันกับนโยบายด้านความมั่นคง

ซึ่งแม้จะเป็นนโยบายที่ไม่ได้ถูกนำมาหาเสียง เป็นนโยบายที่ไม่ได้ถูกปราศรัย แต่ก็จะกลายเป็นนโยบายที่มีความสำคัญเท่ากับหรือมากกว่านโยบายชีวิตของประชาชน

ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญประชาชนจำเป็นที่จะต้องแยกระหว่างนโยบายรัฐความมั่นคงกับรัฐสวัสดิการให้ออกจากกันและพยายามกดดันหรือสนับสนุน ให้พรรคการเมืองที่นำเสนอประเด็นด้านสวัสดิการ สามารถผลักดันประเด็นเหล่านี้ให้กลายเป็นวาระสำคัญของสังคมให้ได้

 

ข้อแตกต่างระหว่างรัฐสวัสดิการกับรัฐความมั่นคง พิจารณาผ่านเงื่อนไขสามประการได้ดังนี้

ประการแรก รัฐความมั่นคงมองว่าความปลอดภัยของรัฐมาก่อนความปลอดภัยของประชาชน

ขณะที่รัฐสวัสดิการมองว่าความปลอดภัยของประชาชนเป็นบ่อเกิดความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่รัฐความมั่นคงสามารถลงทุนในงบประมาณด้านความมั่นคงหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นทหารประจำการนับแสนนาย ลงทุนในการศึกษาของทหารและตำรวจ

เช่นเดียวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ทิ้งร้างไม่ได้ใช้ ด้วยงบประมาณประจำปีหลายแสนล้านบาท

แต่พวกเขากลับมีแรงตั้งคำถามกับการบรรจุพยาบาล มหาวิทยาลัยฟรี เบี้ยผู้สูงอายุ เงินเลี้ยงดูเด็ก ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีคนแก่ คนเจ็บ คนเกิด คนต้องเรียนหนังสือทุกวัน

แต่พวกเขากลับพร้อมที่จะใช้งบประมาณมหาศาลไปกับความมั่นคงที่มีเพียงแต่สงครามในประวัติศาสตร์

ประการที่สอง รัฐความมั่นคงมองว่าอาชญากรรมของคนจนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ และการส่งเสียงของประชาชนมากเกินไปเป็นการคุกคามต่อความมั่นคง

พวกเขาจึงลงงบประมาณมหาศาลไปกับการป้องกันประชาชนส่งเสียง ตำรวจคุมฝูงชน กล้องวงจรปิด คุก ตุลาการ และสื่อมวลชนที่จะปลุกปั่นว่าความเป็นคนจนน่ารังเกียจขนาดไหน

ความผิดของคนจนถูกทำให้น่าเกลียดน่ากลัว

แต่อาชญากรรมของชนชั้นนำกลับเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรง จับกุม คุมขัง ตีความกฎหมาย อาชญากรรมความรุนแรงเหล่านี้เทียบไม่ได้กับการที่คนจนคนหนึ่งขโมยนมผงเพื่อให้ลูกกินยาไส้

ดังนั้น ฐานความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการคือการนำทรัพยากรที่ถูกปรนเปรอให้แก่คุก ศาล ทหาร ตำรวจ ของรัฐความมั่นคงกลับคืนสู่ เงินเด็ก เงินค่าเทอม เงินบำนาญ ประกันการว่างงาน

คืนความมั่นคงให้มนุษย์มากกว่าความมั่นคงของรัฐ

ประการสุดท้าย รัฐความมั่นคง ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่ทำผ่านกรอบชุดความเชื่อแบบต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย

กรอบความเชื่อประวัติศาสตร์แบบจารีต ที่พยายามบอกถึงความจำเป็นของทหารประจำการ กองทัพขนาดใหญ่

ทำงานร่วมกันกับศาสนาที่พยายามบอกว่าความยากจนเป็นกรรมเก่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ทำงานร่วมกันกับคุณค่าเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่พยายามบอกว่าคนขยันและฉลาดเท่านั้นที่สมควรมีชีวิตที่ดี

ผู้คนใช้ชีวิตส่วนตัวของตนไป ไม่จำเป็นต้องมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือการจัดสรรนโยบายที่มีความสลับซับซ้อน

ซึ่งสุดท้ายเมื่อประชาชนไม่สามารถส่งเสียงได้ ชนชั้นนำฝ่ายความมั่นคงก็ทำงานร่วมกันกับเทคโนแครตด้านเศรษฐกิจ ในการเนรมิตคำอธิบายต่างๆ ว่า งบประมาณที่ถูกจัดสรรอย่างถูกต้องสมควรแล้ว

สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการคืนความสามารถในการอธิบายความเป็นไปของสังคมให้หวนกลับคืนมาสู่มือประชาชนทั่วไป ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ แง่มุมของการต่อสู้ การตีความกฎหมาย ความสัมพันธ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เราสามารถเป็นเจ้าของ

เพื่อให้มันรองรับต่อคุณค่าความเท่าเทียมกันในสังคม

เพื่อให้ค่านิยมของรัฐสวัสดิการเติบโตได้ต่อไปเช่นกัน

 

จะเห็นได้ว่า รัฐความมั่นคง เป็นรูปแบบรัฐที่ฝังลึกในสังคมไทย

ให้ผลประโยชน์มหาศาลแก่ชนชั้นนำ

และให้ผลประโยชน์เพียงน้อยนิดสู่ประชาชนทั่วไป

ขณะเดียวกันการสร้างรัฐสวัสดิการแม้จะเป็นคุณค่า หรือรูปแบบที่คนไทยส่วนมากอาจไม่คุ้นเคย

แต่นับเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนคนส่วนใหญ่

และจะเปลี่ยนรากฐานความเชื่อ และวิถีชีวิตในทางก้าวหน้ามากขึ้น

แต่ย่อมท้าทายอำนาจของชนชั้นนำที่ถือครองทรัพยากรและผูกขาดคุณค่าด้านต่างๆ ไว้เช่นกัน