E-DUANG : ชาวสวนยาง “ภาคใต้” กับ “รัฐประหาร”

กรณีที่เกษตรกรชาวสวนยาง”ภาคใต้”ออกมาเคลื่อนไหวมีลักษณะ  ซับซ้อนอย่างยิ่งในทาง “การเมือง”

ซับซ้อนเพราะมี “อดีต”

เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยาง”ภาคใต้”เคยมีบทบาทอย่างสูงในการเคลื่อนไหวก่อนเกิดมาตรการ”ชัตดาวน์”ในเดือนมกราคม 2557

นั่นก็คือ “ควนหนองหงษ์ โมเดล”เมื่อเดือนกันยายน 2556

ผลก็คือ การเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยาง”ภาคใต้”กับการเคลื่อนไหวของ”กปปส.”มีเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสัมพันธ์กับ “รัฐประหาร”

สายตาที่มองไปยังการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนยาง

“ภาคใต้” จึงมี “คำถาม”

 

คำถาม 1 มีพื้นฐานมาจากสภาพความเป็นจริงที่ว่าปัญหาราคายางพารามิได้เพิ่งเกิดขึ้น

หากเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แล้ว

คงจำกันได้เมื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ควง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาการันตีราคายางที่ 90 บาท

บางท่านถึงกับบอกว่า”เรื่องกล้วยๆ”

แต่พอมาถึงยุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ไม่เคยปรากฏว่าราคายางเข้าไปแตะใกล้กับ 90 บาทเลย มีแต่หล่นลงมาจนถึงกับบ่นๆกันว่า หนักหนาสาหัส

ก็มีเสียงสำทับจากแกนใหญ่”กปปส.”ว่า ไม่ต้องเคลื่อนไหวเพราะรัฐบาลนี้

เป็น”รัฐบาล”ของ “พวกเรา”

 

การที่เกษตรกรชาวสวนยาง“ภาคใต้”เคยเป็นนั่งร้านให้กปปส.เคยมีส่วนในการปูทางสร้าง”รัฐบาลของพวกเรา”อาจทำให้เป็นประเด็นในทางการเมือง

แต่ความเป็นจริงก็คือ ใน”รัฐบาลของพวกเรา”ก็ไม่สามารถแก้ปัญหา”ราคายาง”ได้

ความเป็นจริงนี้ คือ ความเดือดร้อน

เป็นความเดือดร้อนที่เกษตรกรชาวสวนยาง”ภาคใต้”ต้องประสบด้วยตนเอง และรับรู้ประสิทธิภาพ”รัฐบาลของพวกเรา”ด้วยตนเอง

ตรงนี้ต่างหากที่นำไปสู่”ความคับแค้นทางจิตใจ”อันเนื่องมาแต่”ความยากไร้ทางวัตถุ”