33 ปี ชีวิตสีกากี (15) | น.ร.ใหม่ สิทธิเท่ากับศูนย์

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ถ้าจะสรุปโดยหลักการสำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจใหม่ คือ ทุกอย่างถูกควบคุมโดยมีกฎระเบียบ ต้องถือปฏิบัติเหมือนกันทุกคน ไม่มีการยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือ มีความเท่าเทียมกัน และการฝึกก็จะเริ่มจากเบาไปหาหนัก จนหนักขึ้นไปเรื่อยๆ

หลังจากนั้น ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด ได้ชี้แจงระบบอาวุโส

1. ความมุ่งหมาย เพื่อปลูกฝัง นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ชั้นต่ำกว่า ให้มี

1.1 การเชื่อฟังผู้ใหญ่ และให้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้น้อย อันพึงปฏิบัติต่อผู้ใหญ่

1.2 ความสำนึกในหน้าที่และรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

1.3 การบังคับตน เพื่อให้เกิดอุปนิสัยในการอดกลั้นต่อความยากลำบากซึ่งจะต้องประสบทั้งทางกายและใจ จนถึงขั้นเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็น

2.การปฏิบัติตนของนักเรียนชั้นต่ำ

2.1 นรต.ชั้นต่ำ จะต้องตระหนักว่ายังมีผู้มีอาวุโสกว่าตน ซึ่งตนจะต้องเชื่อฟัง คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนในทางที่ชอบของ นรต.ชั้นสูงกว่า ด้วยความเคารพยำเกรง และนับถือเสมือนพี่ชาย

2.2 นรต.ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนักเรียนผู้บังคับบัญชา นักเรียนชั้นต่ำต้องเคารพยำเกรงอยู่ในโอวาท

3. ข้อห้ามในเรื่องมารยาท

3.1 ห้ามล้วงกระเป๋ากางเกง นอกจากหยิบของที่ต้องการหรือเก็บของเข้ากระเป๋ากางเกง

3.2 ห้ามกอดอก หรือไขว้หลังต่อหน้านักเรียนอาวุโส

3.3 ห้ามนั่งไขว้ห้าง, กระดิกเท้า, นั่งกอดเข่า

3.4 ห้ามตีตนเสมอนักเรียนอาวุโสกว่า

3.5 ห้ามสูบบุหรี่ ขณะอยู่ต่อหน้านักเรียนที่อาวุโสกว่า

3.6 ห้ามแสดงกิริยามารยาทโดยปราศจากการสำรวมต่อหน้านักเรียนชั้นสูงกว่า

การปล่อยออก มีรถมารับไป และสิ้นสุดที่เสาชิงช้า

ก่อนออกให้ไหว้เจ้าพ่อสามพรานและหลวงพ่อนาค

ถ้าไม่มีรถมารับ ให้พาแถวออกไป โดยตั้งแถวที่หน้าโรงเรียน รอรถ 2 แถว หรือรถสามพราน

การเข้าโรงเรียน ต้องเรียกแถวอย่างน้อย 5 คน แล้ววิ่งไป และต้องไหว้หลวงพ่อนาค และเจ้าพ่อสามพราน ตามลำดับ

ถ้ามาล่า ให้รอจน 15.45 น. จึงเข้าได้

เมื่อมีการแข่งขันกีฬาเหล่า สิ่งที่นักเรียนใหม่ต้องปฏิบัติในการเชียร์กีฬา

1. อัฒจันทร์ อยู่ทางซ้ายสุด

2. ยามผลัด 1, 2, 3 ไม่ต้องไป

3. เข้าสนามไปแล้วห้ามออกเด็ดขาด

 

หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ประชุมชี้แจงการปฏิบัติเมื่ออยู่นอกโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในเรื่องการเคารพ ดังนี้

ทำความเคารพพระบรมรูปทุกแห่ง นายทหาร นายตำรวจ นักเรียนเหล่าอื่นๆ ที่อาวุโสกว่า ถ้าเป็นนักเรียนชั้นเดียวกันก็ทำความเคารพได้ ถือเป็นการทักทายกัน

การยืน จะไม่มีการหย่อนเข่า ทอดหุ่ย ห้ามล้วง แคะ แกะ เกา เมื่อยืนอยู่ และจะเดินไม่ต้องจับหมวก หรือขยับหมวก

การเดิน ยืดอก เก็บคาง มองตรง เมื่อยืน สวมหมวกปิดตาเล็กน้อย ให้ระมัดระวังหลังคาเตี้ยๆ

การขึ้นรถเมล์ รีบขึ้นโดยสาวเท้า ก่อนจะลงควรจัดหมวกให้เรียบร้อย ขณะขึ้นรถเมล์ให้ระวังหมวกด้วย การขึ้นให้ขึ้นบันไดหลัง และห้ามยืนบนบันได

การขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ จะไม่นั่ง การขึ้นรถเมื่อสวมชุดเล็ก ห้ามถอดไท้ ดูดบุหรี่ ห้ามอ่านหนังสือพิมพ์ ห้ามรับประทานขนม การคุยจะต้องคุยเบาๆ และคุยเมื่อจำเป็นเท่านั้น

การเข้าร้านอาหาร เมื่อแต่งเครื่องแบบ เลือกร้าน ดูสภาพร้านให้เหมาะสม

สถานที่ทั่วๆ ไปห้ามไป ได้แก่ ตลาดนัดที่มีคนแออัด โรงภาพยนตร์ สถานบริการ สถานเริงรมย์ แหล่งอบายมุข

เมื่อประสบเหตุเฉพาะหน้า รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่โดยตรง

 

การนำกฎระเบียบมาพูดชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียนใหม่ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจนั้นเคร่งครัดต่อกฎระเบียบอย่างไร

หากใครทนไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จได้

การฝึกจะเริ่มจากเบาไปหาหนักและหนักยิ่งขึ้น วิ่งกายบริหารตอนเช้า ใช้ชุดกีฬา คือ เสื้อยืดคอกลมสีขาว ขลิบเลือดหมู หรือเรียกว่า เสื้อคอแดง กางเกงขาสั้นสีดำ รองเท้าผ้าใบสีดำ

และต่อๆ มาก็วิ่งโดยมีอาวุธปืนยาวด้วยท่าเฉียงอาวุธ อาวุธปืนประจำกาย คือ ปลยบ.88 หนักประมาณ 4 กิโลกรัมครึ่ง ทุกเช้า

และเปลี่ยนมาเป็นชุดฝึกวิ่งพร้อมอาวุธปืน สวมหมวกเหล็ก รองเท้าคอมแบต สัมภาระหนักเพิ่มขึ้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่ง พร้อมที่จะรับการฝึกตามหลักสูตรที่กำหนดไว้

หากมีผู้ใดฝ่าฝืนหรือละเลย จะมีการลงโทษผู้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้เข้าเวรยาม

หรือเมื่อถึงคราวได้สิทธิให้เดินทางกลับบ้านได้ในวันเสาร์อาทิตย์ จะหมดสิทธิและถูกกักบริเวณ

การกักบริเวณ ก็จะต้องเข้าเวรยามด้วย แต่ถ้าหนักข้อ อาจจะต้องถูกตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งทุกคนจะมีคะแนนความประพฤติคนละ 100 คะแนนต่อปี

ถ้าถูกตัดเกิน 40 คะแนน ก็จะต้องถูกซ้ำชั้น และถ้าสูงกว่านี้เกินกว่า 50 คะแนน ก็จะต้องถูกไล่ออกจากการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ

นั่นคือ คำชี้แจงเบื้องต้นคร่าวๆ ที่ได้ยินจากปากคำของผู้บังคับกอง ผู้บังคับหมวด และรุ่นพี่ที่ทำหน้าที่เป็นนักเรียนปกครอง

ซึ่งสถาบันนี้จะใช้รุ่นพี่มาเป็นผู้บังคับบัญชา เสมือนการทดลองฝึกให้เป็นผู้นำ และต่อจากนี้ไป

คำที่ผมได้ยินจนคุ้นหู คือคำว่า นักเรียนใหม่ สิทธิเท่ากับศูนย์ ขอย้ำอีกครั้ง นักเรียนใหม่ สิทธิเท่ากับศูนย์

 

โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเน้นการฝึก ทุกคนต้องมีความอดทนอย่างที่สุดจึงจะอยู่ได้ คนที่ทนไม่ไหวก็ลาออกไป แต่ละวันจะวิ่งไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร โดยสวมรองเท้าคอมแบต บางคนวิ่งจนเล็บถอด เท้าพอง ปวดขา สารพัดอาการ ของคนที่เริ่มฝึกใหม่ๆ ต้องแข็งใจวิ่งทุกคน

แต่มีบ้างบางครั้งมีคนอู้ วิ่งไม่พร้อมกัน หรือมีคนวิ่งออกนอกแถว ก็จะมีการทำโทษ

การเรียกแถว ถ้าวิ่งมาเข้าแถวช้าก็ถูกลงโทษให้วิ่งรอบสระเป็น 10 รอบ รอบหนึ่งประมาณ 300 เมตร

ในที่สุดร่างกายของนักเรียนใหม่เริ่มเข้าที่ นอกจากนี้ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ต้องเก็บที่นอนแต่งตัวให้เรียบร้อยและเร็วที่สุด แล้วเรียกแถวไปฝึก ฝึกเสร็จรับประทานอาหาร

ในเวลากินก็ต้องมีระเบียบโดยต้องกินแบบฉาก หัวเข่าต้องชิดกันตลอดเวลา

ถ้ากินอาหารลัดฉาก หรือมีเสียงดังก็ถูกสั่งให้มุดโต๊ะบ้าง ยกเก้าอี้ชูเหนือหัว แล้วกระโดดขึ้นกระโดดลงบ้าง หรือกระโดดสลับเท้า บางครั้งก็ให้นอน คลาน หรือสั่งให้ดันพื้น (วิดพื้น)

รับประทานอาหารเสร็จก็ลงมาวิ่งแล้วถึงเข้าเรียน

ตอนเรียน นักเรียนส่วนมากมักจะหลับ เพราะฝึกมาเหนื่อย ร่างกายเลยล้า อาหารของนักเรียนใหม่ ก็กิน 3 มื้อเหมือนกันทุกชั้น และมีขนมให้ 2 มื้อ คือมื้อกลางวันกับมื้อเย็น

สำหรับนักเรียนใหม่ ห้ามเข้าสโมสรของนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อซื้อขนมหรือของกินโดยเด็ดขาด

แต่มีบางคนแอบกินขนม และแอบฝากภารโรงซื้อ ถ้าจับได้จะถูกตัดคะแนนความประพฤติทันที

สำหรับสโมสรนี้จะบริหารโดยนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 4 ขายขนม เครื่องดื่ม อุปกรณ์ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในโรงเรียน รายได้จากผลกำไร จะนำไปใช้จ่ายภายในรุ่นของชั้นปีที่ 4

แล้วรุ่นไหนขึ้นมาอยู่ชั้นสูงสุด ก็จะคัดเลือกนักเรียนในรุ่นมาเป็นกรรมการสโมสร ทำหน้าที่บริหารต่อไป

กลางคืนเวลานอนต้องกางมุ้งแล้วจัดที่นอนให้เรียบร้อย ถ้าไม่เรียบร้อยก็ถูกปลุกขึ้นมาทำโทษ

เวลานอนไม่แน่นอน บางครั้งได้นอน 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม หรือเที่ยงคืนก็มี เวลาที่ให้ในการกางมุ้งก็น้อยมาก และกำหนดระเบียบไว้ว่า เมื่อนอนแล้วผ่านไป 1 ชั่วโมงและก่อนจะถึงเวลาปลุก 1 ชั่วโมง จึงจะตื่นขึ้นมารีดผ้า ขัดรองเท้า หรือเข้าห้องน้ำเพื่อซักเสื้อผ้าได้

แต่ถ้าไม่ใช่เวลาตามที่กำหนดเอาไว้ หากตรวจพบก็ถูกทำโทษ